ข่าว

ลุ้นผล "จักรทิพย์" รุกขอตัว "อดีตพระพรหมเมธี"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผบ.ตร. บินไปปารีสหวังประสานตำรวจสากลส่งตัว "อดีตพระพรหมเมธี" ผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีที่ไทย คาดทราบผลไม่เกิน 15 มิ.ย. ขณะที่กำหนดกลับ 16 มิ.ย.ยังไม่เปลี่ยน

               13 มิ.ย. 61  ที่ กองบังคับการปราบปราม  รายงานข่าวแจ้งว่า ความคืบหน้าการติดตามตัว อดีตพระพรหมเมธี อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ที่หลบหนีไปยื่นขอลี้ภัยอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ขณะนี้ทางคณะทำงานพร้อมด้วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ยังคงอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อเจรจาประสานงานในเรื่องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับทางตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) สำนักงานใหญ่

 

 

 

               เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางประเทศเยอรมนีได้ปฏิเสธคำขอตัว อดีตพระพรหมเมธี จากตำรวจไทย ที่ขอให้ส่งมอบตัวผู้ต้องหา โดยทางการเยอรมนีอ้างถึงความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่กลุ่มสหภาพยุโรปมองว่าเป็นประเทศที่ยังไม่อยู่ในสภาวะปกติ และไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ ก่อนการไปประสานงานกับตำรวจสากล ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้มีการประชุมเพื่อหาแนวทางในการนำตัว อดีตพระพรหมเมธี กลับมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งได้ข้อสรุปว่า จะใช้ความร่วมมือกันระหว่างตำรวจต่อตำรวจ ผ่านช่องทางตำรวจสากลที่ไทยมีความร่วมมือกับตำรวจสากลหลายๆ ประเทศทั่วโลก

               รายงานข่าวแจ้งว่า การประสานงานในครั้งนี้คาดว่าจะทราบผลไม่เกินวันศุกร์ที่ 15 มิ.ย. นี้ และหากผลการเจรจาสำเร็จ คณะทำงานพร้อมด้วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ จะเดินทางไปรับตัว อดีตพระพรหมเมธี จากเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี กลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 16 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยเที่ยวบินที่ TG931 ซึ่งออกเดินทางจากกรุงปารีสสู่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยล่าสุดยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินแต่อย่างใด

               รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับการสืบสวนสอบสวนบุคคลอื่นในคดีฟอกเงินนั้น ทางชุดทำงานในส่วนของกรณีวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ที่มีหลักฐานชัดเจนว่า มีการทุจริตที่เข้าข่ายการฟอกเงิน ซึ่งต่างจากการทุจริตเงินทอนวัดที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ โดยวัดสระเกศฯ ได้รับงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) รวม 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นเงินจำนวน 30 ล้านบาท โดย พศ. จ่ายเป็นเช็คเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2558 เนื่องจากเสนอของบทำโครงการเงินอุดหนุนอบรมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ครั้งที่สอง วัดสระเกศฯ ได้รับงบประมาณอีกจำนวนเงิน 32.5 ล้านบาท โดย พศ. จ่ายเงินเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2559 เนื่องจากวัดได้เสนอโครงการอุดหนุนศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา

 

 

 

               สำหรับรายละเอียดของโครงการนั้น ในเอกสารได้ระบุว่า ทั้ง 2 โครงการ เป็นงบประมาณเพื่อหนุนด้านเผยแผ่ศาสนา โดยจะนำงบประมาณไปอุดหนุนให้วัดสาขา 13 แห่ง แต่เมื่อตรวจสอบรายละเอียดกลับพบว่า มีวัดจำนวน 9 วัด ที่ไม่ได้รับงบประมาณอุดหนุนเลยตามที่ระบุไว้ ประกอบด้วย วัดไตรธรรมาราม จ.สุราษฎ์ธานี , วัดบุดดา จ.สิงห์บุรี , วัดมหาพุทธาราม จ.ศรีสะเกษ , วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม , วัดอัมพวัน จ.ยโสธร , วัดบ่อชะเนง จ.อำนาจเจริญ , วัดพระพุทธบาทเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ , วัดศรีมงคลใต้ จ.มุกดาหาร และวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ส่วนวัดที่เหลืออีก 4 คือ วัดหลวงพ่อสด จ.ราชบุรี , วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ , วัดปากน้ำ จ.อุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ได้รับงบประมาณไปแห่งละ 2 ล้านบาท รวม 8 ล้านบาท ส่วนงบประมาณที่เหลืออีกกว่า 50 ล้านบาท พบว่า อดีตพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ได้ยักย้ายถ่ายเทไปยังบัญชีของ นางสาวนุชรา สิทธินอก อายุ 32 ปี คนในบ้านของ นางฑัมม์พร นิพนธ์พิทยา อายุ 50 ปี อดีตเจ้าของ ห้างหุ้นส่วนจำกัดดีดีทวีคูณ ซึ่งเป็นสีกาคนสนิทของ อดีตพระพรหมสิทธิ เพื่อให้ผลิตสื่อโฆษณาให้กับวัด

               รายงานข่าวแจ้งว่า จากการสอบปากคำ อดีตพระพรหมสิทธิ ได้ให้การว่า ที่โอนไปยังบัญชีของ นางสาวนุชรา นั้นก็เพราะ นางฑัมม์พร แนะนำว่าเป็นวิธีหนึ่งในการเลี่ยงภาษี แต่เมื่อชุดสืบสวนร่วมกับ ปปง. ตรวจสอบแล้วกลับพบว่า ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเงินจำนวนดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ และมีการนำไปใช้ในกิจการส่วนตัวจำนวนมาก ทั้งที่เงินจำนวนนี้ควรจะถูกจัดส่งไปยังวัดจำนวน 9 วัด เพื่อให้พระเณรในต่างจังหวัดที่ด้อยโอกาสได้เรียนหนังสือตามที่วัดเขียนโครงการมา ซึ่งระบุว่าจะส่งเงินไปยังโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 26,000 บาทต่อรูป รวมทั้งสองโครงการเป็นเงิน 62.5 ล้านบาท

               รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า รูปแบบของการทุจริตเงินของวัดสระเกศฯ วัดสัมพันธวงศ์ฯ และวัดสามพระยาวรวิหาร ครั้งนี้นั้นแตกต่างจากการดำเนินคดีเงินทอนวัดในครั้งที่ผ่านๆ มา เนื่องจากรูปแบบเดิมที่พบในวัดต่างจังหวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะเป็นฝ่ายเสนองบประมาณให้วัดไปทำโครงการต่างๆ แต่เงินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ถูกโอนคืนกลับไปให้ข้าราชการในสำนักพุทธฯ บางวัดพระจึงกลายเป็นเหยื่อของการกระทำความผิด ตำรวจจึงไม่ได้ดำเนินคดีกับพระแต่ได้กันไว้เป็นพยาน เพราะถือว่าไม่มีเจตนา แต่กรณีของวัดที่ถูกดำเนินคดีทั้ง 3 วัดนั้น พระไม่ได้โอนเงินกลับไปยังเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ แต่เงินที่ได้รับมาเพื่อทำโครงการต่างๆ กลับถูกโอนเข้าบัญชีฆราวาส บัญชีตัวเองแทนในรูปแบบของการฟอกเงิน ซึ่งตัวพระเป็นผู้ที่กระทำทุจริตด้วยตัวเอง จึงต้องถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันฟอกเงิน เพราะพระไม่ได้เป็นเหยื่อเหมือนคดีเงินทอนวัดที่ผ่านมา

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ