ข่าว

กองเรือไทยปราบ"สลัดโซมาเลีย"98วันประวัติศาสตร์ ณ อ่าวเอเดน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นับเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่จะต้องบันทึกใน “หน้าประวัติศาสตร์” เมื่อกองทัพเรือไทยจัดส่งกำลังพล 351 นาย ออกไปปฏิบัติภารกิจเพื่อรักษาผลประโยชน์ของมนุษยชาติ และเรือสินค้าไทยที่ต้องแล่นผ่านน่านน้ำอ่าวเอเดนที่เต็มไปด้วย "สลัดโซมาเลีย" จอมปล้นสะดม

 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณ 270 ล้านบาท เพื่อใช้ในภารกิจดับอหังการของสลัดโซมาเลีย ตลอดระยะเวลา 98 วัน ร่วมกับกองเรือนานาชาติที่ส่งกำลังพลเข้าพิทักษ์อ่าวเอเดนด้วยเช่นกัน

 ภารกิจเพื่อมนุษยชาติครั้งนี้มี พล.ร.ต.ไชยยศ สุนทรนาค ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 2 เป็นผู้บังคับหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด โดยจะปฏิบัติการร่วมกับ "กองกำลังผสมทางเรือ" ในการคุ้มกันเรือสินค้าที่แล่นผ่านอ่าวเอเดน

 หมู่เรือปราบโจรสลัดของไทยจะทำงานแบบประสานแผนการปฏิบัติ และแลกเปลี่ยนข่าวสารกับกองบัญชาการกองกำลังผสมทางเรือ ที่ปฏิบัติการอยู่ ณ ราชอาณาจักรบาห์เรน และเมืองซาลาลาห์ ประเทศโอมาน

 โดยแบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) หมู่เรือปราบปรามโจรสลัดกองทัพเรือ และ (2) ศูนย์ประสานการปฏิบัติในพื้นที่ส่วนหน้า

 หมู่เรือปราบปรามโจรสลัดกองทัพเรือ ประกอบด้วย เรือหลวงปัตตานี ที่มี น.อ.สาทิพ จิตนาวา เป็นผู้บังคับการเรือหลวงปัตตานี และ น.อ.พูลลาภ ทัตทองคำ เป็นผู้บังคับการเรือหลวงสิมิลัน

 นอกจากนี้ยังมี "ชุดปฏิบัติการพิเศษ" ของ น.อ.อาภากร อยู่คงแก้ว หัวหน้าชุดหน่วยปฏิบัติการพิเศษหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด และเฮลิคอปเตอร์ (ฮ.) แบบ Bell-212 จำนวน 2 ลำ

 ส่วนภัยคุกคามสำคัญที่ทำให้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) จำต้องร้องขอกองกำลังนานาชาติเพื่อจัดการสลัดโซมาเลีย เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีการปล้นเรือในอ่าวเอเดนและบริเวณใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง

 ทั้งนี้ในปี 2551 มีสถิติการปล้น 120 ครั้ง ปี 2552 เพิ่มเป็น 200 ครั้ง และในปี 2553 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม มีการปล้นไปแล้ว 97 ครั้ง

 ในจำนวนนี้มีเรือสัญชาติไทย 5 ลำ คือ เรือทอร์สตาร์ ส่วนอีก 4 ลำ อยู่ระหว่างการเจรจา ได้แก่ เรือประมงไทยยูเนี่ยน 3 และเรือประมงพรานทะเล 11, 12 และ 14 ของบริษัท พีทีอินเตอร์ฟิชเชอรี่ พร้อมลูกเรือ 77 คน

 กล่าวเฉพาะ "ผลประโยชน์ทางทะเล" ของไทย...แต่ละเดือนจะมีเรือสินค้าไทยเดินเรือผ่านอ่าวเอเดนประมาณ 18 เที่ยว คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท ไม่นับเรือประมงไทยอีกเกือบ 100 ลำ และเรือขนส่งน้ำมันที่นำเข้าจากตะวันออกกลางด้วย

 ปัจจุบันมีประเทศที่ส่งหมู่เรือเข้าร่วมปราบโจรสลัดจำนวน 29 ประเทศ เฉพาะในทวีปเอเชียก็จัดส่งหมู่เรือเข้าร่วมหลายประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย

 พล.ร.ต.ไชยยศ สุนทรนาค ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ ในฐานะผู้บังคับหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด กล่าวย้ำว่า รัฐบาลไทยตัดสินใจถูกต้องแล้ว เพราะพื้นที่อ่าวเอเดนใกล้ชายฝั่งโซมาเลียเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในการเดินเรือของไทยเป็นอย่างมาก และนอกจากจะเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่สำคัญแล้ว ยังถือเป็นการ "ช่วยเหลือประชาคมโลก" อีกทางหนึ่งด้วย

 ขณะที่ "ความชำนาญพื้นที่" ที่อาจเสียเปรียบโจรสลัดก็ถือว่าเป็นสิ่งท้าทายที่ต้องผ่านไปให้ได้ เพราะมีกลุ่มโจรสลัดอยู่มากมายในพื้นที่ ดังนั้นอุปกรณ์สื่อสาร หรืออุปกรณ์ตรวจจับจะต้องมีประสิทธิภาพ และจะต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมร่วมกับอีกหลายชาติ

 พล.ร.ต.ไชยยศ ระบุว่า ช่วงที่โจรสลัดออกหากินเยอะจะมี 2 ช่วง คือ "ช่วงที่สูงสุด" และ "ช่วงที่ต่ำสุด" อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ช่วงที่สูงสุดคือ ช่วงที่สภาพอากาศดีมาก กลุ่มโจรสลัดก็จะออกมาหากินเยอะ เพราะไม่มีคลื่นลม

 ส่วนช่วงที่ต่ำสุด คือ ช่วงที่สภาพอากาศเลวร้ายสุดๆ กลุ่มโจรก็จะฉวยโอกาสออกมาเยอะเช่นกัน

 อย่างไรก็ตาม ในการออกปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ กองทัพเรือก็ได้ศึกษา "ยุทธวิธี" ของโจรสลัดมาทุกรูปแบบ จึงเชื่อว่าตลอดระยะเวลาของภารกิจ 89 วัน ซึ่งจะปฏิบัติงานในพื้นที่จริง 60 วัน จะสามารถคุ้มครองเรือสินค้าและเรือประมงในอ่าวเอเดนได้เป็นอย่างดี

 โดยขณะออกปฏิบัติภารกิจจะมี ฮ.แบบ Bell-212 ติดอาวุธจำนวน 2 ลำ ออกบินลาดตระเวนในพื้นที่ต้องสงสัย

 "เรือโจรสลัดจะสังเกตได้ง่าย แม้จะแฝงมาในคราบเรือประมงธรรมดา โดยจะมีปืนเล็กยาวกับจรวดอาร์พีจี แต่ไม่มีเครื่องมือจับปลา และจะใช้เครื่องยนต์แบบ 2 เครื่อง มีความเร็วสูง ซึ่งปกติเรือประมงธรรมดาจะมีแค่เครื่องยนต์เดียวเท่านั้น"

 นั่นคือ "เคล็ดลับ" ในการสังเกต และแยกแยะ "เรือโจรสลัด" ออกจาก "เรือประมง" ธรรมดา ในกรณีที่ ฮ.บินลาดตระเวนไปเจอ

 ส่วนถ้ามีการแจ้งขอความช่วยเหลือจากเรือที่ประสบเหตุก็จะส่ง ฮ.บินล่วงหน้าไปก่อน โดยใช้เรือหลวงสิมิลัน และเรือหลวงปัตตานีเข้าไปช่วยปิดล้อม พร้อมกับหน่วยคอมมานโดจาก "หน่วยปฏิบัติการสงครามพิเศษทางเรือ" หรือ "หน่วยซีล" เข้าเผด็จศึก

 น.อ.อาภากร อยู่คงแก้ว หัวหน้าชุดหน่วยปฏิบัติการพิเศษหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด กล่าวให้ความมั่นใจว่า ก่อนเดินทางไปปฏิบัติภารกิจได้ศึกษาแล้วว่ากลุ่มโจรสลัดมีวิธีการลงมืออย่างไร และเชื่อว่าจะสามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่กองเรือสินค้าได้เป็นอย่างดี

 สำหรับ "อาวุธประจำกาย" ของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ประกอบด้วย "อาวุธปืนเล็กยาว" และ "อาวุธปืนเล็กซุ่มยิงระยะไกล"

 "จุดมุ่งหมายในการยิง เพียงทำให้กลุ่มโจรหมดความสามารถในการยิงเท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้เสียชีวิต ดังนั้นจะต้องใช้ความแม่นยำสูงมาก เพราะเราไม่อยากให้พลาดไปโดนประชาชนผู้บริสุทธิ์" หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ กล่าวย้ำ

ปัญญา ทิ้วสังวาลย์

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ