ข่าว

กทม.จ่ออุทธรณ์จ่ายค่าชดใช้ "ป้าทุบรถ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลปกครองสั่ง กทม. รื้อ 5 ตลาดรอบบ้าน "ป้าทุบรถ" ภายใน 60 วัน จ่ายชดใช้กว่า 1.4 ล้าน ด้าน "อัศวิน" พร้อมรื้อทันที จ่ออุทธรณ์ค่าเสียหาย ลั่นเอาผิด 7 ขรก.เอี่ยว

     ความคืบหน้ากรณี น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ หรือ “ป้าทุบรถ” ที่พักอาศัยในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ย่านสวนหลวง ร.9 และผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านรวม 4 คน ได้ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตประเวศ สำนักงานเขตประเวศ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ในข้อพิพาทเรื่องหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่และกระทำละเมิดจากเหตุให้มีการก่อสร้างอาคารและตลาด 5 แห่งโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้พื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยกลายเป็นที่จอดรถและเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของหมู่บ้านที่จดทะเบียนจัดสรรเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงและก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญนั้น

     ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสัจจา เขม้นงาน ตุลาการศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ส.1/2555 ที่ น.ส.บุญศรี น.ส.รัตนฉัตร น.ส.แสงหยก และน.ส.ราณี แสงหยกตระการ สี่พี่น้อง เจ้าของบ้านพักในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ย่านสวนหลวง ร.9  ยื่นฟ้องผู้ว่าฯ กทม. ผอ.เขตประเวศ สำนักงานเขตประเวศ และกทม. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ข้อพิพาทเรื่องหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และกระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติอย่างล่าช้า รวม 3 ข้อกล่าวหา โดยคดีมี นายสุกิจ  นามวรกานต์ กับพวกรวม 7 คน ผู้ประกอบการตลาดสวนหลวง, ตลาดรุ่งวานิชย์, ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต และตลาดยิ่งนรา ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อพิพาทได้เข้ามาเป็นผู้ร้องสอดที่ร่วมนำเอกสารหลักฐานแสดงให้ศาลร่วมพิจารณาด้วย

กทม.จ่ออุทธรณ์จ่ายค่าชดใช้ "ป้าทุบรถ"

     ทั้งนี้องค์คณะศาลปกครองแผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิเคราะห์ข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดิน ในขณะเกิดข้อพิพาทอนุญาตให้ผู้จัดสรรที่ดินทำการจัดสรรที่ดินจำนวน 3 โครงการ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักอาศัยของผู้ฟ้องทั้งสี่และที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารตลาดอยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินตามใบอนุญาต โครงการที่ 2 มีวัตถุประสงค์จัดสรรเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเท่านั้นโดยไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่าเป็นการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่ประกอบการพาณิชย์แต่อย่างใด ดังนั้นการออกใบก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดให้แก่ผู้ร้องสอดจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

     ส่วนการที่ผู้ร้องสอดก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดทั้ง 5 แห่งโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่ไม่ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนออกไปจึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ อีกทั้งการที่ ผอ.เขตประเวศ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องกับตลาดพิพาททั้ง 5 แห่งและปล่อยปละละเลยให้มีผู้จำหน่ายสินค้าบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องทั้งสี่ เมื่อนับเวลาตั้งแต่ปี 2553 ที่มีการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดแห่งแรกจนถึงปี 2561 ที่เกิดเหตุการณ์ทุบรถจอดกีดขวางหน้าบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ นับเป็นระยะเวลาประมาณ 7 ปีเศษ กรณีจึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างล่าช้าเกินสมควรและเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายและต้องตกอยู่ในภาวะทนทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจมาเป็นระยะเวลานาน

     องค์คณะศาลปกครองแผนกคดีสิ่งแวดล้อมจึงเห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ กทม. ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่ผู้ถูกฟ้อง 1-2 อยู่ภายใต้กำกับดูแล ต้องชดใช้แก่ผู้ฟ้องทั้งสี่ส่วนหนึ่ง และกำหนดเพิ่มเติมให้เป็นค่าเสียหายสำหรับการสูญเสียความสุข (Hedonic losses) เพื่อเป็นการชดเชยความสงบสุขในชีวิตที่ต้องสูญเสียไปให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 32 บัญญัติรับรองสิทธิไว้

     ศาลปกครองกลางแผนกคดีสิ่งแวดล้อมจึงมีคำพิพากษาว่า  1.ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคาร 2.ให้ผู้ว่าฯ กทม. และผอ.เขตประเวศ ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ดำเนินการกับอาคารตลาดภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด 3.ให้ผู้ว่าฯ กทม. ผอ.เขตประเวศ สำนักงานเขตประเวศ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่พ.ร.บ.การสาธารณสุข ไม่ให้ก่อเหตุรำคาญและควบคุมดูแลไม่ให้มีผู้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องทั้งสี่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด 

กทม.จ่ออุทธรณ์จ่ายค่าชดใช้ "ป้าทุบรถ"

     4.ให้ผู้ว่าฯ กทม. ผอ.เขตประเวศ สำนักงานเขตประเวศ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2534 สอดส่องกวดขัน ไม่ให้ผู้ใดจำหน่ายสินค้าบนถนนและทางเท้าบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องทั้งสี่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด 

     5.ให้กทม.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องที่ 1-4 รายละ 368,400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,473,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2556 ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด และคืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องที่ 1-4 และ 6.ให้คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ของศาลยังคงมีผลต่อไปจนกว่าคำพิพากษาถึงที่สุดด้วย ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการฟังคำพิพากษาวันนี้ หน่วยงาน กทม.มีผู้แทนมาร่วมรับฟัง เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประกอบตลาด ผู้ร้องสอดก็เดินทางมาลุ้นการตัดสินด้วย ขณะที่มีกลุ่มประชาชนร่วม 20 คนที่สนใจก็มาร่วมฟังผลคำพิพากษาด้วย ส่วนพี่น้องตระกูลแสงหยกตระการ เดินทางมาฟังการตัดสินด้วยสีหน้าสบายใจ โดยเมื่อสัมภาษณ์หลังการตัดสินบางช่วง พี่น้องแสงหยกตระการ ถึงกับน้ำตาคลอเบ้าและน้ำเสียงสั่นเครือ

     น.ส.บุญศรี หนึ่งในผู้ฟ้อง กล่าวภายหลังมีคำพิพากษาว่า ศาลได้เมตตาคืนพื้นที่อยู่อาศัยให้ประชาชนอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสี่กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เเละศาลได้กำหนดให้กทม.ชดใช้ค่าเสียหายเพราะศาลได้เมตตาเห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ฟ้องเเละประชาชน อย่างไรก็ดีเมื่อศาลมีคำสั่งเเล้วทุกสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะต้องเอาออก ทั้งนี้สิ่งที่อยากฝากไว้คือพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ไว้อยู่อาศัย อย่าได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้ประชาชน รวมถึงพื้นที่รอบสวนหลวง ร.9 เเละพื้นที่อื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ ด้วย 

กทม.จ่ออุทธรณ์จ่ายค่าชดใช้ "ป้าทุบรถ"

     “เป็นความเดือดร้อนที่เลี่ยงไม่ได้เเละเเสนสาหัสมากกับสิ่งเหล่านี้ในกรณีนี้ขอให้เป็นคดีตัวอย่างเพื่อไม่ให้ไปกระทำซ้ำกับหมู่บ้านหรือพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนอีก ประชาชนที่เดือดร้อนบางครั้งก็ไม่สามารถมาฟ้องร้องต่อศาลได้จึงไม่อยากให้เกิดขึ้น คนเรากว่าจะซื้อพื้นที่อยู่อาศัยได้ต้องใช้ระยะเวลา พื้นที่ความสงบของเขาควรได้รับการคุ้มครองจากตัวบทกฎหมายที่กำหนดไว้ เจ้าหน้าที่เเละหน่วยงานของรัฐที่ทราบดีเเล้วว่าพื้นที่นี้หรือพื้นที่อื่นที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยจงอย่าไปกระทำซ้ำอีก ขอความกรุณา” น.ส.บุญศรี ระบุ

     ส่วนคดีอีกสำนวนที่ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางไว้เมื่อปี 2552 น.ส.บุญศรี กล่าวว่า ก็จะเดินหน้าต่อไป เพราะคำพิพากษาของศาลปกครองกลางแผนกคดีสิ่งเเวดล้อมในวันนี้ก็ชัดเจนอยู่เเล้ว ส่วนเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษานั้น กทม.ก็มีสิทธิตามกฎหมาย เเต่สิทธิอันชอบธรรมนั้นมีหรือไม่ต้องถามดูว่าประชาชนเดือดร้อนมาเกือบ 10 ปีควรหรือไม่ที่จะอุทธรณ์คดี สิ่งที่ศาลมีคำพิพากษาก็บอกชัดเจนอยู่เเล้วว่ามันคืออะไร กทม.ไม่สมควรอย่างยิ่ง ขอให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาคืนพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยให้ประชาชนโดยเร็วที่สุดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

     สำหรับความเสียหายที่ศาลสั่งให้ชดเชยนั้น น.ส.บุญศรี กล่าวว่า ศาลท่านเห็นความเดือดร้อนเรา วันนี้สุขภาพจิตดีขึ้น ประชาชนในหมู่บ้านถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อได้ยินว่าพื้นที่อยู่อาศัยกลับมาอยู่ในสภาพสำหรับพักอาศัยอย่างชัดเจน วันนี้ถือว่าคุ้มค่าเพราะเราใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะเรียกสิทธิอันชอบธรรมกลับคืนมา

     เมื่อถามถึงคดีอาญาที่ถูกแจ้งความดำเนินกรณีใช้ขวานทุบรถกระบะของคนที่มาซื้อของในตลาดไปจอดขวางหน้าบ้านพัก น.ส.บุญศรี กล่าวว่า คดีอาญาก็ดำเนินไปตามกระบวนการ ซึ่งคำพิพากษาในวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปให้พนักงานอัยการได้รับทราบข้อเท็จจริง และคำพิพากษาในวันนี้ก็จะนำไปเปิดเผยให้รับทราบเพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่ง รวมถึงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเราก็จะปิดประกาศไว้ด้วย เมื่อถามว่าอยากฝากอะไรถึงเจ้าของตลาดหรือไม่ น.ส.บุญศรี กล่าวว่า วันนี้คำพิพากษาออกมาชัดเจนว่าเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ตนไม่ได้ฟ้องตลาด เเต่ตลาดควรเข้าใจว่าเมื่อเป็นพื้นที่อยู่อาศัยเเล้วควรต้องทำอย่างไร ตลาดต้องไปใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง

กทม.จ่ออุทธรณ์จ่ายค่าชดใช้ "ป้าทุบรถ"

     ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ กทม.รื้อถอนตลาดทั้ง 5 แห่งภายใน 60 วัน ก็จำเป็นต้องรื้อถอนตามนั้น ส่วนการชดใช้ค่าเสียหายจะขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเนื่องจากไม่ใช่ความผิดที่เกิดขึ้นจากตน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดรอบบ้านน.ส.บุญศรี กทม.ได้สั่งปิดทั้งหมดแล้ว โดยได้รื้อถอนบางส่วนตลาดที่ไม่ได้ขออนุญาตออกแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดรุ่งวาณิชย์ ตลาดร่มเหลืองที่ไม่มีใบอนุญาต ตลาดรุ่งนรา ส่วนที่เหลืออีก 2 แห่ง ได้แก่ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดสวนหลวง ยังไม่มีการรื้อถอนโครงสร้างออกเนื่องจากเจ้าของตลาดได้ยื่นขออนุญาตตามกฎหมาย และอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาล กทม.จึงไม่ได้รื้อถอนเพราะเจ้าของตลาดอาจฟ้องร้องได้

     “การรื้อถอนตลาดเห็นด้วยอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายจะหารือฝ่ายกฎหมายในการขออุทธรณ์ ซึ่งกำหนดภายใน 30 วัน เพราะการจะให้ชดใช้ค่าเสียหายมองว่าผมไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว และว่า ในส่วนความคืบหน้าการสอบสวนทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปล่อยให้จัดตั้งตลาดนั้น ปลัดกทม.ได้รายงานเบื้องต้นว่าพิจารณาความผิดทางวินัยเสร็จสิ้นแล้ว โดยความผิดที่พบ คือความผิดวินัยไม่ร้ายแรง อาทิ การตัดเงินเดือน เป็นต้น เบื้องต้นมีข้าราชการเกี่ยวข้อง 7 ราย อาทิ อดีตผู้อำนวยการเขตประเวศและคนปัจจุบัน หัวหน้าฝ่ายโยธาเขต หัวหน้าฝ่ายอนามัย หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เป็นต้น ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องถึงการดำเนินการต่างๆ อีกครั้ง

ฉบับ นสพ.คมชัดลึก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ