ข่าว

"เมาแล้วขับ" อันดับหนึ่งคดี 7 วันอันตราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โฆษกศาลยุติธรรม เผยสถิติคดี พ.ร.บ.จราจรทางบก ทั่วประเทศ 7 วันอันตราย ปีที่ผ่านมา กว่า 15,000 คดี "เมาแล้วขับ" อันดับหนึ่ง หวัง 7 วันอันตราย ปีนี้ คดีลด

 

               21 ธ.ค. 61  ขณะที่เวลานี้ใกล้ถึงช่วงวันหยุดยาวเทศกาลส่งท้ายปีเก่า 2561 ต้อนรับปีใหม่ 2562  นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมของศาลยุติธรรม ซึ่งสถิติคดีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ช่วง 7 วันอันตราย เมื่อช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 28 ธ.ค. 60 -  3 ม.ค. 61 พบว่า มีคดีที่ฟ้องร้องขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งสิ้น 15,587 คดี

 

 

 

               โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ช่วง 7 วันอันตราย ของปีนี้ คือระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 61 - 2 ม.ค. 62 สำนักงานศาลยุติธรรมจะเก็บสถิติคดี และรายงานให้พี่น้องประชาชนทราบ เพื่อให้ข้อมูลมีส่วนสร้างการตระหนักรู้แก่ทุกฝ่าย นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการกระทำผิดกฎหมายในช่วงเวลาดังกล่าวต่อไป และในช่วงวันหยุดราชการปีใหม่ 2562 นี้ ศาลยุติธรรมชั้นต้นทั่วประเทศ จะเปิดทำการในวันหยุดราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญา เพื่อการผัดฟ้อง ฝากขัง เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจจะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง และกรณีที่ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานอัยการจะต้องนำตัวมาส่งฟ้องต่อศาลให้ทันภายในกำหนด 48 ชั่วโมงด้วย โดยสามารถตรวจสอบวันเปิดทำการในวันหยุดราชการของศาลชั้นต้นทั่วประเทศได้ที่ประกาศหน้าศาลและในเว็บไซต์ของแต่ละศาล

               โดยในช่วงวันหยุด หากมีกรณีต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคล (อุปกรณ์ EM) สำหรับการปล่อยชั่วคราวหรือคุมประพฤติ ศูนย์ควบคุมติดตามการปล่อยชั่วคราวและการบังคับตามคำสั่งศาลโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ศูนย์ EM) ของสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน เป็นปกติอยู่แล้ว จึงสามารถอำนวยความสะดวกได้ตลอดเวลา

 

 

 

               แม้ศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมจะมีความพร้อมในการอำนวยความเป็นธรรมทางด้านคดีในช่วงปีใหม่ที่จะถึงนี้เพียงใด แต่ก็ยังหวังว่าสถิติคดีจะลดลง เพราะนั้นหมายถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนที่มีมากขึ้น และยังสะท้อนให้เห็นถึงการเคารพกฎหมายและการคำนึงถึงความปลอดภัยสาธารณะของประชาชนในภาพรวมอีก

               ทั้งนี้ สำหรับสถิติคดีช่วง 7 วันอันตรายในปีที่ผ่านมา โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า จังหวัดที่มีปริมาณคดีที่ฟ้องขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 ลำดับ ได้แก่ จ.อุดรธานี 1,284 ข้อหา , จ.ชลบุรี 904 ข้อหา , จ.ร้อยเอ็ด 688 ข้อหา , จ.เชียงใหม่ 681 ข้อหา และกรุงเทพฯ 656 ข้อหา

               ขณะที่ศาลชั้นต้นที่มีปริมาณการฟ้องคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 ลําดับ ได้แก่ ศาลแขวงเชียงใหม่ 561 ข้อหา , ศาลแขวงอุดรธานี 530 ข้อหา , ศาลแขวงชลบุรี 487 ข้อหา , ศาลแขวงพัทยา 375 ข้อหา และศาลแขวงสมุทรปราการ 338 ข้อหา

               ส่วนข้อหาที่พบว่ามีการกระทําความผิดสูงสุด ดังนี้ 1. ขับรถขณะเมาสุรา ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ แต่หากเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จะมีระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาท และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

 

 

 

               ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 2 ปี - 6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 -  120,000 บาท และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ , แต่ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3 ปี - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 - 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

               2. ขับรถขณะเสพสารเสพติดเข้าไปในร่างกาย ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด อีก 1 ใน 3 กล่าวคือ หากเสพยาเสพติดให้โทษในประเภทหนึ่ง เช่น ยาบ้า แล้วขับรถ จะต้องเพิ่มโทษ 1 ใน 3 จากระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน -  3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 - 60,000 บาท , หากเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เช่น กัญชา แล้วไปขับรถ จะต้องเพิ่มโทษ 1 ใน 3 จากระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท , หากเป็นพืชกระท่อมจะต้องเพิ่มโทษ 1 ใน 3 จากระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ , แต่หากเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จะมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี - 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาท และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ , ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี - 6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 - 120,000 บาท และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ , แต่ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 -  200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

               3. ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

 

"เมาแล้วขับ" อันดับหนึ่งคดี 7 วันอันตราย

 

 

 

"เมาแล้วขับ" อันดับหนึ่งคดี 7 วันอันตราย

 

 

 

"เมาแล้วขับ" อันดับหนึ่งคดี 7 วันอันตราย

 

 

 

"เมาแล้วขับ" อันดับหนึ่งคดี 7 วันอันตราย

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ