ข่าว

เปิดโฉม '4 ผู้นำเหล่าทัพ' ป้ายแดง เตรียมปฎิบัติหน้าที่ 1 ต.ค. นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดโฉมหน้า-ประวัติ '4 ผู้นำเหล่าทัพ' ชุดใหม่ 'พล.อ.เจริญชัย-พล.ร.อ.อะดุง-พล.อ.อ.พันธ์ภักดี-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์' เตรียมปฎิบัติหน้าที่ 1 ต.ค. นี้

 

30 ก.ย. 2566 ในวันนี้ถือว่าเป็นวันสุดท้ายการทำงานของข้าราชการ ที่ต้องเกษียณอายุอำลาเครื่องแบบข้าราชการ หลังปฏิบัติหน้าที่ทำคุณงามความดีให้กับประเทศมายาวนาน

 

เมื่อมีผู้เกษียณอำลาชีวิตราชการ แต่ก็มีผู้นำเหล่าทัพใหม่ ขึ้นมาทำหน้าที่ทดแทน ปีนี้ถือเป็นผู้นำป้ายแดง ทั้ง 5 หน่วยงาน เตรียมปฏิบัติหน้าที่ 1 ต.ค. 2566 
 

ผู้นำ 5 เหล่าทัพ เป็นใครบ้าง

 

 

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี  ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

 

 

1. "บิ๊กอ๊อบ" พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี  ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)


พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี บุตรชายของ "บิ๊กตุ๋ย" พล.อ.อิสระพงษ์ หนุนภักดี เข้าเรียนโรงเรียนเตรียม ทหารรุ่นที่ 24 (ตท.24)  แต่เรียนได้ไม่ถึงเดือน จึงไปไปสอบเข้าโรงเรียนทหารบกที่เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา หรือนายร้อย VMI (Virginia Military Institute) ทำให้ไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อย จปร.


เส้นทางการเติบโตของ พล.อ.ทรงวิทย์ เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรม ร.11 รอ. และก่อนเป็น ผบ.พล.1 รอ. คุมกำลังรบกองทัพภาคที่ 1 จากนั้นจึงขึ้นรองแม่ทัพภาคที่ 1 รองเสนาธิการทหารบก หัวหน้าคณะนายทหารฝ่าย เสธ.ประจำ ผบ.ทบ. ก่อนจะย้ายไปกองบัญชาการกองทัพไทย เป็น รอง ผบ.ทสส. ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

 

 

พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก

 

 

2. "บิ๊กต่อ" พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

 

 

 

พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ เข้าโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 23 นักเรียนนายร้อย จปร.รุ่นที่ 34 ซึ่งถือเป็นผู้บัญชาการทหารบกคอแดง คนที่ 3 ที่ต้องทำหน้าที่ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904

 

 

 

เส้นทางเติบโตของ พล.อ.เจริญชัย เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ก่อนจะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ รองแม่ทัพภาคที่ 1, แม่ทัพน้อยที่ 1, แม่ทัพภาคที่ 1, ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และรองผู้บัญชาการทหารบก ก่อนที่จะมารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

 

 

พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ

 

 

3. "บิ๊กดุง" พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)

 

 

 

พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 23 และโรงเรียนนายเรือรุ่นที่ 80 ผ่านการอบรมหลักสูตร หลักสูตรนายทหารชั้นต้น พรรคนาวิน หลักสูตรเสนาธิการทหารเรือ รุ่นที่ 56 หลักสูตรเสนาธิการทหารเรือ ประเทศออสเตรเลีย,หลักสูตรวิทยาลัยการทัพเรือ รุ่นที่ 40 และหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 62

 

 

 

เส้นทางเติบโตของ พล.ร.อ.อะดุง เคยดำรงตำแหน่งสำคัญภายในกองทัพเรือ อาทิ ผู้บังคับการเรือหลวง ปิ่นเกล้า, ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ประจํากรุงแคนเบอร์ร่า ออสเตรเลีย และรักษาราชการแทนผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำกรุงเวลลิงตัน นิวซีแลนด์, นายทหารฝ่ายเสนาธิการ ประจำผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารเรือ, เจ้ากรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ และเป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ในช่วงเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ก่อนที่จะมารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ

 

 

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ

 

4. "บิ๊กไก่" พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) 

 

 

 

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 24 นายเรืออากาศ รุ่นที่ 31 เคยเป็นนักบินขับไล่หลายแบบ อาทิ F-5E/F Tiger shark, F-16A/B Fighting Falcon และJAS-39C Gripen 

 

 

 

นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบิน 7 (Gripen) สุราษฎร์ธานี, ผู้ช่วยทูตไทยประจำกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, รองเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ, เจ้ากรมข่าวทหารอากาศ, เสนาธิการทหารอากาศ และผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านยุทธการ และเคยมีส่วนในการประสานโครงการจัดหาเครื่องขับไล่ F-35 ก่อนมารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ

 

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

 

5. "บิ๊กต่อ" พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

 

 

 

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นน้องชายของ พล.อ.อ.สถิตย์พงศ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง  จบการศึกษาชั้นมัธยม ที่โรงเรียนโยธินบูรณะ และระดับปริญญาตรี ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสิงห์แดง รุ่นที่ 38

 

 

 

หลังเรียนจบ เข้าทำงานเป็นพนักงาน บริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ ทำอยู่ได้ 7 ปี ก็ลาออก เดินหน้าทำตามความฝันตั้งแต่วัยเด็กที่อยากเป็นตำรวจ โดยเข้าฝึกอบรมหลักสูตรผู้มีวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4

 

 

 

เส้นทางเติบโตของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เริ่มชีวิตเป็นตำรวจ ในปี 2540 ในตำแหน่ง รองสารวัตร กองกำกับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 จากนั้น ย้ายมาเป็น รองสารวัตร ที่กองปราบปราม แล้วไปขึ้นเป็นสารวัตร ที่ตำรวจท่องเที่ยว ก่อนจะโยกกลับมาเป็นสารวัตร กองกำกับการปฎิบัติการพิเศษ กองปราบฯ กระทั่งได้ขึ้นเป็น รองผู้กำกับ และผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองปราบฯ ก่อนจะขึ้นเป็น รองผู้บังคับการปราบปราม  

 

 

 

ปี 2561 ขึ้นเป็นผู้บังคับการ กองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ 191, รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ก่อนจะมารับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

logoline