ข่าว

"ยงยุทธ" โล่ง ศาลให้ประกัน 9 แสน สู้ฎีกาอัลไพน์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ให้ประกัน "ยงยุทธ" อดีตปลัด มท. หลังเจออุทธรณ์ยืนโทษคุก 2 ปี แต่ห้ามออกนอกประเทศ

 

          28 ก.พ.62 - ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ภายหลังอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย วัย 77 ปี ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบและโดยทุจริตฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แล้ว

 

          ต่อมา นายยงยุทธ จำเลย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 900,000 บาทขอปล่อยชั่วคราวระหว่างยื่นฎีกาต่อสู้คดี

 

          กระทั่งเวลา 13.00 น. ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง พิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์แล้ว ก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นายยงยุทธ จำเลย ระหว่างฎีกาโดยตีราคาประกัน 900,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
    

"ยงยุทธ" โล่ง ศาลให้ประกัน 9 แสน สู้ฎีกาอัลไพน์

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายศาลให้ประกันตัวแล้ว จากนั้น นายยงยุทธได้ขึ้นรถโฟล์คตู้ สวาเก้น สีขาว ทะเบียน ฮภ 9 กรุงเทพมหานคร เดินทางกลับไปทันที

 

          อย่างไรก็ดีสำหรับขั้นตอนการยื่นฎีกา คดีที่ยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนั้น นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้อธิบายข้อกฎหมายว่า ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 42 บัญญัติว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุด หากคู่ความประสงค์ จะฎีกาต้องปฏิบัติตามมาตรา 44 ที่กำหนดให้การฎีกานั้น ผู้ฎีกาต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณา พร้อมกับคำฟ้องฎีกาด้วย ซึ่งเหตุที่ศาลฎีกาจะพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้นั้น ระบุไว้ในมาตรา 46 คือ ต้องเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ซึ่งรวมถึงปัญหาดังต่อไปนี้ 

 

"ยงยุทธ" โล่ง ศาลให้ประกัน 9 แสน สู้ฎีกาอัลไพน์

 

          (1) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ

 

          (2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา

 

          (3) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน

 

          (4) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น

 

          (5) เมื่อจำเลยต้องคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

 

          (6) เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วอาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

 

          (7) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

 

          โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอธิบายด้วยว่า ภายหลังที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว การยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกาก็เป็นสิทธิที่จำเลยพึงกระทำได้ ซึ่งทางปฏิบัติหากมีการยื่นขอปล่อยชั่วคราวมา องค์คณะก็จะเป็นผู้พิจารณาคำร้องดังกล่าวว่าเห็นควรส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้สินิจฉัย หรือพิจารณามีคำสั่งได้เลย.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ