ข่าว

หมาด่านกักกันสัตว์นครพนมไม่ได้ตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผวจ.นครพนม กำชับด่านกักกันดูแลหมา เผยผลตรวจหลังตายไม่ทราบสาเหตุไปกว่าครึ่ง ปลอดเชื้อพิษสุนัขบ้า

 

               5 มี.ค. 61  กรณีด่านกักกันสัตว์นครพนม ได้รับสุนัขจากจังหวัดร้อยเอ็ดมาดูแล หลังถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดงเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครพนมเกรงจะได้รับผลกระทบต่อการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้า

               ล่าสุด เมื่อเวลา 16.00 น. นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผวจ.นครพนม เดินทางไปยังด่านกักกันสัตว์นครพนม บ้านหนองบัว ต.หนองญาติ อ.เมือง จ.นครพนม มี นายณรงค์ รัตนตรัยวงศ์ หัวหน้าด่านกักกันฯ และนายพิพรรธพงศ์ พูดเพราะ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ชี้แจงรายละเอียด โดยนายณรงค์ เปิดเผยว่า จากรายงานข้อมูลสุนัขที่อยู่ในสถานพักฟื้นที่ด่านกักกันสัตว์นครพนมรับผิดชอบ ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. - 5 มี.ค. มีทั้งหมด 33 เที่ยว แบ่งออกเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด 32 เที่ยว จังหวัดกาฬสินธุ์ 1 เที่ยว รวมทั้งสิ้น 3,613 ตัว เสียชีวิตจากการขนย้ายและป่วยเป็นโรคไม่ทราบสาเหตุ 2,130 ตัว คงเหลือ 1,476 ตัว และเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้ตัดหัวสุนัขที่ล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุ จำนวน 5 หัว ส่งไปตรวจยังศูนย์วิจัยการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น ผลออกมาเป็นลบ ทำให้มั่นใจได้ว่าสุนัขที่ตายไม่ได้ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าตามที่เข้าใจกัน ประกอบกับทางด่านกักกันมีสัตวแพทย์ประจำการถึง 2 คน ได้หมั่นตรวจสุนัขในสถานพักฟื้นประจำ จึงให้ความมั่นใจแก่ประชาชนได้ว่า จะไม่มีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าแน่นอน

               ขณะเดียวกัน นายพิพรรธพงศ์ กล่าวว่า ด่านกักกันในภาคอีสานมีอยู่ 2 แห่ง 1. นครพนม รับผิดชอบพื้นที่อีสานตอนบน 12 จังหวัด และ 2. บุรีรัมย์ รับผิดชอบพื้นที่อีสานตอนใต้ 8 จังหวัด ในจังหวัดร้อยเอ็ดมีสุนัขประมาณ 1 แสนตัว กลุ่มเสี่ยงจะเป็นสุนัขจรจัดกับเจ้าของไม่ต้องการ ซึ่งโอกาสจะเกิดโรคพิษสุนัขบ้าจึงมีสูง อนาคตด่านกักกันสัตว์นครพนมอาจจะต้องรับสุนัขเหล่านี้จากจังหวัดร้อยเอ็ดเพิ่ม ส่วนนครพนมมีอยู่ราว 6 หมื่นตัว โดยทาง ผวจ.จะกำชับตลอดเวลาให้หมั่นดูแลสุนัขจรจัด ดังนั้น เวลาออกจังหวัดเคลื่อนไปยังตำบลหรืออำเภอต่างๆ ทางสัตวแพทย์จะนำทีมออกไปบริการฉีดวัคซีนทำหมันฟรี ส่วนสุนัขจรจัดก็จะมีการวางแผนด้วยการวางยาสลบแล้วจับตัวมาฉีดวัคซีนป้องกันเสมอ นอกจากนี้ทางกรมปศุสัตว์ยังได้สั่งให้สัตวแพทย์จังหวัดนครพนม ออกตระเวนทำหมันแก่สุนัขสม่ำเสมอ ปี 2560 ที่ผ่านมา ทำการฉีดวัคซีนและทำหมันมาแล้วเกือบ 2 พันตัว มีผลเป็นที่น่าพอใจ และการเกิดโรคพิษสุนัขบ้ามีน้อยกว่าจังหวัดอื่น แต่ก็ไม่นิ่งนอนใจ ยังคงออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่อย่างน้อยเดือนละครั้งเสมอ

               นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า เท่าที่ได้รับรายงานโรคพิษสุนัขบ้า เชื้อจะฟักตัวอยู่ประมาณ 6 เดือน ระหว่างที่สุนัขอยู่ในสถานพักฟื้นแห่งนี้ สั่งกำชับให้ผู้ดูแลตรวจและดูแลความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ หากพ้น 6 เดือนนี้ไปแล้ว ถึงจะการันตรีความปลอดภัย ขณะเดียวกันทราบมาว่าหากสกรีนแล้วว่าปลอดเชื้อ ทางมูลนิธิกลุ่มผู้รักสัตว์ได้ติดต่อขอรับสุนัขไปเลี้ยง ซึ่งเป็นโครงการหาบ้านใหม่ให้แก่สุนัขเหล่านี้ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ