ข่าว

"เผย"โทษอดีต"ผอ.-รอง พศ."อาจถึง 200 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ป.ป.ช."โว"โกงงินทอนวัด"ทำได้เร็วมากเหตุมีข้อมูลหมดแล้ว สามารถนำพยานหลักฐานมาใช้ร่วมกันในแต่ละสำนวนได้ ระบุ"อดีอผอ.พศ.-รองผอ.พศ." โทษรวมกันอาจถึง 200 ปี

       

        18 พฤษภาคม 2561  พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีเงินทอนวัด  

 

         โดยระบุว่า ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไปทั้งหมด 13 สำนวน จำนวน 13 วัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐในการทุจริตเงินในวัดต่างๆ ตนเชื่อว่า ป.ป.ช.สามารถทำได้รวดเร็ว เพราะกระบวนการในเชิงบริหารจัดการนั้น ป.ป.ช.มีข้อมูลหมดแล้ว จะได้นำมาไต่สวนโดยใช้พยานหลักฐานร่วมกันได้ และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสำนวนก็ยืนยันแล้วว่าจะสามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสรุปสำนวนเสนอให้กรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา

 

         ทั้งนี้ 13 ชุดดังกล่าวต่างกรรมต่างวาระกัน ก็ต้องแล้วแต่การแยกสำนวนและบริหารจัดการคดี อย่างไรก็ตามคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติแล้วว่า พยานหลักฐานใดที่ใช้ร่วมได้ก็ให้นำมาใช้ได้ในสำนวนอื่นๆ เช่นกัน ดังนั้นจะทำให้สิ้นเปลืองระยะเวลาในการรวมรวมระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานได้น้อยลง

     

         ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่สามารถตรวจจับผู้ต้องสงสัยเป็นทหารยศร้อยโทได้ และขณะเดียวกันต้นสังกัดได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริง ทาง ป.ป.ช.จะเอาเรื่องดังกล่าวมาร่วมพิจารณาได้หรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า จากที่ปรากฏเป็นข่าวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบก็ต้องเข้าไปดูว่า เมื่อมีหน่วยงานดำเนินการตรวจสอบ ในแต่ละการตรวจสอบถ้าอยู่ในอำนาจกฎหมาย ป.ป.ช.ก็ต้องให้หน่วยงานนั้นส่งเรื่องมาให้ ป.ป.ช.พิจารณาอยู่ดี

 

         ในเมื่อตอนนี้หน่วยงานเขาทำอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ของเราก็ต้องไปติดตาม แต่เราจะไม่ลงไปแล้วทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ซึ่งก็เป็นไปตามกฎระเบียบชัดเจน ที่จะระบุว่าเมื่อถึงเวลาแล้วคดีจะมารวมที่ ป.ป.ช.อย่างไร ในเมื่อทุกหน่วยงานช่วยกันสอดส่อง ช่วยกันตรวจสอบก็เป็นเรื่องที่ดี มั่นใจว่าคดีเงินทอนวัดจะพิจารณาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ล่าช้า เรื่องนี้จะเร็วมาก แม้ว่ากรรมการ ป.ป.ช.จะมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในบางสำนวน แต่ก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเชื่อว่าภายในปีงบประมาณนี้ซึ่งเหลืออีกไม่กี่เดือน เรื่องนี้จะมีความชัดเจนขึ้น

 

           ใน 13 สำนวนดังกล่าว มีชื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ซ้ำ ๆ กันอยู่บ้าง โดยเฉพาะในตำแหน่งข้าราชการระดับสูง เช่น ผอ.พศ. และรองผอ.พศ. มีชื่อซ้ำกันบ้าง แต่ในการพิจารณาจะพิจารณาต่างกรรมต่างวาระแต่ละสำนวนไป ในขณะที่ศาลพิจารณาลงโทษก็จะพิจารณาเป็นรายกระทงไปเช่นกัน ซึ่งโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 50 ปี ในแต่ละคดี หากถูกนำแต่ละสำนวนมารวมกันโทษก็อาจจะสูงสุดถึง 200 ปีได้

 

         ดังนั้น ถ้าบางคนถูกลงโทษแต่ละสำนวน ก็จะถูกนำมารวม ๆ กัน เหมือนในคดีอื่น ๆ โดยกระบวนการทางราชทัณฑ์แล้วก็จะมีการลดหย่อนแล้วแต่ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้ว่าจะมีหลายคดีในการพิจารณาไปพร้อมกันเช่นนี้ แต่เมื่อพิจารณาคดีหลักได้ก่อนแล้ว คดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะง่าย ระยะเวลาในการพิจารณาก็จะลดลง เพราะไม่เสียเวลาในการสอบพยาน หาข้อมูลหลักฐาน

 

        บางสำนวน ป.ป.ช.ยังสามารถพิจารณาในกรณีร่ำรวยผิดปกติได้อีกด้วย เพื่อพิจารณาว่าทำอย่างไรจะได้ทรัพย์สินของรัฐคืนเพื่อให้เขารู้ว่าโกงวัดไปก็ไม่ได้เงิน และจะยึดทรัพย์ตามมูลค่า ถ้าโกงไป 10 ล้านในคำพิพากษาก็จะให้ติดตามทรัพย์สินอื่นในมูลค่าเดียวกันกลับมาชดใช้ต่อรัฐ แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปต่างประเทศ ตามกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช.เขาก็ต้องหนีตลอดชีวิต อีกทั้งยังสามารถพิจารณาสอบพยานลับหลังได้อีกด้วย ดังนั้นถ้าหนีก็ต้องหนีตลอดชีวิต 

     

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ