ข่าว

“หมอพรทิพย์”ชี้การตาย“น้องเมย”ต้องปฏิรูปนิติวิทยาศาสตร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“หมอพรทิพย์”ระบุการตาย“น้องเมย”ต้องปฏิรูปนิติวิทยาศาสตร์ ชี้แพทย์พยาธิผ่าศพต้องเก็บอวัยวะดองฟอร์มาลีนไว้ตรวจซ้ำหาเหตุการตาย

 

         23 พ.ย.60 ที่ชั้น 5 อาคารธารทิพย์ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กทม. แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ได้เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง "แผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อความเป็นธรรมและเท่าเทียม” ได้เปิดเผยถึงการตรวจพิสูจน์หลักฐาน หรือเก็บพยานหลักฐานในหลักทางนิติวิทยาศาสตร์ ใน 2 คดีดัง ประกอบด้วย คดีครูจอมทรัพย์ และคดีน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารเสียชีวิต ว่า กรณีของน้องเมยเป็นประเด็นเรื่องของการปฏิรูประบบนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนสอบสวน

         "ดิฉันขอไม่พูดถึงเรื่องคดี แต่ส่วนหนึ่งของคดีจะประกอบด้วย 1.การเสียชีวิตในลักษณะผิดธรรมชาติ เพราะเป็นลักษณะการตายโดยไม่ทราบสาเหตุแบบกะทันหัน 2.เป็นการเสียชีวิตในหน่วยงานของรัฐ 3.ประเด็นสาเหตุของการเสียชีวิต และ 4.การจัดการเกี่ยวกับอวัยวะภายในของศพ ซึ่งประเด็นที่ 4.มีคนสนใจมากที่สุดเรื่องการจัดการกับอวัยวะ"พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าส 

          พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวอีกว่า โดยปกติแล้วแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจชิ้นเนื้ออวัยวะในร่างกายจะเรียกว่าพยาธิแพทย์ โดยแบ่งงานได้เป็น พยาธิกายวิภาค ซึ่งจะตรวจผ่าศพคนไข้ที่เสียชีวิตตามธรรมชาติ คือ โรค กับแพทย์อีกส่วนหนึ่ง คือ พยาธินิติเวช ซึ่งในประเทศไทยจะเป็นนิติเวชเป็นส่วนใหญ่ โดยทั้ง 2 ส่วนจะต้องผ่าศพ แต่แนวทางการจัดการกับอวัยวะนั้นต่างกัน

        พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าอีกว่า พยาธิแพทย์จะผ่าพิสูจน์ และเมื่อไม่ทราบสาเหตุก็จะขอเก็บอวัยวะไว้ตรวจสอบ เมื่อตัดแบ่งส่วนที่ต้องการใช้มาตรวจแล้ว ก็จะนำส่วนที่เหลือดองฟอร์มาลีนไว้ เพื่อใช้ในการตรวจต่อเพิ่มเติมหากยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด ซึ่งตรงนี้โดยส่วนใหญ่ก็จะทำการอธิบายกับญาติ ซึ่งญาติก็จะไม่เอาอวัยวะคืนเพราะไม่อยากให้ศพเน่า

           พญ.คุณหญิงพรทิพย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีนิติเวชจะแตกต่างถ้ามีการผ่าศพจะตอบได้จากการมองด้วยตาเปล่าแล้วผ่าไป สุดท้ายอวัยวะที่เหลือจะต้องคืนศพ ซึ่งการดำเนินการทั้ง 2 อย่างที่พูดไปนั้น ของประเทศไทยยังไม่มีแนวทางกลางเป็นข้อกำหนดที่แต่ละหน่วยงานทำเอาเอง ซึ่งจะอยู่ในเรื่องที่จะพูดถึงการปฏิรูปในวันที่ 24 พ.ย. นี้ 

         “ถ้าเป็นเรื่องนิติเวชแน่นอนว่าอวัยวะต่างๆ จะต้องถูกเก็บเอาไว้เผื่อตรวจสอบซ้ำ หากถามว่าคดีนี้เป็นอย่างไร ฟังจากหน่วยงานเป็นหน่วยงานพยาธิ ไม่ใช่หน่วยงานนิติเวช จึงแสดงว่าอาจคุ้นชินกับกระบวนการผ่าพยาธิกายวิภาค คือ ตรวจแล้วต้องเอาอวัยวะเก็บเอาไว้ เพื่อตรวจใหม่ หรืออาจจะทิ้งไปเลยโดยไม่ได้บอกญาติ ซึ่งคนจะตอบได้ดีที่สุดก็คือคนที่ผ่า เพราะหากเป็นนิติเวชในระยะหลังจะคืนอวัยะหมด เป็นที่รู้กัน แม้จะยังไม่มีข้อกำหนด ซึ่งในกฎหมายกำหนดไว้ว่า ถ้ามีการตายผิดธรรมชาติจะต้องดำเนินการชันสูตรพลิกศพ และไม่ได้บอกด้วยว่าจะต้องผ่า ไม่ผ่า หรือดำเนินการอย่างไร ต้องไปดูระเบียบปฏิบัติ จากนี้ไปทุกๆ หน่วยก็คงเป็นตัวกระตุ้น สำหรับทางสถาบันนิติวิทยาศาตร์พยายามวางระบบตรงนี้เอาไว้ เพื่อให้เกิดแนวทางเดียวกัน” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ อธิบาย

         เมื่อถามว่าสาเหตุของการเสียชีวิตที่ระบุว่าเกิดจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ในเด็กอายุ 19 ปี และแข็งแรงด้วย มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน นั้น   พญ.คุณหญิงพรทิพย์ อธิบายว่า หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ต้องคิดว่าเขาเป็นอะไร เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ อาทิ กรณีไหลตาย หรือมีอะไรไปกระตุ้นให้หัวใจหยุดเต้น ซึ่งเป็นประเด็นได้ทั้งนิติเวชและไม่นิติเวช

          พญ.คุณหญิงพรทิพย์  อธิบายด้วยว่า การไหลตายไม่เป็นนิติเวช เพราะจู่ ๆ หัวใจก็เต้นผิดปกติแล้วก็เฉียบพลัน ที่เป็นประเด็นทางนิติเวชก็คือการกดที่คอ แตะที่ชายโครง บีบที่อัณฑะ จะก่อให้เกิดการกระตุ้นประสาทแล้วไปทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เพราะฉะนั้นจะดูที่หัวใจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปดูในส่วนอื่นๆ ประกอบด้วย กรณีหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในกรณีนี้จึงไม่ใช่การตายโดยธรรมชาติ

           พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการสรุปหมอจะต้องเห็นด้วยตนเอง แต่ตอนนี้ตนบอกได้ตามหลักการแค่ว่ามีรอยช้ำกี่ตำแหน่งแสดงถึงการกระแทกกี่ครั้งเท่าไหร่ แล้วจะต้องไปอธิบายว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ตามหลักนิติเวชถ้ามีรอยช้ำหลายแห่งก็ต้องไปดูว่าเกิดการกระแทรกจากอะไร ส่วนในทางพยาธินิติเวชมีการเสียชีวิตที่ไปกระทบหัวใจอยู่ 2 อย่าง คือ การกระทบโดยตรงบริเวณหน้าอก และ 2.คือการไปบีบหรือกระแทรกตรงก้านคอ ชายโครง หรือบีบอัณฑะ ภาษาแพทย์เรียกว่า การช็อคจากระบบประสาท(Neurogenic shock) ซึ่งจะมองไม่เห็นก้อนเลือดขนาดใหญ่ แต่เป็นเหตุตายได้ ทั้งนี้ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพอสมควร

           พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ย้ำด้วยว่า ตนไม่ขอลงรายละเอียดตามที่ปรากฎเป็นข่าว แต่ในกรณีนี้เป็นเรื่องเชิงระบบ คือ 1.เป็นการตายในหน่วยงาน ไม่ว่าหน่วยงานใดก็ตามไม่ควรให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้ตรวจ ไม่ได้คำนึงว่าเป็นทหารหรือไม่ ในส่วนนี้สหประชาชาติจะกำหนดเมเนโซต้าร์โปรโตคอล และอยู่ระหว่างการผลักดันกันว่า ต่อไปนี้การตายที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหารหรืออะไรก็ตาม ที่อยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องมีหน่วยงานกลางในการตรวจพิสูจน์ 2.ญาติเขาไม่รู้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและไม่สามารถซักถามได้เต็มที่ ทำให้เขาต้องไปหาแหล่งที่ 2 ในการตรวจพิสูจน์ ตรงนี้จะต้องแก้ไข เพราะประชาชนทุกคนมีสิทธิโดยตัวของเขาที่จะเข้าถึงข้อมูล และ3.เรื่องการชันสูตรศพ

         เมื่อถามต่อว่ามีกระแสความกังวลว่าจะมีการนำชิ้นส่วนอวัยวะไปขายต่อมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน   พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ระบุว่า โดยส่วนใหญ่จากประสบการณ์ตั้งแต่ที่เป็นหมอมาจะไม่เกิดในโรงพยาบาล เพราะเป็นขยะติดเชื้อ แต่จะไปเกิดในจุดคนที่รับแล้วนำไปดำเนินการต่อ ซึ่งบางโรงพยาบาลก็จะมีการเผาทำลายเอง แต่ในระยะหลังจะมีเอาท์ซอสเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ หากจำได้เคยมีกรณีการพบขามนุษย์จำนวนมากที่บ่อขยะในจ.สมุทรปราการ ปรากฎว่าคนที่รับจากหน่วยงานไม่ได้นำไปจัดการ แต่กลับนำเอาไปทิ้งไว้เฉยๆ เพราะฉะนั้นกระบวนการการค้าขายมีอยู่ แต่ขึ้นอยู่ว่าจะเป็นอะไรเช่น เด็กทารกแรกคลอดแท้งตาย ส่วนอวัยวะของคนตายหากมีการผ่าพิสูจน์แล้วในทางแพทย์จะไม่สามารถนำไปใช้ได้เลย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ