ข่าว

ย้อนทำเนียบ 'ผบ.ตร.' ก่อนตัดริบบิ้น 'ผบ.ตร.คนที่ 14' โผไม่พลิก?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พาย้อนทำเนียบ 6 'ผบ.ตร.' ลุ้นตัดริบบิ้น 'ผบ.ตร.คนที่ 14' วันที่ 27 ก.ย. นี้ โผจะพลิกหรือไม่ ท่ามกลาง วงการสีกากี ยังร้อนแรงไม่แผ่ว

เก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 14 จะเป็นใคร เมื่อ บิ๊กตู่ ทิ้งบอมพ์ไว้ให้ รัฐบาลเศรษฐา เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้ง ในวันที่ 27 ก.ย. แทน “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 จาก 4 รายชื่อ แคนดิเดต เรียงลำดับอาวุโส คมชัดลึก พาย้อนทำเนียบ ผบ.ตร. ที่โดดเด่น มาตั้งแต่ยุค กรมตำรวจ จนมาถึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แคนดิเดตชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 14

ย้อนทำเนียบ ผบ.ตร.

 

 

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก

 

พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก นับเป็นอธิบดีกรมตำรวจคนสุดท้าย และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนแรก ในช่วงที่ปรับเปลี่ยนสถานะของ “กรมตำรวจ” ปัจจุบันอายุ 81 ปี มีชื่อเดิมว่า “ผิวทอง” เป็นนายตำรวจมือปราบมีฉายาว่า “อินทรีอีสาน” เพราะโลดแล่นเป็นตำรวจในหลายจังหวัดทั่วภาคอีสาน อาทิ รองผู้กำกับการตำรวจภูธร จ.นครราชสีมา, ผู้กำกับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี, รองผู้บังคับการตำรวจสันติบาล, ผู้บังคับการตำรวจภูธร 6, ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธร 2 และรองผู้บัญชาการตำรวจภูธร 2

 

 

จนกระทั่งในปี 2532 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ (ทำหน้าที่ชุมชนและมวลชนสัมพันธ์) แล้วจึงขยับมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจในปีเดียวกัน ก่อนจะขึ้นมาทำหน้าที่รองอธิบดีกรมตำรวจและอธิบดีกรมตำรวจ

 

ก่อนโดดลงเล่นการเมือง ปี 2540 ผ่านการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ก่อนจะกลายมาเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา และได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย จากนั้นในรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร เขาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะย้ายมาสังกัดเป็นสมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดิน และถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้าพรรคในเวลาต่อมา จนได้การแต่งตั้งอีกครั้งในรัฐบาลของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก

ต่อมาในปี 2554 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ได้ลาออกจากพรรคของตัวเอง เพื่อมาเข้าร่วมพรรคเพื่อไทย จนได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนจะขยับมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีภายในเวลาไม่นาน

 

 

ในปี 2557 ประชาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 8 แต่กลายเป็นโมฆะ เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญ และถูกสั่งให้พ้นจากสถานะรัฐมนตรี เพราะเอี่ยวคดีการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการแบบไม่มีความชอบธรรม

พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์

พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์

 

พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ปัจจุบันอายุ 79 ปี ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2544 – 30 ก.ย. 2547 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปี 2505 และโรงเรียนนายร้อยตำรวจในปี 2510

 

 

พล.ต.อ. สันต์ ซึ่งเกิดในตระกูลผู้ดีมาตั้งแต่เกิด และมีสมบัติเก่าของตระกูล ทั้งที่ดินในซอยสุขุมวิท 68 กว่า 36 ไร่ ซึ่งปัจจุบันขายออกไปแล้ว 30 ไร่ เหลือเพียง 6 ไร่ และชอบสะสมรถหรู ซึ่งตอนสมัยยังเป็น ผบ.ตร. นั้น พล.ต.อ.สันต์ ขับรถยนต์โรลส์-รอยซ์ สลับกับรถยนต์เบนท์ลีย์ มาทำงานด้วย รวมถึงมีข่าวซุบซิบที่ว่า เมื่อครั้งที่ พล.ต.อ. สันต์ ได้รับตำแหน่ง ผบ.ตร. เคยเปิดไวน์บอร์โดซ์ ที่หมักตั้งแต่ปี 1906 กับ 1921 รวมอายุเป็น 100 ปี เพื่อฉลอง หรืองานเลี้ยงฉลองสายสะพาย ที่มีการสั่งไวน์บอร์โดซ์ ปี 1945 ราคาขวดละ 1 แสนบาท มาฉลองอีกด้วย

พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ

พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ

 

 

พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2547 – 30 ก.ย. 2550 ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปัจจุบันอายุ 76 ปี เรียกได้ว่าตลอดชีวิตรับราชการเป็นตำรวจตระเวนชายแดน เป็นเวลากว่า 27 ปี เคยปฏิบัติราชการรับใช้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

 

 

พล.ต.อ.โกวิท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้รับคำชมเชยจาก พล.ต.อ.เภา สารสิน อธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้น และ กลุ่มบุคคล จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ว่า เป็นผู้นำหน่วยที่มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว กระทั่งขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการ ตชด. ในปี 2537 ต่อมาขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. รับผิดชอบงานบริหาร ก่อนจะดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2543 ได้คุมพื้นที่ชายแดนภาคใต้ กระทั่งปี 2547 ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในที่สุด

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว

 

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2555 – 24 พ.ค. 2557 ปัจจุบันอายุ 69 ปี ผ่านงานปราบปรามมาอย่างโชกโชน แต่ตำแหน่งที่ทำให้เขามีชื่อเสียง คือผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า เนื่องจากดูแลความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยได้รับรางวัล ปี 2526 รางวัลตำรวจดีเด่น และ ปี 2527 คนไทยตัวอย่าง ของมูลนิธิธารน้ำใจ เพื่อนร่วมรุ่น

 

 

ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 พล.ต.อ.อดุลย์ เป็นหนึ่งในผู้ทำการรัฐประหาร ในนาม คสช. ในฐานะรองหัวหน้า คสช. แต่หลังจากนั้น 2 วัน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ. อดุลย์ พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา

 

 

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา หรือ บิ๊กแป๊ะ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2558 – 30 ก.ย. 2563 ปัจจุบันอายุ 63 ปี “บิ๊กแป๊ะ” ได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจมือปราบอีกคนหนึ่ง มีผลงานสำคัญๆ เช่น เป็นผู้เจรจาให้ปล่อยตัวประกัน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำสมุทรสาคร กับกลุ่มนักโทษแหกคุกชาวพม่า ในปลายปี 2543 ร่วมกับ พล.ต.ต.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (ผู้ช่วย ผบช.ภาค 7-ตำแหน่งและยศในขณะนั้น) เป็นต้น

 

 

“บิ๊กแป๊ะ” นับเป็นตำรวจที่ได้รับฉายามากมาย โดยหลังจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในปี 2551 อีก 6 วันต่อมา คือในวันที่ 7 ต.ค.ได้เกิดเหตุการการสลายการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาขึ้น โดยเป็นการสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งในเหตุการครั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้แสดงความมีมนุษยธรรม โดยการถอดเสื้อของตนเอง เข้าพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรฯด้วย จนได้รับฉายาว่า “สุภาพบุรุษแก๊สน้ำตา”

 

 

และด้วยเป็นคนรูปร่างเล็ก ส่วนสูงเพียง 165 ซม. แต่ทว่าเมื่อแต่งเครื่องแบบแล้ว จะพกพาอาวุธปืนขนาดต่างๆ พร้อมอุปกรณ์ ติดตัวไว้เสมอ ซึ่งรวมกันทั้งหมดมีน้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม จนได้รับฉายาจากบุคคลใกล้ชิดว่า “แป๊ะ 8 กิโล”  และได้รับฉายาจากสื่อมวลชนเมื่อปลายปี 2553 ว่า “น.1 อีซี่พาส” เนื่องจากติดยศ พล.ต.ท. อย่างรวดเร็ว ในครั้งนั้น จึงคาดหมายว่าในอนาคต อาจจะได้รับตำแหน่ง ผบ.ตร. และก็เป็นดังนั้น

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

 

 

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ หรือ บิ๊กเด่น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจัน และจะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย. 2566 นี้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเฟ้นหา ผบ.ตร. คนที่ 14 ที่จะมารับไม้ต่อจากบิ๊กเด่น

 

บิ๊กเด่น เป็นชาว จ.แพร่ เริ่มต้นรับราชการในตำแหน่ง รองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สน.พลับพลาไชย 2 เมื่อปี 2528 จากนั้น ขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2563 พร้อมกับรับพระราชทานยศ พล.ต.อ. กระทั่งวันที่ 29 ส.ค. 2565 ในการประชุม ก.ต.ช. ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเลือก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 13 สืบต่อจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ที่เกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย. 2565

 

 

ต่อมาในวันที่ 7 ก.ย. 2565 จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

 

อย่างไรก็ตาม เก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 14 ที่จะรับไม้ต่อจากบิ๊กเด่น มี 4 นายตำรวจ ที่เป็นแคนดิเดต ซึ่งจะถูกเลือกโดย “เศรษฐา” นายกรัฐมนตรี ซึ่งหากเรียงลำดับอาวุโส ประกอบด้วย “รองรอย” พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.,“รองต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. “รองต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. และ  “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ใครจะเป็น ผบ.ตร. คนที่ 14 โผจะพลิกหรือไม่ วันที่ 27 ก.ย. 2566 รู้กัน 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ