Lifestyle

'90%'ค้านราชบัณฑิตแก้คำยืมอังกฤษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ราชบัณฑิตยสถานยืนยันการแก้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เป็นเพียงความคิดเห็นเท่านั้นยังไม่มีการแก้ไข ยกโพลล์ 90% ไม่เห็นด้วย

                วันที่ 3 ตุลาคม 2555 ราชบัณฑิตยสถาน แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ในฐานะราชบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทย ได้เสนอขอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษ โดยแนะให้ใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ หรืออักษรสูง หรือใช้ ห นำในคำที่ไม่สามารถผันวรรณยุกต์ได้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งมีกระแสสังคมต่อต้าน คัดค้านและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

                 น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า เป็นเพียงความคิดเห็นที่ไม่มีถูกมีผิด แต่ยืนยันว่าขณะนี้ราชบัณฑิตฯยังไม่มีการแก้ไขคำยืมภาษาอังกฤษ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ที่กำลังจัดพิมพ์ ภายใต้งบประมาณของรัฐบาลในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา จำนวน 100,000 เล่ม เพื่อแจกให้กับส่วนราชการ สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ภายในปี 2555 และส่วนที่จะพิมพ์ออกจำหน่ายนั้น

                 ขณะนี้ราชบัณฑิตฯได้จัดทำต้นฉบับเสร็จแล้ว โดยนำข้อมูลจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ตามมติของคณะกรรมการชำระพจนานุกรม ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทของศัพท์เฉพาะสาขา เช่น ศัพท์กฎหมายไทย ศัพท์ประวัติศาสตร์ไทย ศัพท์ดนตรีไทย คำราชาศัพท์ ศัพท์พรรณพืชและพรรณสัตว์ และได้บรรจุคำศัพท์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ในการพัฒนาเรื่องดิน น้ำ ป่าไม้ เช่น แกล้งดิน แก้มลิง กังหันน้ำชัยพัฒนา ทฤษฎีใหญ่ เศรษฐกิจพอเพียง โครงการตามพระราชดำริ ทั้งหมดนี้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาแล้วและจะถูกเพิ่มเติมในฉบับ พ.ศ. 2554 ด้วย

                 น.ส.กนกวลี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ราชบัณฑิตฯได้มีการรวบรวมคำศัพท์ใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นเรื่อยๆตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ยังไม่ถูกบรรจุในพจนานุกรมหลายคำ เช่นคำว่า สปา ตัดต่อ ตัวสำรอง เด็ดสะระตี่ ดูดเสียง ตลอดนัดแรงงาน ของสูง ฯลฯ ส่วนการเปลี่ยนคำเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษตามที่มีการเสนอมานั้น ตนยืนยันว่าเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น ยังไม่ได้มีการสรุปว่าให้มีการแก้ไข โดยขณะนี้ได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปที่ภาคีสมาชิก และกรรมการวิชาการของราชบัณฑิตยสถาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเฉพาะภายในองค์กรเป็นเบื้องต้นให้แล้ว คาดว่าจะเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ และจะเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวต่อสภาราชบัณฑิต ในการประชุมครั้งที่ 4/2555 ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2555

                 “จากการติดตามความคิดเห็นที่เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานราชบัณฑิตยสถานที่ดูเปิดให้เสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์มี 90 % ไม่เห็นด้วยและมีข้อเสนอต่างๆ ซึ่งก็จะมีการรวบรวมความคิดเห็นมาประกอบการยืนเสนอต่อสภาราชบัณฑิตพิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้จะรวบรวมความเห็นจากประชาชน ที่แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์และกระทู้ต่างๆมาประกอบการพิจารณาด้วย” น.ส.กนกวลี กล่าว

                 ด้าน ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า หลังจากที่มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภายในองค์กรและเสนอต่อสภาราชบัณฑิตแล้ว ควรจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย เพราะถือว่าประชาชนเป็นผู้ใช้ภาษา จะต้องเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เพราะการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างจะส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะ หน่วยงานราชการที่จำเป็นต้องใช้ภาษาเขียน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอาจจะเกิดความสับสนว่าคำใดเป็นคนที่ถูกต้อง อาจในสังคมไม่เป็นที่ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงก็ต้องยึดเสียงจากผู้ใช้เป็นหลัก

                 รศ.ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก กล่าวว่า การออกเสียงในภาษาไทยไม่สามารถจะบังคับให้ใครออกเสียงได้ตรงกับภาษาเขียนได้ แต่การสื่อความหมายที่จะทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันก็คือภาษาเขียน แต่ในเมื่อจะมีการใช้คำยืมจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยก็ต้องเป็นคำที่สามารถเข้าใจความหมายรวมกันในวงกว้างซึ่งปัจจุบันภาษาไทย มีการยืมคำมาจากภาษาอังกฤษมาอย่างต่อเนื่องและเราใช้จนกลายเป็นภาษาของไทย เช่นคำว่าแก๊ส ,ก๊าซ ซึ่งทุกคนเข้าใจร่วมกันว่าคืออะไร แต่คำยืมกับคำทับศัพท์จะมีความแตกต่างกัน โดยคำยืมที่มีการทับศัพท์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่คำยืมที่ยึดเอามาเป็นภาษาไทย ก็จะมีความหมายในแบบของภาษาไทยที่คนไทยเข้าใจตรงกัน เช่น บิ๊กแบ็ค ในภาษาอังกฤษ คือถุงใบใหญ่ แต่เมื่อมาเป็นศัพท์ในภาษาไทย คือถุงใบใหญ่ที่มีของอยู่ในนั้นด้วย หรือเป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ต่างๆ

                 ด้าน ดร.ชลธิชา สุดมุข นักวรรณศิลป์ชำนาญการ กล่าวว่าที่ผ่านมาราชบัณฑิตยสถานมีการรวบรวมคำศัพท์ใหม่ๆ ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมหรือการรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะมีการรวบรวมเป็นพจนานุกรมศัพท์ใหม่ ซึ่งราชบัณฑิตฯมีการรวบรวมคำศัพท์ใหม่มาแล้ว 3 เล่ม และกำลังเล่มที่ 4 แต่ไม่ได้ส่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศใช้ แต่พจนานุกรมคำศัพท์ใหม่เป็นการรวบรวมประวัติคำ เพื่อไม่ให้ภาษาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นหายไป โดยจะมีทั้งภาษาพูด คำที่เด็กวัยรุ่นใช้ คำยืมจากภาษาอังกฤษ คำแสลง เพราะคำเหล่านี้เมื่อมีการใช้ไปสักพัก ไม่นานก็หายไป การรวบรวมคำใหม่ก็เป็นเหมือนการบันทึกคำจะได้ไม่หายไป

                 “หน้าที่ของเราคือทำพจนานุกรมที่เป็นหนังสืออ้างอิง เราจึงต้องรวบรวมคำเกิดใหม่เหล่านี้ไว้ หากในสังคมมีการใช้กันในวงกว้างอนาคตก็อาจจะถูกบรรจุในพจนานุกรมเล่นใหญ่ ซึ่งต้องผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ และต้องเสนอเข้าไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้อีกครั้ง แต่พจนานุกรมที่มีการรวบรวมส่วนใหญ่จะยังเป็นภาษาพูด เช่นคำว่า เหรดติ้ง เขียนจากการออกเสียง แต่ถ้าเป็นคำทับศัพท์จะไม่มี ห นำ ดังนั้นส่วนใหญ่ที่มีการรวบรวมขณะนี้ ยังเป็นคำที่เขียนจากภาพูด ส่วนภาษาเขียนที่ใช้คำทับศัพท์จะเน้นไปที่งานวิชาการต่างๆเช่นศัพท์ที่ใช้ในเทคโนโลยี งานที่เป็นคำเฉพาะ” ดร.ชลธิชา กล่าว

                 ดร.ชลธิชา กล่าวอีกว่า การเขียนคำยืมตามการออกเสียง ตามที่มีการเสนอให้เปลี่ยน ตนมองว่าค่อยข้างเป็นปัญหามาก เพราะว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการแก้ไขทั้งระบบ ซึ่งคำบางคำที่คนไทยเอามาใช้จนเป็นภาษาของตัวเองแล้ว เช่นคำว่า โหวด เราก็จะใส่ ห นำ เพราะเราออกเสียงแบบนี้ และเมื่อเขียนแล้วเข้าใจตรงกัน แต่ถ้าเป็นคำว่า คาทอลิค ถ้าใส่ ห นำหน้าลิค คนที่เขาใช้คำนี้ก็ไม่เอาด้วย หรือคำว่าอะลูมิเนียมที่มีการออกเสียงกันเมื่อเปลี่ยนใส่ไม้เอกก็ไม่มีใครออกเสียงว่าอะลูมิเนี่ยม ก็ต้องออกเสียงนี้

                 “เรื่องของภาษา เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดการยอมรับของประชาชนผู้ใช้เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ออกเสียงเหมือนกัน เราก็ยินดีที่จะเขียนตามนั้น แต่ตอนนี้คนไทยยังไม่มีใครออกเสียงคำใดเหมือนกันทุกคน หากมีการเปลี่ยนภาษาคำยืมเป็นคำทับศัพท์ทั้งหมด แต่ออกเสียงไม่เหมือนกัน ต่อไปก็จะกลายเป็นปัญหากับคนใช้ในอนาคต ซึ่งราชบัณฑิตฯเองมีมาตรฐานในการกำหนดรูปเขียนอยู่แล้ว หากเป็นคำที่มาจากต่างประเทศ หลักการที่เราเน้นอันดับต้นๆคือ ถ้าภาษาใดที่เราเอามาไม่มีวรรณยุกต์ เราก็จะไม่ใส่วรรณยุกต์ แต่ถ้าภาษาใดมีวรรณยุกต์อย่างภาษาจีน เราก็จำเป็นต้องใส่ เพราะถ้าไม่ใส่ ออกเสียงผิดความหมายก็จะเปลี่ยนทันที ดังนั้นหลักการนี้เป็นหลักการที่ถูกต้องและราชบัณฑิตฯยังถือปฏิบัติ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คำนั้น คนไทยยึดมาใช้จนกลายเป็นคำไทยเราจึงมี ห นำ หรือเขียนตามการออกเสียง แต่เราไม่สามารถเปลี่ยนคำยืมทั้งหมดพร้อมกันได้ เพราะคนไทยยังไม่ได้ยึดคำเหล่านี้ให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน” ดร.ชลธิชา กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ