ข่าว

"อดีตโฆษก"พท.เข้ามอบตัวกองปราบข้อหามั่วสุม 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย เข้ามอบตัวกองปราบ หลังถูกออกหมายเรียกให้มาพบในข้อหาข้อหามั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง หลังเพื่อนรวมขบวนการชิงมอบตัวไปก่อนหน้านี้

     
          กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) - เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 30 พฤษภาคม 2561 นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย และอดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จ.ชลบุรี ได้เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ป. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา

          ในกรณีที่เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายศักดา ร่วมกับพวก รวม 9 คน ได้แถลงข่าวเรื่อง 4 ปี ที่ล้มเหลวของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถูกพิจารณาดำเนินคดีในความผิดข้อหามั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ซึ่งมีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หลังจากเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แกนนำพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย , นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการ , นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย , นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ , นายชัยเกษม นิติศิริ อดีต รมว.ยุติธรรม , นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ , นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.การคลัง และนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ รวม 8 คน ซึ่งได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น

          นายศักดา กล่าวว่า ได้ติดต่อขอเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ป.ตามหมายเรียก หลังจากตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา รายที่ 9 ตามที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีจากกรณีที่พรรคเพื่อไทย ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เรื่อง 4 ปี ที่ล้มเหลวของ คสช.โดยในวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ตนติดภารกิจจึงไม่ได้เดินทางมาพร้อมกับแกนนำพรรคทั้ง 8 คน ที่เข้าพบพนักงานสอบสวนไปก่อนหน้านี้ ส่วนที่มีการแถลงข่าวดังกล่าวนั้น ตนอยากเรียนว่าเป็นการพูดเพื่อติชมการทำงานของรัฐบาลในวาระครบรอบ 4 ปี ที่ คสช.บริหารประเทศ การติชม ก็อาจเข้าข่ายความผิดตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ห้ามมั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน

          นายศักดา กล่าวอีกว่า ส่วนในวันที่จัดแถลงข่าวดังกล่าวนั้น มีตำรวจจากหลาย สน.ด้วยกัน เข้ามาพบและประสานแล้วว่า ไม่ควรจะมีผู้บริหารพรรคร่วมแถลงข่าว แต่ก็ได้หารือกันจนมีข้อสรุปว่า ผู้บริหารตัดสินใจไม่ร่วมแถลงข่าวในวันนั้น แต่ผู้ที่ไม่ได้บริหารพรรค 3 ท่าน ก็ได้แถลงแสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ แต่การแถลงในที่เป็นอาคารส่วนตัวนั้น เข้าข่ายเป็นการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่ง คสช.ดังกล่าวหรือไม่ ส่วนอีกประเด็น คือ ก่อนหน้านี้ ก็มีพรรคการเมือง มีกลุ่มการเมือง มีคณะบุคคล ก็แสดงความคิดเห็นทางการเมืองลักษณะนี้ ในหลายที่ เช่น กรณีของอดีตแกนนำ กปปส.อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แถลงข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเมือง มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว

          นายศักดา กล่าวอีกว่า แม้ว่าการแถลงข่าวแบบนี้จัดขึ้นที่ โรงแรม แต่ก็ถือว่าเป็นการร่วมกันแสดงความเห็นทางการเมืองเกินกว่า 5 คนขึ้นไป กรณีอย่างนี้ทำไม คสช.จึงไม่พิจารณาดำเนินคดี อีกประการหนึ่ง คือ กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปยัง จ.บุรีรัมย์ ก็มีอดีตหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อย่างนายเนวิน ชิดชอบ อยู่ในสถานที่นั้น มีการปราศรัยกับประชาชน มีการรวมตัวกันเกินกว่า 5 คน โดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง แม้จะเป็นการไปลงพื้นที่ของนายกฯ แต่คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ก็ไมได้ระบุว่าใคร ระบุเพียงว่าผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง เกินกว่า 5 คนขึ้นไป

          “ถ้าเข้าองค์ประกอบความผิด กรณีอย่างนี้ก็ต้องมีความผิดเช่นเดียวกัน มันจะนำไปสู่ประเด็นที่ว่า การทำหน้าที่ของฝ่ายกฎหมาย คสช.เลือกปฏิบัติกับพรรคเพื่อไทย หรือบุคคลที่อยู่ในพรรคเพื่อไทย หรือไม่ กรณีของพนักงานสอบสวน ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รับแจ้งความ ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อ 10 ระบุว่าการที่พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกใคร ต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแจ้งข้อหาดำเนินคดี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รับแจ้งความ แล้วก็ออกหมายเรียกในคืนวันที่ 17 ต่อเนื่อง 18 พฤษภาคม มันรวดเร็วเกินไปหรือไม่ หรือเป็นการทำตามคำสั่งเกินกว่าหน้าที่หรือไม่” นายศักดา กล่าว

          นายศักดา กล่าวว่า ในกรณีเช่นนี้การออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 นั้น เป็นช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกับการบังคับใช้กฎอัยการศึก กรณีอย่างนี้การผ่อนปรนให้ฝ่ายการเมืองได้แสดงความคิดเห็น ติชม ร่วมกับ คสช.จะเป็นไปได้หรือไม่ และประการสุดท้าย การที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศครบ 4 ปี หากเทียบกับฝ่ายการเมือง ก็ต้องถือว่าหมดวาระแล้ว เกินกว่ากรอบเวลาที่ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จะต้องพ้นตำแหน่ง และอยู่รักษาการถึงการทำหน้าที่ ต้องมีการจัดเตรียมการเลือกตั้งแล้ว แต่วันนี้ยังไม่ปลดล็อกคำสั่งห้ามไม่ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง อย่างนี้จะเป็นกรณีการปฏิรูปการเมือง และการปรองดองได้หรือไม่

  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ