ข่าว

"หมอบอนด์" โดนอีก แพทยสภาจ่อเรียกสอบรีวิวเมจิกสกิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แพทยสภาจ่อเรียก"หมอบอนด์"สอบจริธรรมรีวิวเมจิกสกิน เพจดังจับตาอาหารเสริมอีกตัว อย.ขู่ดารารับโฆษณามั่วเป็นเหตุคนตายโทษ "คุก" ด้าน ผบ.ตร.แถลงยึดอาหารเสริม"ลิน"คร่4

          เมื่อวันที่ 30 เมษายน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ กรรมการแพทยสภา กล่าวถึงกรณี นพ.ปิยะพงษ์ โหวิไลลักษ์ หรือหมอบอนด์ มีการรีวิวโฆษณาสินค้าในเครือเมจิกสกิน ว่ากรณีนี้เป็นการใช้วิชาชีพเหมือนกับไปขายของหาประโยชน์ เนื่องจากมีการใช้คำว่านายแพทย์ ซึ่งเป็นหมอไปรับรองผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งหากเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างรถ อะไรก็ตามยังไม่ค่อยเกี่ยว แต่กรณีเมจิกสกิน หรือสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความงาม หรืออ้างลดน้ำหนัก หรือฟอกผิวขาว ซึ่งทำไม่ได้ถือว่าผิดพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 และข้อบังคับแพทยสภาข้อที่ 44 ระบุว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด ถ้าต้องการแสดงตนเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ต่อสาธารณชนจะต้องไม่ใช้คำว่านายแพทย์ แพทย์หญิง หรือคำอื่นใดหรือกระทำการไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความ ภาพ เครื่องหมาย หรือกระทำอย่างใดๆ ให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นแพทย์ หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม


"หมอบอนด์" โดนอีก แพทยสภาจ่อเรียกสอบรีวิวเมจิกสกิน
แฟ้มภาพ

 

          “สำหรับโทษนั้นต้องบอกว่ามี 4 ระดับ คือ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ และเพิกถอน ซึ่งส่วนใหญ่จะบอกว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้กฎหมาย ก็มักจะเป็นว่ากล่าวตักเตือน แต่หากสอบสวนแล้วพบว่า มีส่วนรู้เห็นและรู้เรื่องก็จะเป็นอีกระดับหนึ่ง แต่สำหรับกรณีหมอบอนด์ ก็ต้องมีการสอบสวนก่อน ซึ่งจะมีการประชุมกรรมการแพทยสภากลางเดือนพฤษภาคมนี้และจะแต่งตั้งอนุกรรมการสอบสวนจริยธรรมเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเคสนี้ไม่น่าใช้เวลานาน เพียงแต่ต้องเชิญหมอเข้ามาชี้แจงด้วย” นพ.สัมพันธ์ กล่าว


"หมอบอนด์" โดนอีก แพทยสภาจ่อเรียกสอบรีวิวเมจิกสกิน

          กรรมการแพทยสภา กล่าวอีกว่า กรณีจะต้องสอบสวนให้รู้ให้ได้ว่า จริงๆ เจ้าตัวรู้ซึ้งแค่ไหน ว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้ผ่านอย.หรือไม่ อย่างไร และมีส่วนเกี่ยวพันอย่างไร ซึ่งหากเจ้าตัวบอกว่าไม่รู้ไม่เห็นและหลักฐานชี้ไปเช่นนั้นก็ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง แต่หากเขาไม่รู้จริงๆ ก็คงต้องว่ากล่าวตักเตือน อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์ ซึ่งทางแพทยสภาจะออกประกาศแจ้งเตือนแพทย์ทั่วประเทศผ่านเว็บไซต์ให้ระมัดระวังในการรีวิวสินค้า และห้ามใช้วิชาชีพแพทย์รีวิวหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าสุขภาพ เพราะจะขัดต่อข้อบังคับของแพทยสภา หรือกล่าวง่ายๆ ว่าหมอต้องไม่เอาวิชาชีพหมอไปขายของ ซึ่งวิชาชีพอื่นก็เช่นกัน ทั้งพยาบาล ทันตแพทย หรือแม้แต่เภสัชกร ก็ต้องพึงระวังทั้งสิ้น

          ผู้สื่อข่าวถามว่าจริงๆ เรื่องนี้แพทย์ทุกคนต้องทราบถึงจริยธรรมหรือความเหมาะสมในการปฏิบัติตัวตั้งแต่แรกหรือไม่ นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า การเรียนแพทย์เรียนหนักมาก เรียนมากมาย นอกจากเรียนแพทย์ เขาอาจไม่รู้ทุกมุมก็ได้ อย่างแพทย์จบใหม่ปีละ 3 พันคน คงมีไม่ถึง 100 คนจะรู้เรื่องหมด อย่างบางคนบอกว่าการใช้ยาสมเหตุสมผลควรบรรจุในการเรียนแพทย์ หรือการสื่อสารกับประชาชนก็ควรบรรจุในการเรียนแพทย์ จริงๆ ซึ่งเยอะไปหมด แต่อย่างไรก็ตามเบื้องต้นแพทยสภาจะออกประกาศเตือนหมอว่าลักษณะอย่างกรณีเมจิกสกิน อย่าทำ

          เมื่อแพทย์หลายคนยังไม่ทราบว่าโฆษณาสินค้าแบบนี้ไม่ได้ เราจะเตือนประชาชนอย่างไร นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า คนไทยเชื่อคนง่าย ยิ่งเป็นแพทย์เป็นหมอนี่เชื่อเลย ซึ่งไม่ได้หรอก ตนมองว่าควรมีหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งอาจเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้รับผิดชอบในการตอบคำถามเรื่องนี้หรือไม่ หรือควรประชาสัมพันธ์ให้หนัก ดังนั้นขอให้ประชาชนพิจารณาดีๆ อย่าเชื่อรีวิว เพราะสินค้ารีวิวทำเพื่อประโยชน์ทางการค้ามากกว่า แต่หากสงสัยก็สอบถามไปยัง อย.

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพจเฟซบุ๊กดัง “ดอกจิก v.3” ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมหลังกระแสผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลายๆ ตัว กำลังอยู่ในกระแสตรวจสอบหลังอาหารเสริมออนไลน์เจ้าดัง “เมจิกสกิน” พบสารอันตรายมากมายและยังมีเลข อย.ไม่ตรงกับผลิตภัณฑ์และทั้งยังพบว่าโรงงานที่ใช้ผลิตไม่เหมาะสม โดยผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายหลอกหลวงผู้บริโภคอีกตัวตอนนี้ หลังพบเขียนสรรพคุณข้างกล่องและคำโฆษณาเกินจริงสามารถรักษาโรคได้ เช่น ต้านมะเร็ง บำรุงตับ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดความดัน

          โดยมีเนื้อหาโพสต์ว่า “อาหารเสริม XXX ค่อนข้างน่ากลัวมากในการเคลมโฆษณาขนาดนี้ เป็นการโฆษณาเกินจริงชัดเจน อาหารเสริมไม่สามารถรักษาโรคได้ เช่น ต้านมะเร็ง บำรุงตับ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดความดัน ลดไขมันในเลือด บำรุงหัวใจ ดักจับไขมันเก่า สรรพคุณครอบจักรวาลอย่างมาก เป็นแค่อาหารเสริมทำไมโฆษณาขนาดนี้ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด พิจารณาจากข้อความแล้ว คำโฆษณาแบบนี้ อย.ไม่ให้มีข้อความแบบนี้ในใบ ฆอ. (ใบอนุญาตโฆษณาอาหาร) เบื้องต้นอาจจะพบความผิดคือโฆษณาไม่เป็นไปตามที่โฆษณา โฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาโดนใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคอาจจะเข้าใจผิดในสาระสำคัญ โดยขอคำชี้แจงจากบริษัท AK91 GROUP ด้วย”

          ทั้งนี้จากกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา ด้านฉลาก ด้านสัญญา นั้นจากมาตรา 28 ในกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณามีเหตุอันควรสงสัยว่าข้อความใดที่ใช้ในการโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความจริงตามมาตรา 22 วรรคสอง (1) ให้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณามีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้กระทำการโฆษณาพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงได้ ในกรณีที่ผู้กระทำการโฆษณาอ้างรายงานทางวิชาการ ผลการวิจัย สถิติ การรับรองของสถาบันหรือบุคคลอื่นใด หรือยืนยันข้อเท็จจริงอันใดอันหนึ่งในการโฆษณา ถ้าผู้กระทำการโฆษณาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่ใช้ในการโฆษณาเป็นความจริงตามที่กล่าวอ้าง ให้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณามีอำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 27 ได้ และให้ถือว่าผู้กระทำการโฆษณารู้หรือควรได้รู้ว่าข้อความนั้นเป็นความเท็จ

"หมอบอนด์" โดนอีก แพทยสภาจ่อเรียกสอบรีวิวเมจิกสกิน
 

          วันเดียวกัน นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวความคืบหน้ามาตรการเข้ม อย. ต่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ว่าช่วงที่ผ่านมา อย.มีการตรวจพบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายและส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจและจับผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง คือ เมจิกสกิน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คือ ลีน ที่อ้างลดน้ำหนัก โดยในเรื่องของเมจิกสกิน ไม่ใช่แค่ตรวจสอบและจับกุมเท่านั้น แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ในการทลายแหล่งเครือข่ายการโฆษณาเกินจริงก็ว่าได้ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังขยายผลต่อ อย่างไรก็ตาม อย.ไม่เคยนิ่งนอนใจ ได้มีมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะกรณีมีดารา คนดัง ที่ออกมารีวิวผลิตภัณฑ์เมจิกสกินกันจำนวนมาก หลายคนระบุว่าไม่ทราบเนื่องจากเห็นแค่ตรา “อย.” คิดว่าถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่ากรณีนี้ผู้ที่รีวิวสินค้าจะถือว่าเข้าข่ายโฆษณาชวนทันที ซึ่งคนที่รีวิวก็ต้องตรวจสอบ จะบอกว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์คงไม่ได้เพราะกฎหมายไม่ละเว้น

"หมอบอนด์" โดนอีก แพทยสภาจ่อเรียกสอบรีวิวเมจิกสกิน
 

          “การที่บอกว่าเห็นตราอย. แล้วคิดว่าถูกกฎหมายนั้น จริงๆ แล้วไม่ว่าสินค้าใดๆ มีความเสี่ยงถูกปลอมได้ ต้องตรวจสอบก่อนจะโฆษณาสินค้า และหากไม่เชื่อมั่นควรสอบถามมายังช่องทานของอย. หรือเดินเข้ามาที่อย.เลยก็ได้ เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าตัวนี้รีวิวได้หรือไม่ และการรีวิวหรือโฆษณาควรพูดอะไรให้ไม่ผิดกฎหมาย เข้ามาถามได้เลย เพราะอย่าลืมว่าเป็นคนดังก็ต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนเพรานี่คือชื่อเสียงผู้ที่รีวิวสินค้าด้วย” เลขาธิการ อย.กล่าว

          ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีดาราคนดังรีวิวสินค้าเกินจริง หรือผิดกฎหมาย มีโทษอย่างไร นพ.วันชัย กล่าวว่า เบื้องต้นกรณีดังกล่าวทั้งผู้ผลิตผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือการโฆษณาเกินจริง เราจะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการข้อมูลเพื่อจัดโทษหนัก โดยเบื้องต้นสำหรับโทษโฆษณาเกินจริงมีโทษปรับตั้งแต่ 5 พันบาทไปจนถึงแสนบาท และจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึง 3 ปี และไม่ใช่แค่กรณีเมจิกสกินเท่านั้น ทุกสินค้า หากพบว่าการหากรีวิวแล้วสินค้านั้นมีผู้บริโภคใช้สินค้าแล้วอันตรายถึงแก่ชีวิต ดาราหรือใครที่รีวิวก็ต้องรับโทษสูงสุดคือจำคุกด้วย

          นพ.วันชัย กล่าวอีกว่า ส่วนที่หลายคนกังวลว่าระบบในการขึ้นทะเบียนผ่านออนไลน์ หรือที่เรียกว่า e-Submission ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอว่าน่าจะยกเลิกนั้น คงยกเลิกไม่ได้ เพราะปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้ระบบดิจิทัลกันหมด แต่เราต้องปรับปรุงเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดมากกว่า ซึ่งจากการหารือร่วมกันทั้งสภาอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ได้ข้อสรุปดังนี้ ในส่วนเครื่องสำอางนั้น จากนี้ไปจะไม่ใช่แค่รับเอกสารยื่นขอขึ้นทะเบียนเท่านั้นแต่จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียด และก่อนจะขึ้นทะเบียนก็จะมีการตรวจสอบไปยังโรงงาน หรือสถานที่ผลิตว่า ผ่านมาตรฐานด้วยหรือไม่ ซึ่งสินค้าเครื่องสำอางถือเป็นผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำ ในอดีตไม่ต้องตรวจสถานที่ผลิต แต่จากนี้จะออกประกาศเป็นกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 นี้ ว่า ต้องมีการแจ้งสถานที่ผลิตที่มีการตรวจสอบแล้วด้วย โดยการตรวจนั้นจะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนไป คาดว่าใช้เวลา 3 เดือนจะตรวจโรงงานผลิตได้หมด และหลังจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้รับขึ้นทะเบียน อย.ก็จะมีการตรวจหลังจากนั้นอีก

"หมอบอนด์" โดนอีก แพทยสภาจ่อเรียกสอบรีวิวเมจิกสกิน
 

          เลขาธิการอย. กล่าวว่า นอกจากนี้จะมีการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังร่วมกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งภาคประชาชน สื่อมวลชน หรือเพจบนเฟซบุ๊กต่างๆ ก็สามารถร่วมเป็นหูเป็นตาในการตรวจสอบและสอดส่องให้แก่อย. ซึ่งสามารถแจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือเว็บไซต์ของอย. Oyor.com หรือแอพพลิเคชั่น อย. Oryor Smart Application หรือส่งอีเมลมาที่ [email protected] รวมไปถึงช่องทางไลน์แอพพลิเคชั่น FDAthai หรือมาที่สำนักงานได้ด้วยตนเอง และที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

          “ไม่อยากให้ทุกคนคิดว่าต่อจากนี้จะเชื่ออย.ได้หรือไม่ ขอรับรองว่า เชื่อได้แน่นอน เนื่องจากแบนด์ อย. ได้รับความเชื่อถือมานาน ประเทศรอบข้างยังเชื่อถือ แต่ระยะหลังเศรษฐกิจขยายตัว และมีผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตอาศัยตรา อย.ไปหลอกลวง ก็ต้องอาศัยช่องทางนี้ในการช่วยกัน หากพบก็แจ้งเข้ามา และจะดำเนินการทางกฎหมายทันที และในอนาคตจะร่วมกับสภาอุตสาหกรรมในการทำให้ตรา อย. ปลอมยากยิ่งขึ้น แต่จะทำอย่างไรคงยังตอบไม่ได้ และเราได้ประสานกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. เกี่ยวกับการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ ช่องทางทั้งหลาย วิทยุ ทีวี ซึ่งกสทช.จะอำนวยความสะดวกให้อย.เข้าไปตรวจสอบทุกชิ้น หากไม่เหมาะสมจะระงับทันที ” เลขาธิการอย. กล่าว

          นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อลีน เดิมอย. เคยออกประกาศไปแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยแจ้งเตือนว่ามีลอตไหนบ้างของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่พบสารอันตราย ห้ามใช้ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ฉลากระบุ ลีนเอฟเอส ทรี Lyn FS-Three ชนิดกล่องละ 10 แคปซูล เลขสารพบอาหาร 13-1-05459-5-0017 ซึ่งพบสารบิซาโคดิล และฉลากระบุ ลีน บล็อก เบิร์น เบรก บิลด์ Lyn Block Burn Brake Build ขนาดบรรจุกล่องละ 10 แคปซูล เลขสารพบอาหาร 13-1-05459-5-0006 ผลตรวจพบไซบูทรามีน ซึ่งล่าสุดพบชายอายุ 47 ปีเสียชีวิตที่จ.ปทุมธานี โดยพี่สาวระบุว่าผู้ตายไม่มีโรคประจำตัว แต่ที่ผ่านมาได้กินยาลดความอ้าวนมา 2 เดือน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าเป็นลอตเดียวกับที่เคยประกาศไว้ แต่ผลตรวจต้องรอการพิสูจน์ยืนยันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ขอให้ประชาชนระวัง และอย่าไปรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และขอย้ำว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่มีสรรพคุณใดๆ ตามที่รีวิว ยิ่งลดน้ำหนักยิ่งไม่ใช่


"หมอบอนด์" โดนอีก แพทยสภาจ่อเรียกสอบรีวิวเมจิกสกิน
 

          ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลีนที่ผู้ชายกินเข้าไปจนเสียชีวิตนั้น เป็นลอตเดียวกันหรือไม่ และเก็บหมดในท้องตลาดแล้วหรือยัง นพ.พูลลาภ กล่าวว่า เป็นลอตเดียวกัน แต่ในท้องตลาดมีจำนวนมากแค่ไหน ผู้ผลิตที่กระทำผิดกฎหมายไม่ได้บอกชัดเจน แต่ขณะนี้ก็พยายามแจ้งทางเครือข่ายในการเก็บออกให้หมด แต่สิ่งสำคัญขอเตือนประชาชนต้องระมัดระวัง และอย่ารับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หรือไม่มั่นใจ พบผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนี้ให้แจ้งมาที่ อย.ทันที หลังจากนั้นจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปจัดเก็บ

          วันเดียวกันที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอาง ทางเว็บไซต์โดยใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง บุคคลที่น่าเชื่อถือ หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการใส่เครื่องแบบหรือชุดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข จึงขอให้ระมัดระวังการให้ข้อมูลหรือรีวิวสินค้า ในรูปแบบโฆษณาแฝงทางเว็บไซต์ออนไลน์ หรือออฟไลน์

"หมอบอนด์" โดนอีก แพทยสภาจ่อเรียกสอบรีวิวเมจิกสกิน แฟ้มภาพ
 

          ทั้งนี้การใช้ตำแหน่งหน้าที่โฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอาจผิดวินัยข้าราชการพลเรือน กรณีอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบตามมาตรา 83(3) ซึ่งอาจเป็นความผิดทางวินัย กรณีข้าราชการกระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์ซึ่งอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน ทำให้ประชาชนไม่ศรัทธาและไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการตามมาตรา 83(5) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 โดยจะต้องให้กลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรมพิจารณาเป็นกรณีไป

          นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามขอเตือนประชาชนให้เลือกซื้อสินค้าจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และตรวจสอบความน่าเชื่อถือจากสายด่วน อย.1556, Oryor Smart Application, Line : FDAthai หรือเว็บไซต์ fda.moph.go.th สำหรับบริการสุขภาพและคลินิกทุกประเภทให้ตรวจสอบที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่ 0-2193-7000


"หมอบอนด์" โดนอีก แพทยสภาจ่อเรียกสอบรีวิวเมจิกสกิน

          เมื่อเวลา 18.00 น.วันเดียวกัน พล.ต.อ.จักทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลการตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อลิน (LYN) จำนวน 62,000 กล่อง มูลค่าความเสียหายประมาณ 24,180,000 ล้านบาท โดยเข้าตรวจค้นและตรวจยึดของกลางที่บริษัท Food Science Supply Service จำกัด เลขที่ 99/29 หมู่ 2 ต.สามโคก จ.ปทุมธานี โดยมีกรรมการบริษัท คือ น.ส.ธีรนุช นันทะพล อายุ 28 ปี และนายณัฐวัฒน์ วโรดมย์กร อายุ 46 ปี และบริษัทเอกอัครินทร์ เลขที่ 109/8 หมู่ 3 ถนนพระยาสัจจา ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยมีกรรมการบริษัท คือ นายพันธ์ชนะ รัตนประสิทธิ์ อายุ 47 ปี และน.ส.พิมพ์ลภัทร เอกอัครินทร์ อายุ 40 ปี

"หมอบอนด์" โดนอีก แพทยสภาจ่อเรียกสอบรีวิวเมจิกสกิน
 

          พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) เข้าตรวจค้นโรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อลิน (LYN) จำนวน 2 แห่ง ในพื้นที่ปทุมธานี และชลบุรี พบผลิตภัณฑ์ยี่ห้อลินหลายรายการ อาทิ ชนิดแคปซูล สีเขียวอ่อน จำนวน 3,500 แผง สีขาวมุก จำนวน 1,400 แผง ซองบรรจุผลิตภัณฑ์สีแดง ไม่มีฉลาก จำนวน 200 ซอง ผลิตภัณฑ์ผงสีน้ำตาลอ่อน จำนวน 6 ถุง น้ำหนักรวม 240 กิโลกรัม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กล่องสีดำ จำนวน 1,000 กล่อง และกล่องสีขาว จำนวน 3,000 กล่อง

          จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบสารต้องห้าม 2 ชนิด คือ ไซบูรามีน ไฮโดรคลอไรด์ มีฤทธิ์กล่อมประสาทส่วนกลางทำให้ไม่อยากอาหารซึ่งมีผลข้างเคียงกับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โดยพบสารนี้ในผลิตภัณฑ์ยี่ห้อลิน สูตรบล็อก เบิร์น เบรก บิวด์ (กล่องสีขาว) และสารไบซาโคดิส มีฤทธิ์เป็นยาระบาย โดยพบสารนี้ในผลิตภัณฑ์ยี่ห้อลิน สูตร เอสเอส-ทรี (กล่องสีดำ) ซึ่งสารต้องห้ามทั้ง 2 ตัวนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สั่งยกเลิกการผลิตไปแล้ว แต่มีการลักลอบเข้ามาในประเทศเพื่อผสมกับอาหารเสริมชนิดต่างๆ ซึ่งหากรับประทานติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย และที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว 4 ราย

"หมอบอนด์" โดนอีก แพทยสภาจ่อเรียกสอบรีวิวเมจิกสกิน
 

          ทั้งนี้ขอแจ้งเตือนประชาชนว่าอย่ารับประทานอาหารเสริมดังกล่าว เพราะมีผลกระทบต่อร่างกายรุนแรงมาก และหากพบว่าผู้ใดมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายผิดกฎหมาย จะถูกดำเนินคดีในข้อหาจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหลังจากนี้จะต้องรอผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์จากทางอย.ก่อน จึงจะสามารถเอาผิดต่อเจ้าของได้ โดยเบื้องต้นเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.อาหาร ผลิตนำเข้าเพื่อจำหน่าย ซึ่งอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับ 5,000 ถึง 100,000 บาท และข้อหาแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ปรับไม่เกิน 30,000 บาท

          สำหรับผลิตภัณฑ์ลีนนั้น มีสารที่เป็นอันตราย 2 ชนิด ซึ่งอย.สั่งยกเลิกการผลิตไป แต่ยังมีการลักลอบน้ำเข้ามาผสมอาหารเสริมต่างๆ คือไซบูทรามีน ไฮโดรคลอไรด์ ที่มีฤทธิ์กล่อมประสาทส่วนกลางทำให้ไม่รู้สึกอยากอาหาร และไบซาโคดิล มีฤทธิ์เป็นยาระบาย

"หมอบอนด์" โดนอีก แพทยสภาจ่อเรียกสอบรีวิวเมจิกสกิน
 

          ด้าน พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลมีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานผลิตภัณฑ์ 2 ชนิดนี้ จำนวน 4 ราย จึงเร่งรวบรวมพยานหลักฐานว่าเป็นผลโดยตรงจากการรับประทานยาหรือไม่ แต่ทั้ง 4 คนมีอาการคล้ายกัน ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการไปทั่วประเทศเพื่อระดมกวาดล้างจับกุม จากเดิมที่เป็นแค่อาหารเสริม แต่ใส่ยาอันตรายเข้าไปมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายสามารถเข้าแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่โรงพักทั่วประเทศ

          “สำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ยึดมาได้นั้นมีทั้งส่วนที่รอการผลิตและส่วนที่ผลิตแล้ว ซึ่งถือเป็นการยับยั้งการเสียชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลพิสูจน์ว่ามีสารต้องห้ามหรือไม่ ซึ่งหากพบก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย และหลังจากนี้ก็จะไปตรวจสอบขยายผลการลักลอบนำเข้าสารชนิดนี้ด้วย” พล.ต.อ.วิระชัยกล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ