ข่าว

ร้อง สตช. คลี่ปม นักลงทุน - นักการเมืองดัง ฮุบพันล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครอบครัวนักธุรกิจชาวอังกฤษ วอนกระบวนการยุติธรรมไทยให้ความเป็นธรรม ร้องขอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศปอส.ตร. คลี่ปมจัดฉากอุบัติเหตุโยงฉ้อฉลฮุบโครงการหรูบนเกาะภูเก็ต

 

               นายวินเซนท์ แมคโอเว่น ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้รับมอบจาก นางซาแมนต้า ซิมส์มอนส์ มารดา นายสตีเว่น เจมส์ แกรนด์วิลล์ อดีตทนายความและนักธุรกิจ สัญชาติ อังกฤษ ร้องขอความเป็นธรรม ขอให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) โดย พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวจสอบคดี ให้ความเป็นธรรมและอำนวยความยุติธรรมให้แก่ นายสตีเว่น เจมส์ แกรนด์วิลล์ ผู้ล่วงลับ ที่ถูกฉ้อฉลทางธุรกิจ และได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่คล้ายถูกสร้างให้เป็นอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ได้รับทุกข์ทรมานกายใจจนเสียชีวิตที่บ้านเกิดในประเทศอังกฤษ พร้อมกับธุรกิจทรัพย์สมบัติในเกาะภูเก็ตนับพันล้านที่ก่อร่างสร้างมากับมือ ถูกนักลงทุนไทยซึ่งมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองดังในประเทศไทยฮุบเอาไป ทำให้ต้องมีสถานะเป็นลูกหนี้

 

 

 

               นายวินเซนท์ เปิดเผยว่า ปี พ.ศ. 2543 นายสตีเว่น เจมส์ แกรนด์วิลล์ นักกฎหมายชาวอังกฤษ วัย 32 ปี เป็นชาวต่างชาติคนหนึ่งที่รักและหลงใหลประเทศไทย นำเงินสะสมกว่า 800 ล้านบาท ลงทุนซื้อที่ดิน 113 ไร่ ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในหาดในหาน เกาะภูเก็ต จ.ภูเก็ต

               “ธุรกิจของเขาเริ่มขึ้นในปี 2545 ระหว่างนั้นประสบปัญหาด้านการเงิน การลงทุน จากนั้นในปี 2553 ถูกกลั่นแกล้งจากชายชาวอินเดียที่แอบอ้างกว้างขวางในวงสังคมและวงธุรกิจ ให้ต้องรับโทษทางอาญาฐานฉ้อโกงประชาชน ทว่าศาลคงความยุติธรรมพิพากษายกฟ้องหลังนายสตีเว่นถูกคุมขังในเรือนจำนานถึง 475 วัน จากนั้นนายสตีเว่นดำเนินการฟ้องร้องกลับแก่บุคคลที่ใส่ความให้ต้องโทษ ในชั้นต้นศาลพิพากษาจำคุกจำเลยคู่กรณี 2 ปี ก่อนยกฟ้องในชั้นอุทธรณ์ นายสตีเว่นออกมาดำเนินธุรกิจต่อ พยายามกู้สถานการณ์”

               ตัวแทนของนายสตีเว่น กล่าวว่า ในปี 2554 นั้นเอง นายสตีเว่นได้รู้จักกับนักธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตระกูลดังซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตรัฐมนตรี โดยแนะนำให้นายสตีเว่นรู้จักกับเลขานุการของรัฐมนตรีคนดังกล่าว และยื่นข้อเสนอทางธุรกิจให้นายสตีเว่นโอนหุ้น 99 เปอร์เซ็นต์ของรีสอร์ทให้ โดยอ้างว่านายสตีเว่นมีปัญหาประวัติต้องคดีไม่สามารถทำธุรกิจได้คล่องตัว จำเป็นต้องมีตัวแทน หรือ นอมินี โดยมีการเขียนลงนามสัญญาว่า นายสตีเว่นยังคงได้รับประโยชน์ แต่หากภายใน 6 เดือน ไม่สามารถพัฒนาธุรกิจได้ตามสัญญา ต้องโอนหุ้นคืนให้นายสตีเว่น การโอนหุ้นและการเขียนสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นในปลายปี 2555

 

 

 

               “หลังการทำสัญญาได้เพียง 3 เดือน ในวันที่ 24 มีนาคม 2556 มีผู้พบนายสตีเว่นได้รับบาดเจ็บสาหัสอยู่ข้างรถจักรยายนต์แบบบิ๊กไบค์ของตัวเอง ริมถนนในพื้นที่ สภ.กะรน จ.ภูเก็ต ศีรษะของนายสตีเว่นถูกกระแทกอย่างรุนแรง ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมองอย่างหนัก ขณะที่ตามร่างกายไร้รอยขีดข่วน แพทย์แสดงความเห็นอย่างประหลาดใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ถูกทำเหมือนเป็นอุบัติเหตุ ตำรวจท้องที่สรุปคดีเป็นอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ล้มคว่ำ ท่ามกลางความกังขาของครอบครัว และสวนทางกับการตรวจของแพทย์ หลังจากนั้นนายสตีเว่นกลับไปรักษาตัวที่อังกฤษนานมากกว่า 4 ปี ในสภาพสมองได้รับความเสียหาย 25 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก่อนจบชีวิตลงอย่างทรมานกายและใจในวันที่ 10 ธันวาคม 2560” ตัวแทนนายสตีเว่น กล่าว

               นายวินเซนท์ เผยว่า ระหว่างนั้นกลุ่มที่ได้รับการโอนหุ้นไป ก็ไม่ได้เข้าไปพัฒนาโครงการรีสอร์ทแต่อย่างใด นำไปสู่การฟ้องร้องของผู้ซื้อโครงการ มีการบังคับคดี โดยกลุ่มคนที่รับโอนหุ้นไม่ได้ต่อสู้คดี ศาลบังคับคดีทรัพย์สินขายทอดตลาดชำระหนี้ แต่ความทุพพลภาพของนายสตีเว่นทำให้ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ นายสตีเว่นเสียหายนับพันล้านหมดตัว ครอบครัวได้รับทุกข์ทรมานจากการที่นักธุรกิจชาวอังกฤษเข้าลงทุนในประเทศไทย

 

 

 

               ตัวแทนของนายสตีเว่น เผยด้วยว่า จากกรณีนี้ได้เป็นโจทก์ฟ้องกลุ่มที่ได้รับการโอนหุ้นไปฐานฉ้อโกง แต่ศาลยกฟ้อง ขณะเดียวกันฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย 3 พันล้าน คดีอยู่ในกระบวนการพิจารณา

               “ขอเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรมไทยให้ความเป็นธรรมกับนายสตีเว่นและครอบครัว ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ศปอส.ตร. เร่งรัดตรวจสอบว่าเหตุการณ์ที่ดูคล้ายอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับนายสตีเว่นในปี 2556 เป็นการจัดฉากหวังทำร้ายให้บาดเจ็บ เพื่อหวังผลทางธุรกิจหรือไม่ เรื่องนี้เคยร้องต่อกองบังคับการปราบปราม ตั้งแต่นายสตีเว่นมีชีวิตอยู่ในปี 2559 แต่ยังไม่มีความคืบหน้า โดยขอให้สืบสวนพฤติการณ์ของผู้เกี่ยวข้องกับการโอนหุ้นว่ามีความฉ้อฉลใด ซึ่งเกี่ยวพันมีความผิดทางอาญาที่นำไปสู่การเสียชีวิตและสูญสิ้นทางธุรกิจของนายสตีเว่นหรือไม่ คล้ายกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างชื่อดังหรือไม่ โดยตั้งข้อสงสัยไปยังกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวพันกันด้วย” ตัวแทนนักธุรกิจชาวอังกฤษ กล่าว

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ