ข่าว

กก.สอบ 'บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก' ยันเป็นกลางไม่ช่วยใคร มาเพื่อทำความจริงปรากฎ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'วินัย' ยืนยัน คณะกรรมการสอบ 'บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก' เป็นกลาง ไม่ช่วยใคร มาเพื่อทำความจริงปรากฎ คาดเสร็จภายใน 60 วัน มั่นใจแม้ดูสำนวนคดีไม่ได้ แต่มีวิธีอื่น

21 มี.ค. 2567 หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล  รอง ผบ.ตร. โดยมีกรรมการ 3 คน ประกอบด้วย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็น ประธานกรรมการ 2. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการ 3. พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ กรรมการ และเลขานุการ
 

ล่าสุด  พล.ต.อ.วินัย  1 ในคณะกรรมการ เปิดเผยว่าคณะกรรมการได้พูดคุยกันและเล็งเห็นว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ จึงควรมีการสื่อสารให้ทราบความคืบหน้าการตรวจสอบ  สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องการแถลงข่าวโต้แย้งกันภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย จึงตั้งคณะกรรมการที่มีความเป็นกลางไม่ใช่คู่ขัดแย้งและไม่ได้เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มาตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ คือ จะทำความจริงให้ปรากฏ ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร

 

พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ

 

 

พล.ต.อ.วินัย ยืนยันว่า ใครทำผิดต้องได้รับผิด ใครทำถูกก็ต้องได้รับความบริสุทธิ์ ใครทำกรรมดีก็ต้องได้รับความดี ใครทำชั่วก็ต้องได้รับความชั่ว จะไม่มีการกลั่นแกล้งใส่ร้ายรังแกหรือช่วยเหลือผู้ใด 


ทั้งนี้หากประชาชนท่านใดมีเบาะแสหรือข้อมูลหลักฐาน เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังตรวจสอบขอให้นำข้อมูลข่าวสารมาพบคณะกรรมการทั้ง 3 ได้ ส่วนเป็นการตรวจสอบประเด็นใดบ้างนั้น พล.ต.อ.วินัย กล่าวว่า เรื่องที่มีการแถลงโต้ตอบกัน เรื่องการเรียกรับผลประโยชน์ของเว็บพนัน ซึ่งการทำความจริงให้ปรากฏต้องได้รายละเอียดว่า ใครทำสิ่งใด อย่างไร ตนเชื่อว่าทางคณะกรรมการจะสามารถทำความจริงให้ปรากฏได้ แม้จะไม่ได้ดูสำนวนการสอบสวนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ ยืนยันว่า สามารถทำความจริงให้ปรากฏได้ เรามีวิธีการอื่นที่จะให้ได้มาถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง

 

พล.ต.อ.วินัย กล่าวถึงระยะเวลาในการตรวจสอบ ตามคำสั่งให้ระยะเวลา 60 วัน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และยาว คณะกรรมการจึงต้องพยายามทำงานให้รวดเร็วและรายงานการตรวจสอบให้นายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ พร้อมข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นนำเสนอ และนอกจากนี้ได้ขอให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมแล้ว

 

โดยเบื้องต้นคณะกรรมการจะต้องพยายามทำให้ทันภายใน 60 วัน หากไม่ทันจะต้องขยายระยะเวลา ซึ่งขณะนี้เริ่มทำแล้ว และรวบรวมพยานหลักฐานพอสมควร ซึ่งไม่สามารถตอบได้จะเสร็จก่อนที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เกษียณหรือไม่ แต่วันนี้ข้อมูลต่างๆ เดินทางมาเกือบสุดแล้ว ฉะนั้นการดึงข้อเท็จจริงออกมาคิดว่าไม่น่าจะใช่เรื่องยาก

 

โดยผลการพิจารณานั้น เมื่อตรวจสอบเสร็จจะสรุปและส่งให้นายกรัฐมนตรี มีอำนาจพิจารณาว่าจะส่งให้หน่วยใดเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนการดำเนินคดีอาญา ทางพนักงานสอบสวน และ ป.ป.ช.ก็ดำเนินต่อไป ทำงานควบคู่กันไป หากมีการแจ้งข้อหาต่างๆ เจ้าตัวก็จะรายงานต้องหาคดีอาญา และเป็นกระบวนการของจเรตำรวจแห่งชาติดำเนินการทางวินัย แต่หากคณะกรรมการของตนตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิด ก็จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ คาดว่า น่าจะกลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

เมื่อถามว่า เป็นการซื้อเวลาหรือไม่ พล.ต.อ.วินัย ยืนยัน ไม่ใช่เรื่องซื้อเวลา แต่เนื่องจากประเด็นนี้ยังหาบทสรุปไม่ได้ จึงต้องหาคนกลาง มาทำงานเป็นกลาง ไม่ช่วยใคร ไม่กลั่นแกล้งใคร ขณะนี้ยังไม่พิจารณาการเรียกทั้ง 2 นายพลมาชี้แจงอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานในส่วนอื่นๆ ก่อน แต่อาจจะมีการเรียกมาสอบในช่วงท้ายของการตรวจสอบ 

 

พล.ต.อ.วินัย กล่าวต่อว่า คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นครั้งนี้มีลักษณะการทำงานเหมือนชุดกรรมการพิเศษที่นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ  สอบเรื่องเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือคดีบอส อยู่วิทยา โดยสุดท้ายมีผลการตรวจสอบสามารถนำไปสู่การดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้


เมื่อถามถึงกรณีที่นายพลทั้ง 2 ออกมาแถลงว่าจะมีการปรองดองยุติข้อขัดแย้ง จะมีผลต่อการสอบหรือไม่ พล.ต.อ.วินัยยืนยันว่าไม่มีผลใดๆไม่มีมวยล้มต้มคนดู

 

ส่วนผลการตรวจค้นบ้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ใช้กรรมการชุดเดียวกันนี้ ได้ทำการเสนอนายกรัฐมนตรีไปแล้วว่า การใช้กำลังคน การใช้วิธีควรระมัดระวัง แต่ทั้งนี้การเข้าค้นบ้านของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นไปตามกฎหมาย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ