ข่าว

สอบ "ณิชา" 12 ชม.ไม่ฟันธงบริสุทธิ์ - เอี่ยวคอลเซ็นเตอร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตร.สอบ"ณิชา" มาราธอน 12 ชม.เจ้าตัวเปรยให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีมากที่สุด จนท.เร่งลงพื้นที่ตามคำให้การ ยังไม่ฟันธงเป็นผู้บริสุทธิ์หรือมีเอี่ยวแก๊งคอลเซ็นเตอร์

          จากกรณี น.ส.ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ อายุ 24 ปี พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง อ้างว่าถูกคนร้ายเป็นกลุ่มขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์นำบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีธนาคาร 7 แห่งรวม 9 บัญชี จนส่งผลให้เป็นผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกง ถึงขั้นต้องติดคุกนาน 3 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัว น.ส.ปวีณา สิงหวิบูลย์ อายุ 31 ปี มาสอบสวน หลังพบว่าเป็นผู้ที่สวมสิทธิ์นำบัตรประชาชนของน.ส.ณิชา ไปเปิดบัญชีธนาคารต่างๆ ซึ่ง น.ส.ณิชา ยืนยันว่าไม่เคยรู้จักกับน.ส.ปวีณา มาก่อน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญ น.ส.ณิชา เข้าให้ปากคำที่สน.ห้วยขวาง เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 14 มกราคม 2561 ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

          ล่าสุดเมื่อเวลา 03.00 น. วันที่ 15 มกราคม 2561 น.ส.ณิชา ได้เดินออกจากห้องสอบสวนสน.ห้วยขวาง ในสภาพอ่อนล้า หลังถูกพนักงานสอบสวนสอบปากคำเพิ่มเติมนานถึง 12 ชม. โดย น.ส.ณิชา ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว โดยบอกเพียงสั้นๆ ว่าวันนี้มาสอบปากคำเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีมากที่สุด พร้อมเร่งฝีเท้าขึ้นรถตู้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จัดไว้ให้เพื่อเดินทางกลับบ้านพักย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี ทันที ส่วนรายละเอียดการสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้เปิดเผยแต่อย่างใด เนื่องจากเกรงจะเสียรูปคดี

สอบ "ณิชา" 12 ชม.ไม่ฟันธงบริสุทธิ์ - เอี่ยวคอลเซ็นเตอร์

       

          พ.ต.อ.กัมพล รัตนประทีป ผกก.สน.ห้วยขวาง เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่สอบปากคำ น.ส.ณิชา ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 14 มกราคม ได้สอบสวนเรื่องเงิน 6 ล้านบาทที่ปรากฏในบัญชี การทำบัตรประชาชนใหม่หลายครั้ง รวมไปถึงกระแสข่าวการสนทนาพูดคุยกันระหว่าง น.ส.ณิชากับน.ส.ปวีณา และอีกหลายประเด็น โดยน.ส.ณิชา ได้ตอบคำถามในประเด็นดังกล่าวจนเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี แต่รายละเอียดของคำให้การนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดอยู่ ซึ่งอาจมีผลต่อรูปคดีได้ เบื้องต้นได้สั่งการให้ชุดสืบสวนในคดีนี้ลงไปสืบหาข้อเท็จจริงตามคำให้การของน.ส.ณิชาแล้ว

          รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับน.ส.ปวีณา ผู้ที่นำบัตรประชาชนของ น.ส.ณิชา ไปเปิดบัญชีธนาคารนั้น หลังถูกแจ้งข้อหาตำรวจได้นำตัวไปขยายผลต่อทันที โดยวันนี้ (15 ม.ค.) จะเดินทางไปสอบปากคำ น.ส.เจรติ หรือแอน สายสิญจน์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนำบัตรประชาชน น.ส.ณิชา ไปให้ น.ส.ปวีณาเปิดบัญชี ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำโพธิ์แก้ว จ.นครปฐม ในข้อหาฉ้อโกง ก่อนจะรวบรวมพยานหลักฐานนำไปแถลงข่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติภายในวันที่ 16 มกราคม

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำน.ส.ณิชา ในหลายประเด็นเพื่อให้สิ้นข้อสงสัย ซึ่งน.ส.ณิชาได้ชี้แจงอย่างครบถ้วน โดยการสอบปากคำนั้นมีพนักงานสอบสวนจากโรงพักต่างๆ จำนวนหลายนายซึ่งมาจากท้องที่ที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินเข้าบัญชีที่น.ส.ณิชา ให้การว่าถูกแอบนำบัตรประชาชนไปเปิดบัญชี ทำให้การสอบสวนเป็นไปอย่างยาวนานตั้งแต่เวลา 15.00 -03.00 น. ของอีกวัน รวมเวลา 12 ชั่วโมง ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่สอบปากคำน.ส.ณิชา เท่านั้น เจ้าหน้าที่ยังสอบปากคำน้องชายของน.ส.ณิชาอีกด้วย เพื่อให้ครบถ้วนในทุกประเด็นที่เจ้าหน้าที่สงสัย

          รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตำรวจเบื้องต้นพบว่าบัตรประชาชนของน.ส.ณิชา ที่หายไปในเดือนกันยายน 2560 นั้น ถูกนำไปเปิดบัญชีธนาคารต่างๆ รวม 9 บัญชีทั้งหมด ตรงกับคำให้การของน.ส.ณิชา ที่ให้การว่าบัตรประชาชนที่หายไปนั้นเป็นรูปที่ถ่ายไว้ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.4 ซึ่งมัดผมจุกเกล้าบนศีรษะ

          ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารแห่งหนึ่งเผยข้อมูลว่า ปกติแล้วการเปิดบัญชีนั้น พนักงานธนาคารจะมีการตรวจสอบบัตรประชาชนเข้าเครื่องสแกนชิพเพื่อตรวจสอบว่าบัตรประชาชนใบดังกล่าวมีการทำบัตรใหม่หรือหมดอายุแล้วหรือไม่ ปัจจุบันทางธนาคารมีคำสั่งให้พนักงานที่รับเปิดบัญชีให้มีความรอบคอบระมัดระวังมากยิ่งขึ้น โดยพนักงานธนาคารจะต้องมีการสอบถามพูดคุยกับผู้มาเปิดบัญชีเพื่อตรวจสอบข้อมูลทั้งที่อยู่ ที่ทำงาน ตำแหน่ง เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล เพื่อให้แน่ใจว่าผู้มาเปิดบัญชีเป็นเจ้าของบัตรประชาชนจริงๆ หากมีการตอบอึกอักหรือมีลักษณะการพูดจาน่าสงสัย พนักงานธนาคารมีสิทธิ์ปฏิเสธไม่อนุญาตเปิดบัญชีได้ ขณะนี้ต่างกวดขันตรวจสอบรูปจากบัตรประชาชนกับใบหน้าของผู้ขอเปิดบัญชีว่า ตรงกันหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีการลอบนำบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีดังที่เป็นข่าวอีก

          ด้านพล.ต.ต.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า การจับกุมชาวต่างชาติรายหนึ่งนั้น สืบเนื่องจากได้รับแจ้งจากธนาคารแห่งหนึ่งว่าพบชายชาวต่างชาติผิวสี มีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าน่าจะอยู่ในเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์กำลังทำธุรกรรมทางการเงิน ที่บริเวณย่านรัชดาฯ จึงนำกำลังไปตรวจสอบจนสามารถจับกุมได้ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบทราบชื่อว่าคือนายไซมอน และจากการตรวจค้นห้องพักพบของกลางเป็นเสือผ้า แว่นตา และหมวก ที่นายไซมอน สวมใส่ในวันก่อเหตุ

          พล.ต.ต.อิทธิพล กล่าวต่อว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ห้วยขวางได้ควบคุมนำตัวนายไซมอนไปขยายผลการจับกุมต่อ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีข้อมูลว่านายไซมอน มีหมายจับและเป็นผู้ร่วมขบวนการกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมทั้งจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
 

สอบ "ณิชา" 12 ชม.ไม่ฟันธงบริสุทธิ์ - เอี่ยวคอลเซ็นเตอร์
 

          วันเดียวกันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กล่าวว่า ในส่วนของน.ส.ณิชา ยังถือเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชนในพื้นที่ สภ.บ้านตาก จ.ตาก และเป็นผู้เสียหายหลังได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ว่าถูกคนร้ายนำบัตรประชาชนไปเปิดบัญชี โดยยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นกับขบวนการดังกล่าวหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยตำรวจกองบังคับการปราบปรามและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผล

          รองโฆษกตร. กล่าวว่า ส่วน น.ส.ปวีณา สิงหวิบูลย์ อายุ 31 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวและแจ้งข้อหาไปเมื่อวานนี้ (14 ม.ค.) รวม 3 ข้อหา คือ ข้อหาลักทรัพย์ นำบัตรประชาชนของผู้อื่นไปใช้ และข้อหาปลอมแปลงเอกสาร เบื้องต้นได้ให้การยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้นำบัตรประชนชนบุคคลอื่นไปเปิดบัญชีจริง โดยอ้างว่าได้รับค่าจ้างจำนวน 10,000 บาท จากนายไซมอน ชาวต่างชาติ ซึ่งมีรายงานว่าถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ตามพ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมืองแล้วและอยู่ในขั้นตอนการซักถามโดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด

          รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวยอมรับว่า จากการตรวจสอบแผนประทุษกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยอมรับว่ามีส่วนคล้ายกับแก๊งโรแมนซ์สแกม คือการหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ว่าทั้งสองแก๊งมีส่วนเชื่อมโยงกัน

          พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบช.ทท. กล่าวว่า คดีนี้ล่าสุดตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 3 คน ที่เอาชื่อน.ส.ณิชา ไปเปิดบัญชี 9 บัญชี 7 ธนาคาร ประกอบด้วย นายอายัค ไซมอน อีโค้ว หรือไซมอน หรือ ซีมอน ชาวแคเมอรูน เป็นหัวหน้ากลุ่ม พบการกระทำความผิดโดยวิธีการแก๊งโรมานซ์สแกมไม่ใช่ลักษณะคอลเซ็นเตอร์ และมีน.ส.ปวีณา สิงหวิบูลย์ นำชื่อน.ส.ณิชาไปเปิด 5 บัญชี และน.ส.เจรติ หรือแอน สายสิญจน์ ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำโพธิ์แก้ว จ.นครปฐม ก่อนหน้านี้ถูกดำเนินคดีความผิดฉ้อโกง ได้นำชื่อน.ส.ณิชาไปเปิดอีก 4 บัญชี และกำลังขยายผลสอบมีผู้ร่วมกลุ่มนี้มากกว่านี้หรือไม่

          พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า วิธีการของกลุ่มนี้คือให้ผู้ต้องหา 2 รายคือ น.ส.ปวีณา และน.ส.เจรติ ไปหาบัตรประชาชนคนไทยมาให้ได้ แล้วให้ค่าตอบแทน จากนั้นให้นำบัตรประชาชนนี้ไปเปิดบัญชีธนาคาร แล้วเอาเลขบัญชีให้หัวหน้ากลุ่ม แล้วผู้ต้องหาหญิงทั้งสองไม่ทราบแล้วว่าเอาบัญชีธนาคารไปทำอะไร เพราะฉะนั้นวิธีการจะไม่เหมือนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่เป็นลักษณะโรแมนซ์สแกม หลังจากนั้นคนผิวดำจะไปหลอกเหยื่ออีกทีหนึ่งโดยไม่ได้ใช้โทรศัพท์ แต่ใช้ความรัก ความใกล้ชิดพูดคุย บางครั้งใช้เฟซบุ๊กติดต่อเหยื่ออ้างตัวเป็นทหารอเมริกัน ดาราบ้าง เพื่อให้คนหลงเชื่อโอนเงินเข้ามา เท่าที่ตรวจสอบคนผิวดำไม่ใช่กลุ่มใหญ่แต่มีการกระทำผิดต่อเนื่องทั้ง น.ส.ปวีณา และน.ส.เจรติ ได้กระทำความผิดอย่างนี้มาหลายปีแล้ว มีความผิดร่วมกันลักทรัพย์ และวันนี้ (15 ม.ค.) จะตรวจสอบว่านายไซมอนเป็นคนชาติไนจีเรียหรือไม่ แล้วทำไมถือพาสปอร์ตแคเมอรูน ซึ่งนายไซมอนให้การว่าถือ 2 สัญชาติ จะสอบสอนขยายผลเพิ่ม

          ผู้สื่อข่าวถามว่ามีกระแสข่าวว่าน้องชายน.ส.ณิชา ติดต่อนายไซมอนทางเฟซบุ๊ก จริงหรือไม่ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้มีข้อมูลอยู่แล้ว วันนี้จะขยายผลในส่วนนี้ โดยจะตรวจสอบบัญชีการเงิน การใช้โทรศัพท์ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับใคร มีส่วนกระทำความผิดด้วยจะดำเนินคดีหมด เพื่อไขความจริงให้สังคมไม่ให้สับสน เมื่อถามว่าคนสับสนว่า น.ส.ณิชาเป็นแพะ หรือเป็นแกะ กันแน่ กล่าวว่า ตรงนี้ขอตรวจสอบเพื่อความรอบคอบก่อน ยังตอบไม่ได้

          เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 มกราคม ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. แถลงผลการประชุมหารือการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างสถาบันทางการเงิน 36 แห่ง ปปง. ธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมการปกครอง เพื่อทำความเข้าใจกันและกำหนดมาตรการเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมายฟอกเงินอย่างเคร่งครัด

          พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวว่า สำนักงาน ปปง. เชิญธนาคารแห่งประเทศไทยทั้ง 36 แห่ง มาร่วมประชุมเพื่อทำความเข้าใจและกำหนดมาตรการเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายฟอกเงิน โดยกำหนดมาตรการ 3 ข้อหลักคือ 1.ให้เพิ่มความเข้มเกี่ยวกับมาตรการในการแสดงตนและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงของผู้เปิดบัญชีให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดหลักเกณฑ์การแสดงตนของลูกค้านั้นจะต้องแสดงข้อมูลและหลักฐานอย่างน้อย 7 อย่าง ประกอบด้วย 1.ชื่อ-สกุล 2.วันเดือนปีเกิด 3.เลขประจำตัวประชาชน 4.ที่อยู่ตามทะเบียนและที่อยู่ปัจจุบัน 5.อาชีพ สถานที่ทำงาน 6. ข้อมูลการติดต่อ 7.ลายมือชื่อผู้ทำธุรกรรม รวมถึงการตรวจสอบทางกายภาพ อาทิ รูปร่างหน้าตากับหลักฐานต่างๆ ที่นำมาแสดงว่าตรงกันหรือไม่ นอกจากนี้ขอให้สถาบันทางการเงินประสานกับกรมการปกครองเรื่องการติดตั้งโปรแกรมตรวจสอบสถานะของบัตรประชาชนว่าเป็นบัตรที่สามารถใช้ได้อยู่หรือไม่ มีการยกเลิกเพิกถอนหรือแจ้งหายไว้หรือไม่

          พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวต่อว่า 2.ให้สถาบันการเงินกำหนดมาตรการในการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าในความรับผิดชอบ เพื่อทราบข้อเท็จเกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่ยังสอดคล้องกับข้อมูลลูกค้าเจ้าของบัญชีหรือไม่ โดยสถาบันการเงินจะติดต่อไปยังเจ้าของบัญชีตามที่อยู่ที่ปรากฏตามทะเบียนราษฎร เพื่อให้ยืนยันและรับรองสถานะบัญชีดังกล่าว หากเจ้าของบัญชีไม่ยืนยันและรับรองสถานะทางบัญชี สถาบันการเงินจะดำเนินการเฝ้าระวังบัญชีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและประสานมายังสำนักงานปปง. และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

          พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวอีกว่า 3.มาตรการป้องกันปราบปรามการรับจ้างเปิดบัญชี โดยสำนักงานปปง. ร่วมกับสถาบันการเงินตรวจสอบธุรกรรมและบัญชีต้องสงสัยว่าเข้าข่ายเป็นการรับจ้างเปิดบัญชีหรือเป็นบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ ไม่ว่าเป็นกรณีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขบวนการค้ายาเสพติด การพนันออนไลน์หรือความผิดมูลฐานอื่นๆ หากสถาบันการเงินพบว่ามีพฤติการณ์ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือเป็นการรับจ้างเปิดบัญชี สถาบันการเงินจะรายงานมายังสำนักงานปปง. เพื่อขยายผลดำเนินคดีกับเจ้าของบัญชีดังกล่าว จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีบัญชีต้องสงสัยที่เข้าข่ายพฤติการณ์ดังกล่าวกว่า 4,000 บัญชี สำนักงานปปง.จะร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติสืบสวนขยายผลเพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังต่อไป

          “ฝากประชาสัมพันธ์ไปถึงพี่น้องประชาชนบางคนที่อาจถูกหลอกหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอให้รีบติดต่อประสานมายังสำนักงานปปง. โดยเร่งด่วน หรือสามารถแจ้งเข้ามาที่ศปก.ปปง. สายด่วน 1710 นอกจากนี้ขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้บุคคลใกล้ชิดทราบถึงโทษในการรับจ้างเปิดบัญชี หากผู้ใดเคยให้บัญชีธนาคารและให้บัตรเอทีเอ็มกับมิจฉาชีพไปขอให้รีบติดต่อประสานมายังสำนักงานปปง. อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มมิจฉาชีพนำบัญชีดังกล่าวไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดเพราะหากคนร้ายนำบัญชีไปใช้ก็จะต้องถือเป็นผู้มีส่วนในการกระทำความผิดและถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที” รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าว

          รักษาราชการแทนเลขาธิการปปง. กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการตรวจสอบบัญชีกว่า 4,000 บัญชีที่มีความเสี่ยงนั้น สำนักงานปปง. ได้ประสานงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินต่างๆ ให้ตรวจสอบบัญชีที่มีการทำธุรกรรมไม่สอดคล้องกับผู้ทำบัญชี อาทิ การเปิดบัญชีจำนวนหลายบัญชี หรือการนำข้อมูลประจำตัวต่างๆ ไปเปิดบัญชีให้ผู้อื่น ฯลฯ อาจจะเรียกผู้เปิดบัญชีมาสอบปากคำพร้อมทั้งตรวจสอบความเป็นอยู่ของผู้เปิดบัญชีว่ามีความสอดคล้องกับการทำธุรกรรมหรือไม่ หากพบว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงจะนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนขยายผลไปจนถึงกลุ่มมิจฉาชีพ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ