ข่าว

ประกาศตั้ง 7 อรหันต์ ‘คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้ง คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ 7 คน 'พลตำรวจโท สรศักดิ์ เย็นเปรม' นั่งประธาน

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) จำนวน 7 ราย โดยมีเนื้อหารายละเอียดระบุว่า

 

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ประกอบด้วยบุคคล ดังต่อไปนี้

 

  1. พลตำรวจเอก ปัญญา มาเม่น เป็น กรรมการ 
  2. นางสมศรี หาญอนันทสุข เป็น กรรมการ
  3. พลตำรวจโท สรศักดิ์ เย็นเปรม เป็น กรรมการ
  4. นางสาวสุกลภัทร ใจจรูญ เป็น กรรมการ
  5. นายสุนทร พยัคฆ์ เป็น กรรมการ
  6. นางอริยา แก้วสามดวง เป็น กรรมการ
  7. พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน เป็น กรรมการ

 

สั่ง ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2566 ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ประวัติคร่าวๆ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ 2566

 

พลตำรวจเอก ปัญญา มาเม่น

  • อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ  เคยเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศ (ตำรวจ) 

พลตำรวจเอก ปัญญา มาเม่น

 

นางสมศรี หาญอนันทสุข

  • ทำงานด้านประชาธิปไตย ด้านการส่งเสริมการเลือกตั้ง และเป็นผู้อำนวยการบริหาร ที่ Asian Network for Free Elections ( Anfrel Foundation)

นางสมศรี หาญอนันทสุข

 

พลตำรวจโท สรศักดิ์ เย็นเปรม

  • อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 8 อดีตรองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด

พลตำรวจโท สรศักดิ์ เย็นเปรม

นางสาวสุกลภัทร ใจจรูญ

  • ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ด้านสังคม และผู้แทนสภาองค์กรชุมชนในระดับชาติ

 

นายสุนทร พยัคฆ์

  • เลขาธิการสภาทนายความ / กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และโฆษกสภาทนายความ

นายสุนทร พยัคฆ์

 

นางอริยา แก้วสามดวง

  • ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชน ด้านสิ่งแวดล้อม เครือข่ายชุมชนรับมือภัยพิบัติ จ.ตรัง

 

พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน

  • โฆษกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน

 

แต่งตั้งพล.ต.ท.สรศักดิ์ เย็นเปรม เป็นประธาน ก.ร.ตร.

 

และในวันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 144/2566 เรื่อง แต่งตั้งพลตำรวจโท สรศักดิ์ เย็นเปรม กรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เป็น ประธานกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ สั่ง
ณ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2566 

 

คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ หรือ ก.ร.ตร. คืออะไร

 

คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ หรือเรียกโดยย่อว่า “ก.ร.ตร.”เป็นคณะกรรมการ  ที่จัดตั้งขึ้นตาม มาตรา 43 แห่ง พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มีหน้าที่และอำนาจพิจารณา เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ

 

เรียกได้ว่าเป็นคณะกรรมการอีกชุดที่เกิดขึ้นมาใหม่ตาม พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 โดยได้ยกเลิก พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ  พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 , 3 และ 4 รวมถึงการยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานตำรวจ โดยมีความคาดหวังว่าคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ จะเป็นคณะกรรมการกลางที่มาทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจ รับเรื่องร้องเรียนของประชาชนอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ 

 

เป็นการพัฒนาและยกระดับการบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งก็เป็นไปตามที่ พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กำหนดวิสัยทัศน์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 คือ “เป็นตำรวจมืออาชีพ ทำงานเชิงรุก เพื่อความสงบสุขของประชาชน” 

 

และมอบนโยบายการบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย 10 นโยบาย เรื่องสำคัญประการแรก คือ “การพิทักษ์ เทิดทูน และเทิดพระเกียรติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” และยังให้ความสำคัญในเรื่องการเปิดโอกาสให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งอยู่ในนโยบาย ข้อที่ 5 “เพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างตำรวจกับประชาชนโดยเปิดช่องทางรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากประชาชน”

 

ซึ่ง พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวว่า “ความทุกข์ร้อนของประชาชน เป็นหน้าที่ของตำรวจต้องเข้าไปแก้ไขอย่างรวดเร็วและทันท่วงที” การกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ จึงถือเป็นการยกระดับการปฏิบัติงาน สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเป็นการให้ความสำคัญกับผู้รับบริการ ซึ่งก็คือประชาชนทุก ๆ คน

 

หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.)

 

พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดในเรื่องกรณีผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ รวมถึงอำนาจในการดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ไว้ดังนี้

 

มาตรา 50 ผู้ใดไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือพบเห็นข้าราชการตำรวจประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ ให้มีสิทธิร้องเรียนต่อ ก.ร.ตร. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ร.ตร. กำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้าง ขั้นตอนโดยไม่จำเป็นและไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร มาตรา 51

 

เมื่อความปรากฏต่อ ก.ร.ตร. ไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะมีผู้ร้องเรียนหรือไม่ว่าข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบ หรือมีความประพฤติหรือปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ 

 

ให้ ก.ร.ตร. มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริง โดย ก.ร.ตร. จะดำเนินการไต่สวนเองหรือมอบหมายให้ข้าราชการตำรวจในสำนักงานจเรตำรวจดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อรายงานต่อ ก.ร.ตร. ตามประเด็น ที่ ก.ร.ตร. กำหนด หรือในกรณีที่เห็นว่ามิใช่เรื่องที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยตรง จะส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยแล้วรายงานผลให้ ก.ร.ตร. ทราบก็ได้ 

 

ในกรณีที่ ก.ร.ตร. พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีไม่มีมูลให้สั่งยุติเรื่อง แต่ถ้า ก.ร.ตร. วินิจฉัยว่ากรณีเป็นการกระทำผิดวินัย ให้ ก.ร.ตร. ส่งสำนวนการพิจารณาและคำวินิจฉัยพร้อมพยานหลักฐานให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจเพื่อพิจารณาโทษโดยเร็วต่อไป โดยผู้บังคับบัญชาไม่ต้องดำเนินการสืบสวนหรือสอบสวนอีก

 

เว้นแต่ผู้บังคับบัญชามีพยานหลักฐานใหม่ที่แสดงได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้มีการกระทำความผิดตามที่กล่าวหาหรือกระทำความผิดในฐานความผิดที่แตกต่างจากที่ถูกกล่าวหา จะขอให้ก.ร.ตร. พิจารณาทบทวนก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือพร้อมทั้งส่งพยานหลักฐานให้ ก.ร.ตร. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวนจาก ก.ร.ตร. 

 

แต่หากกรณีใดมีลักษณะเป็นการทุจริต ให้ ก.ร.ตร. ส่งสำนวนพร้อมพยานหลักฐานให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ แล้วแต่กรณีโดยในกรณีที่ ก.ร.ตร. มีคำวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย ก.ร.ตร. จะสั่งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ก็ได้ 

 

และในกรณีที่เห็นว่าเป็นการสมควรเพื่อระงับความเดือดร้อนของประชาชนหรือป้องกันความเสียหายต่อราชการ จะให้ผู้บังคับบัญชาสั่งพักราชการผู้นั้นไว้ก่อนก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่และอำนาจสั่งพักราชการไว้จนกว่าการดำเนินการทางวินัยจะแล้วเสร็จ โดยให้ถือว่าการสั่งพักราชการดังกล่าวเป็นการสั่งพักราชการตามมาตรา 131แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 การไต่สวนและการพิจารณาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ร.ตร. กำหนด

 

ซึ่งอย่างน้อยต้องมีมาตรการในการรักษาความลับเกี่ยวกับผู้ร้องเรียนหรือกล่าวโทษ มาตรการในการดำเนินการให้เกิดความรวดเร็ว และการรับฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาด้วย

 

ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ในกรณีที่ ก.ร.ตร. พิจารณาแล้วเห็นว่าแม้กรณีจะไม่มีมูลเพราะเป็นการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติของ ก.ตร. แต่ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติ ก.ตร. นั้น ไม่เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ให้ ก.ร.ตร. เสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี ก.ตร. หรือหน่วยงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติ ก.ตร. นั้นใหม่ได้

 

อำนาจของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.)

 

มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 กำหนดอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริง ให้ ก.ร.ตร. มีอำนาจ ดังต่อไปนี้ 

  1. เรียกผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน เจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นใด มาชี้แจงหรือแสดงความเห็นหรือส่งเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณา โดยให้นำความในมาตรา 128 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
  2. แจ้งผู้บังคับบัญชาของข้าราชการตำรวจที่ถูกร้องเรียนเพื่อพิจารณาสั่งให้ข้าราชการตำรวจ ผู้นั้นไปปฏิบัติหน้าที่อื่นเป็นการชั่วคราวระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง

 

ให้ข้าราชการตำรวจที่ ก.ร.ตร. มอบหมายตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง มีอำนาจตาม (1) ด้วย แต่กรณีตาม (2) ให้เสนอ ก.ร.ตร. เพื่อพิจารณา ในการดำเนินการตาม (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ร้องเรียนและพยาน ผู้เรียกต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร้องเรียนและพยาน และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือภาระเกินสมควร

 

เพื่อการนี้ ก.ร.ตร. จะกำหนดให้มีมาตรการในการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและพยานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ร.ตร. กำหนด หรือ ในกรณีที่เห็นสมควรจะมอบหมายให้สำนักงานคุ้มครองพยาน กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการเพื่อคุ้มครองพยานให้ก็ได้ และเพื่อการนี้ ให้ถือว่าผู้ร้องเรียนและพยานตามพระราชบัญญัตินี้เป็นพยานตามกฎหมายว่าด้วย 

 

การคุ้มครองพยานในคดีอาญาให้ ก.ร.ตร. กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยอัตราและวิธีการจ่ายค่าเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทนพยาน กรณีที่จำเป็นต้องให้พยานมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อหน้า ก.ร.ตร. หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ใช้ได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 

ที่มาข้อมูล

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ