ข่าว

คป.ตร.จัดเสวนา"ขบวนการส่วยตำรวจไทย หายนะภัยของชาติและปชช."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร) โดยมีนักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมถกวิธีเก็บส่วยตำรวจ ชี้ผลประโยชน์มหาศาลหน่วยงานรัฐเอี่ยวเพียบ!!

         เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 พฤศจิกายน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเสวนาของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร) Police Watch โดยจัดเสวนาหัวข้อ "ขบวนการส่วยตำรวจไทย หายนะภัยของชาติและประชาชน!" ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายธรรมรัตน์ สุวรรณโพธิศรี หรือ โจ้ สปอตไลท์ภูเก็ต ผู้ก่อตั้งและเป็นแอดมินเพจ "Spotlight Phuket" พร้อมตัวแทนผู้ประกอบการที่ถูกเรียกเก็บส่วย  รศ.ดร.สังศิต พิริยรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจและที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ น.ส.สมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ดำเนินรายการเสวนาดังกล่าวโดย นายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ

คป.ตร.จัดเสวนา"ขบวนการส่วยตำรวจไทย หายนะภัยของชาติและปชช."

 

          นายธรรมรัตน์ กล่าวถึงสาเหตุที่เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กรณีส่วยใน จ.ภูเก็ต เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากทนไม่ไหว รวมทั้งตำรวจดี จำนวนมากที่ไม่อยากอยู่ในขบวนการ จึงมอบหมายให้ตนเองเป็นตัวแทนเปิดเผยเรื่องต่างๆ ให้สังคมภายนอกได้รับรู้ และทราบว่าล่าสุดตำรวจจำนวนหนึ่งถูกคำสั่งย้ายพ้นจากพื้นที่

 

        นายธรรมรัตน์ เปิดเผยถึงสาเหตุการเก็บส่วยใน จ.ภูเก็ตว่า มีหลายเรื่อง โดยเฉพาะระบบการเซ้ง หรือสัมปทานตำแหน่งต่างๆ ในโรงพัก ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งในการนำไปสู่การเก็บส่วยเพื่อทดแทนเงินที่เสียไป และรูปแบบการเก็บก็มีพัฒนาการ และมีการบริหารจัดการ ซึ่งจุดแตกหักเกิดจาก พอมีการซื้อตำแหน่งยกแพ็คไว้ 5 สถานี ก็เลือกคนมานั่ง เหมือนการไปเซ้งที่เอาไว้ แล้วหาผู้จัดการสาขาไปนั่ง 5 สถานี แต่ห้ามแตะส่วย เพราะจะมีแม่บ้านไปคอยเก็บ ต่อมาเปลี่ยน ผกก.คนใหม่ มีการคืนตั๋ว ไม่เอาส่วย นั่นคือระเบิดเวลา ที่มีการส่งข้อมูลมาจากผู้ประกอบการ รวมทั้งตำรวจที่ไม่อยากร่วมขบวนการมาให้ตน ซึ่ง 60 เปอร์เซ็นต์เป็นข้อมูลได้จากตำรวจเอง ซึ่งยังมีตำรวจดีเยอะมากที่ไม่อยากทำ ถ้าไม่ทำก็โดนให้ไปโบกรถบนเขา 

"ที่ผมกล่าวหาและถูกแจ้งความว่า มีการซื้อขายตำแหน่ง 5 โรงพัก เดี๋ยวนี้มันเป็นธุรกิจ ซื้อโรงพักเกรดเอ 1.ป่าตอง เดือนหนึ่งเก็บได้แน่ๆ 8-22 ล้าน เฉพาะพื้นที่ ไม่ต้องนับหน่วยอื่น  และหน่วยงานอื่นในพื้นที่จ.ภูเก็ต และยังข้ามไปถึงจ.ระนองและจังหวัดในพื้นที่ตำรวจภูธร9ซึ่ง 5 พื้นที่นี้เหมือนถูกเซ้ง ตรงไหนขายดี ขายไม่ดี ก็ถัวเฉลี่ยกันไป ผมเคยโดนตำรวจระดับลูกน้องล้อมกรอบ ขู่ และแจ้งความ" นายธรรมรัตน์ ยืนยัน

คป.ตร.จัดเสวนา"ขบวนการส่วยตำรวจไทย หายนะภัยของชาติและปชช."

           นายธรรมรัตน์ ระบุอีกว่า ช่วงปี 2553 มีการรวบส่วยของทุกหน่วยมาไว้ตรงกลาง จึงเป็นต้นเหตุทำให้หน่วยอื่นต้องไปเก็บเอง แม้ต่อมานายตำรวจระดับสูงรายหนึ่งย้ายออกไป แต่ขบวนการส่วยก็ยังเดินไปเรื่อยๆ และคนเดินเก็บก็รู้จักคนมากขึ้น บางครั้งมีการขอเหมาประมูลเอง เช่น ส่งให้นายเดือนละ 3 ล้านแต่ขอ 20% พอเศรษฐกิจลง สวนทางกับการเก็บส่วยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนมาสูงมากสุดในปีนี้ ทำให้ผู้ประกอบการทนไม่ไหว หน่วยงานที่เก็บส่วยมากที่สุดคือ พื้นที่ โดยตัวเลขแล้วแต่พื้นที่ สำหรับพื้นที่ป่าตอง ประมาณ 8-22 ล้านบาทต่อเดือน เพราะมาจากหลายสาย เก็บง่ายสุดคือ สถานบันเทิง  ต้องยอมรับว่า ธุรกิจเหล่านี้ก็ทำไม่ถูกกฏหมาย จึงเป็นเหตุให้ต้องจ่าย ข้อมูลที่ได้จากผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ มีหลักฐานเกี่ยวกับการเรียกเก็บผลประโยชน์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มธุรกิจหลัก 3-4 กลุ่ม กลายเป็นแหล่งเก็บส่วย ที่เก็บได้ง่ายที่สุดคือ กลุ่มแรงงานต่างด้าว รองลงมาคือ สถานประกอบการธุรกิจบันเทิง สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ โต๊ะบอล หวย

     "ทุกธุรกิจโดนหมด ที่กินง่ายสุดคือ แรงงานต่างด้าว เพราะภูเก็ตมีเยอะ มีหลายหน่วยที่เข้าไปเก็บ ไม่ต่ำกว่า 5 หน่วยที่โหด เช่น การใช้แรงงานต่างด้าว แคมป์คนงานก่อสร้างที่เคยจ่าย 1,000-1,500 ต่อคนต่อเดือน ตอนนี้เป็น 10,000 ต่อคนต่อเดือน ภูเก็ตใช้มากคือแรงงานเมียนมา ขายของละเมิดลิขสิทธิ์ เก็บเดือนละ 1.5 แสนบาทให้ 33 หน่วย" นายธรรมรัตน์ กล่าวย้ำ และเปิดเผยอีกว่า รูปแบบการหาผลประโยชน์ ยังมีนอกเหนือไปจากเก็บส่วย คือการถือหุ้นธุรกิจ โดยให้นักธุรกิจจีนลงเงินให้ หรือบางธุรกิจก็ถือหุ้นลม เช่น ลงทุนทำเรือสปีดโบท และหาเงินกับนักธุรกิจจีน ให้ตัดยอดนักท่องเที่ยวมาให้

 

นายธรรมรัตน์ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ ไม่มีใครกล้าเก็บส่วยที่ป่าตอง ตำรวจถอยหลังให้ เพราะภาคประชาชนทำให้ถูกกฏหมายมากขึ้น ทั้งแรงงานต่างด้าวที่รัฐบาลผ่อนผันอยู่ ธุรกิจบันเทิงก็ไปเอาข้อเสนอที่เคยเสนอมาเกือบ 10 ปีมาพิจารณา วันนี้ 22 พฤศจิกายน นี้ผู้ว่าฯ ให้ไปรื้อเรื่องโซนนิ่ง จะได้ไปออกใบอนุญาตให้ และตอนนี้มีการผ่อนผันเวลาให้ ตามที่ผู้ประกอบการขอไปตี 4 ซึ่งเรื่องนี้มีการทำวิจัย ทำประชาพิจารณ์เกือบ 20 ครั้ง เพราะที่ป่าตองบริบทเมืองมันเปลี่ยน การขอเพิ่มโซนนิ่ง ขยายเวลาปิดแล้วจะไม่มีส่วย ตอนนี้เขาทำแล้ว

คป.ตร.จัดเสวนา"ขบวนการส่วยตำรวจไทย หายนะภัยของชาติและปชช."

       พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า อยากให้มีสปอร์ตไลท์ ไทยแลนด์ เป็นสปอร์ตไลท์ใหญ่ของประเทศ ไม่เฉพาะภูเก็ต ที่ภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เพราะเรื่องส่วยไม่ได้เดือดร้อนเฉพาะผู้ประกอบการ เพราะสุดท้ายภาระจะตกอยู่กับประชาชนในรูปแบบต่างๆ ทั้งต้นทุนสินค้า ปัญหาสาธารณสุข

จริงๆ ปัญหาส่วยในภูเก็ต มีอีกหลายเวอร์ชั่น เช่น ส่วยรถบรรทุกในป่าตอง ก็เรื่องใหญ่มาก ถนนพังพินาศ คนตายปีละ 1.5 หมื่นคน ที่กรมทางหลวงสร้างใช้งบซ่อมปีละเกือบแสนล้าน  ถ้าเราไม่ปล่อยรถบรรทุกวิ่ง ไม่มีส่วย ใครจะยืนยันได้ว่ารถบรรทุกไม่มีสติกเกอร์ส่วย

         นอกจากนี้ ขอตั้งคำถามต่อ ป.ป.ช. ซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ป.ช.ช. มาตรา 103 ผู้ใดรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท ตั้งแต่มีมาตรานี้ ยังไม่เคยมีใครเคยถูกลงโทษตาม พ.ร.บ.นี้ ทั้งที่รับของเกิน 3,000 กันทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งที่จริง ข้อห้ามอย่างนี้  มีไว้กำราบส่วย

ในฐานะภาคประชาชน ขอตั้งคำถามว่า ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เข้ามาจัดการเรื่องนี้  ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นฐานความผิดทางปกครอง แต่ทุกวันนี้ไปตั้งฐานความผิดทางอาญา มันไม่ถึงหรอก อย่างมากก็ได้แค่คนไปเก็บ ไม่ถึงคนที่รับรายเดือน

 

 จากปัญหานี้ บางคนอาจจะมองว่า มันมืดมน นอกจากการสอบสวน ลงโทษ ย้าย จริงๆ แล้ว ในวงการตำรวจรู้กันว่า เล่นไปตามเพลง ไม่ได้มีนัยสำคัญในการแก้ปัญหาแท้จริง ถ้าจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องแก้ปัญหาในเชิงระบบ

       อีกข้อสังเกต คือ เวลาปัญหาเกิดในระดับภูมิภาค  ผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ แม้แต่ฝ่ายปกครองเมื่อเข้าไปร่วมจับก็จะถูกแจ้งความกลับเรื่องการเปิดเผยข้อมูล นี่ก็เป็นปัญหา คือสิ่งที่เราเรียกร้องให้ปฏิรูประบบงานสอบสวน

 

        รศ.ดร. สังศิต กล่าวว่า องค์กรตำรวจ จากมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ เป็นองค์กรทำหน้าที่การตลาด มีการซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้น หลายองค์กร ทำไมถึงเกิดที่ตำรวจ ส่วยไม่ใช่เพิ่งเกิด ปัญหาของตำรวจไม่ใช่ปัญหาในตัวเอง ระบบ โครงสร้าง บุคคล แต่องค์กรตำรวจยังไปทำให้หน่วยงานอื่นที่ไปเกี่ยวข้องมีปัญหาอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นด้วย เช่น พ.ร.บ.ต่อต้านการฟอกเงิน กรณีทัวร์ศูนย์เหรียญ ไม่ได้มีสำหรับภาคธุรกิจเอกชน แต่ครอบคลุมไปถึง เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และรัฐบาลด้วย แต่ถูกใช้กับเอกชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กฎหมายนี้ไม่ได้กับเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาล

       นางสาวสมศรี กล่าวว่า  เชื่อว่าปัญหาส่วย คงมีทุกแห่งที่มีสถานที่ท่องเที่ยว ประชาชนควรรวมตัวกันสู้ เพื่อทำให้ตำรวจอยู่ในร่องในรอยให้ได้ เวลาใครออกมาพูดปกป้องสิทธิของพื้นที่ตัวเองถูกฟ้องหมิ่น ทำให้คนไม่กล้า กรณีนายธรรมรัตน์ เป็นตัวอย่างที่ดีที่กล้าออกมา  หลายประเทศเริ่มพูดว่า ลักษณะแบบนี้ ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะทำไมต้องถูกฟ้อง มันมีกฎหมายปิดปากประชาชน ที่หลายประเทศพูดถึงว่า ถ้าภาคประชาชนออกมาพูด ควรมีกฏหมายคุ้มครอง

 ทุกวันนี้ คำที่เราค้นหาทางอินเตอร์เน็ต พอพิมพ์ รีดไถ ส่วย จะมีข้อมูลเกี่ยวกับตำรวจออกมาจำนวนมาก แทบไม่ซ้ำ มีหลักฐาน เป็นข่าว เป็นภาพ จะเห็นว่าตำรวจหรือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ไทย อาการหนักแล้ว แม้ตำรวจดีมีเยอะก็จริง แต่เมื่ออยู่ในวงการก็ถูกครอบงำมาตลอด ทำให้ไม่กล้าหือ เราจะทำอย่างไร ให้การปฏิรูปตำรวจเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เรารณรงค์มาครึ่งปีแล้ว จะไปยังไงต่อ

 เชื่อว่า เรายังมีตำรวจดีๆ ที่อยากจะปฏิวัติวงการนี้ แต่จะทำอย่างไรให้เขาพูดออกมา พยายามกระตุ้น แต่วงการนี้ ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ตำรวจก็กดขี่ข่มเหงพวกเดียวกัน จนตำรวจชั้นผู้น้อยต้องยอมทำ

 เราจะอยู่กันแบบนี้ไม่ได้แล้ว เราต้องลุกขึ้นสู้ ต้องยุให้มีคนอย่างนายธรรมรัตน์ออกมา อยากทำความเข้าใจการปฏิรูปตำรวจที่เราเรียกร้อง ดูเหมือนนายกฯ ก็ไม่เข้าใจ รองนายกฯก็ไม่เข้าใจ ทั้งที่ก็รู้ว่า ใครเป็นอุปสรรค ถึงเวลาต้องทำเพื่อประชาชนได้แล้ว ไม่ใช่ทำเพื่อตำรวจ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ