ข่าว

จบยกแรก !! ศาลปกครองตัดสินป้าทุบรถชนะคดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศาลปกครองคดีสิ่งแวดล้อม"ตัดสินกทม.รื้อตลาดเมื่อคำตัดสินถึงที่สุด-ชดใช้ "พี่น้องแสงหยกตระการ" กว่า 1.4 ล้าน ปล่อยสร้างตลาดไม่ถูกต้องสูญเสียความสุขจากขยะตลาด

 

          16 พ.ค.2561 "ศาลปกครองคดีสิ่งแวดล้อม"ตัดสินกทม.รื้อตลาดเมื่อคำตัดสินถึงที่สุด-ชดใช้ "พี่น้องแสงหยกตระการ" ว่า 1.4 ล้าน ปล่อยสร้างตลาดไม่ถูกต้องสูญเสียความสุขจากขยะตลาดส่งกลิ่น-มลภาวะเสียง ชี้ รธน.รับรองสิทธิด้วย"คุณป้า"วอนกทม.อุทธรณ์ให้ดูความเหมาะสมเดือดร้อนนับ 10 ปี  

 

 

          ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 10.30 น. นายสัจจา เขม้นงาน ตุลาการศาลปกครองกลางแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ส.1/2555 ที่ น.ส.บุญศรี , น.ส.รัตนฉัตร , น.ส.แสงหยก และ น.ส.ราณี แสงหยกตระการ สี่พี่น้อง ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านพัก ในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ย่านสวนหลวง ร. 9

 

           ยื่นฟ้อง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , ผอ.เขตประเวศ , สำนักงานเขตประเวศ และกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ข้อพิพาทเรื่องหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย , ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และกระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติอย่างล่าช้า รวม 3 ข้อกล่าวหา โดยคดีมี "นายสุกิจ  นามวรกานต์ กับพวกรวม 7 คน" ผู้ประกอบการตลาดสวนหลวง , ตลาดรุ่งวานิชย์ , ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต และตลาดยิ่งนรา ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อพิพาทนั้น ได้เข้ามาเป็นผู้ร้องสอดที่ร่วมนำเอกสารหลักฐานแสดงให้ศาลร่วมพิจารณาด้วย

 

          โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ระบุในฟ้องว่า ผู้ฟ้องทั้งสี่ พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในหมู่บ้านเสรีวิลล่า แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2541 ซึ่งบ้านดังกล่าวปลูกสร้างอยู่บนที่ดินจัดสรรเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย แต่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญและเสียหายจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดรอบบ้านพักอาศัย 5 แห่ง ทำให้ได้รับผลกระทบจากการที่คนงานของตลาดปีนขึ้นลงหลังคาเต็นท์มองเข้ามาภายในบ้าน มีการสาดไฟแรงสูงส่องเข้ามาภายในบ้านยามวิกาล และเกิดมลภาวะทางอากาศจากกลิ่นควันรถยนต์ ,

 

จบยกแรก !! ศาลปกครองตัดสินป้าทุบรถชนะคดี

 

           

 

          กลิ่นจากการประกอบอาหาร , เสียงดังจากเครื่องขยายเสียงโฆษณาขายสินค้า , น้ำเสียและขยะสิ่งปฏิกูลตกค้างอุดตันท่อระบายน้ำจากการทำตลาดพิพาทดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องทั้งสี่มีหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ถูกฟ้องทั้งสี่แล้วแต่ไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหา จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อมในปี พ.ศ.2555 ผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างตลาด และให้หน่วยงานทางปกครอง-เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการประกอบกิจการตลาดในหมู่บ้านผู้ฟ้อง

 

         ขณะที่ "องค์คณะ" ทำคำพิพากษาความยาว 114 หน้า พิจารณาใน 5 ประเด็น คือ 1.คดีพิพาทเกี่ยวกับกระทำโดยมิชอบ , ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร และกระทำละเมิดจากการละเลยปฏิบัติหน้าที่ที่กฎหมายให้ต้องปฏิบัติ  ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 9 พ.ศ.2560)  มาตรา 9 (1)(2)(3) หรือไม่ , 2.การที่ผู้ฟ้องทั้งสี่ ยื่นฟ้องคดีนี้ เป็นการฟ้องซ้ำกับ คดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้ต่อศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำ 1687/2552 หรือไม่ , 3.การที่ผู้ร้องสด ยื่นใบแจ้งก่อสร้างอาคาร ตาม  พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 39 ทวิ โดยไม่ยื่นคําขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ได้นั้น

 

จบยกแรก !! ศาลปกครองตัดสินป้าทุบรถชนะคดี

 

          ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดินในคดีพิพาทนี้หรือไม่ , 4.การกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งสี่ ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดโดยปฏิบัติล่าช้านั้น และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องหรือไม่ และ 5.การกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งสี่โดยผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องหรือไม่

 

           "องค์คณะศาลปกครองแผนกคดีสิ่งแวดล้อม" พิเคราะห์ข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า "คณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดิน" ในขณะเกิดข้อพิพาท อนุญาตให้บริษัทสุวิทย์และเสรี จำกัด ผู้จัดสรรที่ดิน ทำการจัดสรรที่ดินจำนวน 3โครงการ

 

          โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักอาศัยของผู้ฟ้องทั้งสี่ และที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารตลาดพิพาทของผู้ร้องสอด อยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินตามใบอนุญาตเลขที่ 296/2530 ลงวันที่ 5 ต.ค.30 โครงการที่ 2 (มิใช่โครงการที่ 1) ซึ่งวัตถุประสงค์ตามโครงการจัดสรรนั้น จัดสรรเฉพาะที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง การที่ผู้จัดสรรที่ดินระบุไว้ในแบบแสดงรายการโครงการจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาต จากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินว่า "ทางบริษัทฯ ได้จัดสรรเฉพาะที่ดินเปล่า จึงดำเนินการทำทางเท้าให้แล้วเสร็จไม่ได้ เนื่องจากผู้ซื้อต้องมาก่อสร้างบ้าน และภายหลังจากที่ผู้ซื้อสร้างบ้านเสร็จ ผู้ซื้อจะเป็นผู้ดูแลและจัดทำทางเท้าเองทุกแปลง"

 

          กรณีจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดว่า ผู้จัดสรรที่ดินมีเจตนาให้การใช้ประโยชน์ที่ดินจัดสรรโครงการที่ 2 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่าเป็นการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่ประกอบการพาณิชย์แต่อย่างใด ซึ่งแม้ผู้ถูกฟ้องจะมีอำนาจออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารได้แต่ก็ต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดินด้วยโดยกรณีพิพาทนี้จัดสรรเพื่อเป็นที่พักอาศัยเท่านั้น ไม่ใช่ประกอบการพาณิชย์ ดังนั้น การที่ "ผู้ว่าฯ กทม." ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดให้แก่ผู้ร้องสอด จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

          และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พ.ย.15 ที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ว่าการก่อสร้างอาคารตลาดในที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นการทำผิดวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนตามกฎหมายนั้นจึงไม่อาจรับฟังได้ ขณะที่การฟ้องคดีนี้ของผู้ฟ้องทั้งสี่ไม่เป็นการฟ้องซ้ำกับสำนวนในศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำ 1687/2552 เพราะเป็นเหตุการณ์และข้อกล่าวหาคนละส่วน และจำนวนตลาดที่แตกต่างกัน

 

          ดังนั้นเมื่อ "ผู้ร้องสอด" ก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดทั้ง 5 แห่งโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่"ผู้ว่าฯ กทม."ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนออกไป จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อีกทั้งการที่ " ผอ.เขตประเวศ" ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องกับตลาดพิพาททั้ง 5 แห่งของผู้ร้องสอดที่จัดตั้งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

         

          ซึ่งเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ม.34 และปล่อยปละละเลยให้มีผู้จำหน่ายสินค้าบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องทั้งสี่ เมื่อนับเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ที่มีการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดแห่งแรกในคดีนี้ จนถึงปี พ.ศ.2561 ที่เกิดเหตุการณ์ทุบรถจอดกีดขวางหน้าบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ และ " ผอ.เขต.ประเวศ" ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ได้ออกคำสั่งให้ "ผู้ร้องสอด" หยุดประกอบกิจการตลาดพิพาท

 

          นับเป็นระยะเวลาประมาณ 7 ปีเศษ กรณีจึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างล่าช้าเกินสมควร ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อีกทั้งยังเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายและต้องตกอยู่ในภาวะทนทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจมาเป็นระยะเวลานาน

 

          "องค์คณะศาลปกครองแผนกคดีสิ่งแวดล้อม" จึงเห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ "กรุงเทพมหานคร" ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่ผู้ถูกฟ้อง 1-2 อยู่ภายใต้กำกับดูแล ต้องชดใช้แก่ผู้ฟ้องทั้งสี่ส่วนหนึ่ง และกำหนดเพิ่มเติมให้เป็นค่าเสียหายสำหรับการสูญเสียความสุข (Hedonic losses) เพื่อเป็นการชดเชยความสงบสุขในชีวิตที่ต้องสูญเสียไปให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่อีกส่วนหนึ่ง

 

          ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 32 บัญญัติรับรองสิทธิไว้ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทําอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคล...ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จําเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ" ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมและเป็นการเยียวยาความเสียหายให้แก่ "ผู้ฟ้องทั้งสี่" ในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนี้ 

 

          "ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม" จึงมีคำพิพากษาว่า  1.ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ  ที่ "ผู้ว่าฯ กทม." ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ออกให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1, 3, 4, 6, 7 โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารแต่ละฉบับดังกล่าว

 

          2.ให้ "ผู้ว่าฯ กทม." ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ/หรือ "ผอ.เขตประเวศ" ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ใช้อำนาจ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ม.40,42,43 ดำเนินการกับอาคารของ "ผู้ร้องสอดที่ 1,3,4,5,6,7 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด 

 

          3.ให้ "ผู้ว่าฯ กทม." ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ/หรือ "ผอ.เขตประเวศ" ผู้ถูกฟ้องที่ 2 กับ "สำนักงานเขตประเวศ" ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ม.26, 28,41,44,45 เพื่อไม่ให้ "ผู้ร้องสอด" หรือผู้หนึ่งผู้ใดก่อเหตุรำคาญ ตาม ม.25 และควบคุมดูแลไม่ให้มีผู้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องทั้งสี่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด 

 

          4. ให้ "ผู้ว่าฯ กทม." ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ/หรือ "ผอ.เขตประเวศ" ผู้ถูกฟ้องที่ 2 กับ "สำนักงานเขตประเวศ" ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2534 ม.44 โดยสอดส่องกวดขัน ไม่ให้ผู้ใดจำหน่ายสินค้าบนถนนและทางเท้าบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องทั้งสี่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด 

 

          5.ให้ "กรุงเทพมหานคร" ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ผู้ฟ้องที่ 1-4 รายละ 368,400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,473,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.56 ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด และคืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องที่ 1-4

 

          6.ให้คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 1 ส.ค.56 ของศาลยังคงมีผลต่อไปจนกว่าคำพิพากษาถึงที่สุดด้วย ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก 

 

          อย่างไรก็ดี วันนี้ในการฟังคำพิพากษาในส่วนของหน่วยงาน กทม. มีผู้แทนมาร่วมรับฟัง เช่นกับกลุ่มผู้ประกอบตลาด ผู้ร้องสอดก็เดินทางมาลุ้นการตัดสินด้วย ขณะที่มีกลุ่มประชาชนร่วม 20 คนที่สนใจก็มาติดตามร่วมฟังผลคำพิพากษาด้วย ส่วน "พี่น้องแสงหยกตระการ" เดินทางมาฟังการตัดสิน ด้วยสีหน้าสบายใจ โดยเมื่อสัมภาษณ์หลังการตัดสินบางช่วง "พี่น้องแสงหยกตระการ" ก็ถึงกับน้ำตาคลอเบ้าและมีน้ำเสียงสั่นเครือ

 

          ขณะที่ภายหลังฟังคำพิพากษา "น.ส.บุญศรี" หนึ่งในผู้ฟ้อง กล่าวว่า ศาลได้เมตตาคืนพื้นที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนอย่างชัดเจน ว่าสิ่งที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสี่กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เเละศาลได้กำหนดให้กรุงเทพมหานครชดใช้ค่าเสียหายเพราะศาลท่านได้เมตตาเห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ฟ้องเเละประชาชน อย่างไรก็ดีเมื่อศาลมีคำสั่งเเล้ว ทุกสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะต้องเอาออก

 

          "สิ่งที่อยากฝากไว้ คือพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ไว้อยู่อาศัย อย่าได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงพื้นที่รอบสวนหลวง ร.9 เเละพื้นที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพฯด้วย เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเดือดร้อนเช่นเดียวกับที่ป้าได้รับความเดือดร้อน มันเป็นความเดือดร้อนที่เลี่ยงไม่ได้ เเละเเสนสาหัสมากกับสิ่งเหล่านี้ ในกรณีนี้ขอให้เป็นคดีตัวอย่างเพื่อไม่ให้ไปกระทำซ้ำกับหมู่บ้านหรือพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนอีก ประชาชนที่เดือดร้อนบางครั้งก็ไม่สามารถที่จะมาฟ้องร้องต่อศาลได้ จึงไม่ยากให้เกิดขึ้น คนเรากว่าจะซื้อพื้นที่อยู่อาศัยได้ต้องใช้ระยะเวลา พื้นที่ความสงบของเขาควรได้รับการคุ้มครองจากตัวบทกฎหมายที่กำหนดไว้ เจ้าหน้าที่เเละหน่วยงานของรัฐที่ได้ทราบดีเเล้วว่าพื้นที่นี้หรือพื้นที่อื่นที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยจงอย่าไปกระทำซ้ำอีก ขอความกรุณา" น.ส.บุญศรี ระบุ

 

          ส่วนคดีอีกสำนวนที่ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางไว้ เมื่อปี 2552 "น.ส.บุญศรี" กล่าวว่า ก็จะเดินหน้าต่อไป เพราะคำพิพากษาของศาลปกครองกลางแผนกคดีสิ่งเเวดล้อมในวันนี้ก็ชัดเจนอยู่เเล้ว ส่วนเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษานั้นกรุงเทพมหานครก็มีสิทธิตามกฎหมาย เเต่สิทธิอันชอบธรรมนั้นมีหรือไม่ต้องถามดู

 

          "ประชาชนเดือดร้อนมาเกือบ 10 ปีควรหรือไม่ที่จะอุทธรณ์คดี สิ่งที่ศาลมีคำพิพากษาก็บอกชัดเจนอยู่เเล้วว่ามันคืออะไร กทม.ไม่สมควรอย่างยิ่ง ขอให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาคืนพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยให้ประชาชนโดยเร็วที่สุดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง" น.ส.บุญศรี กล่าว

 

          สำหรับความเสียหายที่ศาลสั่งให้ชดเชยนั้น "น.ส.บุญศรี" กล่าวว่า วันนี้เราฟังคำพิพากษาแล้ว เราเห็นว่าศาลให้ความกรุณาเมตตา เรายินดีเเละดีใจกับสิ่งเหล่านี้ เพราะท่านเห็นจึงกำหนดไม่ว่าจะเป็นเงินจำนวนเท่าใดเราถือว่าศาลท่านเห็นความเดือดร้อนเรา วันนี้สุขภาพจิตดีขึ้น ประชาชนในหมู่บ้านถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อได้ยินว่าพื้นที่อยู่อาศัยกับมาอยู่สภาพสำหรับพักอาศัยอย่างชัดเจน วันนี้ถือว่าคุ้มค่าเพราะเราใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะเรียกสิทธิอันชอบธรรมกลับคืนมา

 

          เมื่อถามถึงคดีอาญา ที่ถูกแจ้งความดำเนินกรณีใช้ขวานทุบรถกระบะของคนที่มาซื้อของในตลาด ซึ่งจอดขวางหน้าบ้านพัก  "น.ส.บุญศรี" กล่าวว่า คดีอาญาก็ดำเนินไปตามกระบวนการ ซึ่งคำพิพากษาในวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ตนจะนำไปให้พนักงานอัยการได้รับทราบข้อเท็จจริง ส่วนป้ายข้อความต่างๆที่หน้าบ้านซึ่งตนติดไว้ก็จะยังคงเก็บไว้เพราะเป็นเนื้อหาความเดือดร้อนความเสียหายที่เราลุกขึ้นมาต่อสู้ในฐานะประชาชน ส่วนคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในวันนี้ตนก็จะนำเปิดเผยให้รับทราบ เพราะเป็นคำพิพากษาที่ประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่ง รวมถึงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เราก็จะปิดประกาศไว้ด้วย

 

          ต่อข้อถามที่ว่า อยากฝากอะไรถึงเจ้าของตลาดหรือไม่ "น.ส.บุญศรี" กล่าวว่า วันนี้คำพิพากษาออกมาชัดเจนว่าเป็นพื้นที่อยู่อาศัยตนไม่ได้ฟ้องตลาด เเต่ตลาดควรเข้าใจว่าเมื่อเป็นพื้นที่อยู่อาศัยเเล้วควรต้องทำอย่างไร ตลาดต้องไปใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ