ข่าว

อย่าอ้างญาติไม่ติดใจ..ปิดคดีวิสามัญฆาตกรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อังคณา"ทวงถามความชัดเจนคดีวิสามัญเยาวชนอาข่า จี้คุ้มครองพยาน-เปิดภาพวงจรปิดหลักฐานชิ้นสำคัญอย่าปิดคดีโดยอ้างเพียงญาติไม่ติดใจ

 

14 กรกฏาคม  2561 ที่สำนักงานกลางคริสเตียน เครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส  และ อะเบ แซ่หมู่ พร้อมภาคีเครือข่าย 10 องค์กร ได้จัดเสวนาวิชาการและนิทรรศการศิลปะ เรื่องวิสามัญฆาตกรรมและปริศนาความยุติธรรมทางอาญาที่ยังไม่เกิด : คดีชัยภูมิ ป่าแส และอะเบ แซ่หมู่


 

นางอังคณา  นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์วิสามัญฆาตกรรมในประเทศไทย ว่า การวิสามัญ คือการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ กฎหมายให้เจ้าหน้าที่สามารถป้องกันตัวเองได้ในกรณีที่อยู่ในอันตราย แต่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนในการใช้อาวุธด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ต้องพิจารณา ไม่ใช่ว่าผู้เสียชีวิตมีมีดมีไม้ แต่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสงคราม ก็ทำให้เกิดการเสียชีวิต

 

ดังนั้นจึงควรมีการไต่สวนการตายทุกกรณี ซึ่งจะทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล. แต่ที่ผ่านมาการวิสามัญไม่ได้มีการไต่สวนการตายทุกกรณี เพราะเจ้าหน้าที่จะให้เหตุผลว่าญาติไม่ติดใจสงสัยเช่น กรณีการเสียชีวิตที่ตากใบ สุดท้ายการไต่สวนการตาย ชี้ว่าตายเพราะขาดอากาศหายใจ แต่ญาติไม่อยากมีเรื่องเพราะต้องฟ้องตำรวจทหาร หรือ กรณีของ "โจ ด่านช้าง" ซึ่งในช่วงแรกญาติให้สภาทนายความโจทก์ฟ้องคดี แต่ในที่สุดญาติก็ถอนฟ้องโดยไม่แจ้งต่อสภาทนายด้วยซ้ำ

 

อย่าอ้างญาติไม่ติดใจ..ปิดคดีวิสามัญฆาตกรรม


นางอังคณา กล่าวว่า คดีวิสามัญฆาตกรรมในสังคมไทยที่โด่งดังและเป็นที่สนใจของสาธารณะ เช่น การประกาศนโยบายสงครามกับยาเสพติดในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร โดยจากรายงานของคณะกรรมการอิสระได้รวบรวมจำนวนคดีฆาตกรรมผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดว่ามีทั้งสิ้น 1,187 คดี มีผู้เสียชีวิต 1,370 คน ไม่รวมถึงคดีวิสามัญฆาตกรรมอีก 35 คดี มีผู้เสียชีวิต 41 คน รวมถึงคดีวิสามัญฆาตกรรมต่อผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้  โดยความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนในทางอาญาในบางคดีนั้นกลับมีการร้องเรียนว่ามีความล่าช้า และไม่สามารถนำตัวผู้ต้องสงสัยมาสู่ชั้นพิจารณาคดีได้


นางอังคณา กล่าวว่า หนึ่งในคดีวิสามัญฆาตกรรมที่สังคมให้ความสนใจและมีข้อกังขาถึงข้อเท็จจริงในคดี คือ กรณีนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารที่ตั้งจุดตรวจค้นยาเสพติดบริเวณด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มี.ค.60  โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่านายชัยภูมิมียาเสพติดและต่อสู้ขัดขวาง และจะใช้อาวุธระเบิดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ทหาร

 

อย่าอ้างญาติไม่ติดใจ..ปิดคดีวิสามัญฆาตกรรม

 

จึงทำให้เจ้าหน้าที่ทหารจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงสังหารนายชัยภูมิ จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 61 ที่ผ่านมานี้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำสั่งไต่สวนการเสียชีวิตและมีคำสั่งชี้ว่าผู้ตายเสียชีวิตเพราะถูกยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยไม่ระบุว่าการเสียชีวิตเป็นการกระทำที่ชอบของเจ้าหน้าที่หรือไม่ 

 

"ความจริงเกี่ยวกับการตายของนายชัยภูมิ ป่าแส ก็ยังคงมีความคลุมเครือ และสร้างความเคลือบแคลงใจให้แก่ฝ่ายญาติผู้ตายและสังคมไทย และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีประเด็นที่ถูกพูดถึงและเรียกร้องมาตลอดจากทางฝ่ายญาติผู้ตายและสาธารณชน คือ การขอให้มีการเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการเปิดเผยภาพวงจรปิดดังกล่าวแต่อย่างใด "นางอังคณากล่าว

 

อย่าอ้างญาติไม่ติดใจ..ปิดคดีวิสามัญฆาตกรรม

 

นอกจากนี้ยังมีการเสียชีวิตของนายอะเบ ซึ่งถูกวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่ที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง  ต.เมืองนะ  อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 ก.พ.60 ก่อนหน้าการเสียชีวิตของนายชัยภูมิ 1 เดือน โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่านายอะเบ จะขว้างอาวุธระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงเพื่อป้องกันตัว และนายอะเบมียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋า  โดยศาลจะนัดฟังคำสั่งการไต่สวนการเสียชีวิตของนายอะเบ แซ่หมู่ ในวันที่ 26 ก.ค.61 นี้.

 

อย่างไรก็ตาม กรณีของนายชัยภูมิ และนายอะเบเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เปราะบาง การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญ ควรคุ้มครองผู้เห็นเหตุการณ์ ให้พยานเกิดความมั่นใจ และเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น. เนื่องจากพยานในคดีนี้หวาดกลัวจนหลบหนีออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน. ดังนั้นตนจึงขอเรียกร้องให้ปฏิรูปทหาร ตำรวจ ให้อยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม. ผู้เสียหายต้องสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม. รวมถึงมีมาตรการคุ้มครองพยานที่มีประสิทธิภาพ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ