ข่าว

6แกนนำคปพ.ถูกรวบ ไม่ยอมเซ็นรับผิดพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตำรวจรวบ 6 แกนนำคปพ.ชุมนุมหน้าสภา ไม่ยอมเซ็นรับข้อหาผิดพ.ร.บ.ชุมนุมที่สาธารณะ พร้อมเรียกร้องรัฐบาล 4 ข้อ

      จากกรณีกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ตัดสินใจเคลื่อนขบวนจากหน้ารัฐสภาไปทางพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อไปยื่นหนังสือคัดค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวแกนนำมาพูดคุยทำความเข้าใจ และดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.การชุมนุมที่สาธารณะ

      วันนี้ (30มี.ค.) เวลา 19.30 น. ที่ สน.ดุสิต พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.ส.4 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คสช. ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับแกนนำ คปพ.

     พล.ต.อ.ศรีวราห์ เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้จับกุมแกนนำ 6 คน ประกอบด้วย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี นายสรรพฤทธิ์ สันต์ทัศน์ธาร นายชัยวัฒน์ เตชะสิพันธุ์ นางศรีจันทร์ หงษ์พานิช น.ส.ประไพ วรากรณ์ และนายพีรพล พัฒนจิตวิไล ในข้อหาร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระราชวัง วังของพระรัชทายาท หรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป ประทับหรือพำนัก โดยฝ่าฝืนกฎหมาย โดยจับกุมบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน แขวงและเขตดุสิต กทม. เมื่อเวลา 17.00 น. นอกจากนี้ได้รวบรวมพยานหลักฐานยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งให้ออกคำสั่งบังคับ โดยได้กล่าวหากลุ่มบุคคลเพิ่มเติมกว่า 10 คน 

     ส่วนกรณีที่กลุ่มคปพ.อ้างว่าได้มีหนังสือขออนุญาตชุมนุมก่อนหน้าแล้ว พล.ต.อ.ศรีวราห์ ยืนยันว่า ตามกฎหมายมาตรา 7 จะให้ชุมนุมไม่ได้ เพราะห่างเขตพระราชฐาน 150 เมตร จึงห้ามไม่ให้มีการชุมนุมโดยเด็ดขาด อย่างไรก็อนุญาตไม่ได้จึงต้องมีการจับกุมดังกล่าว

      ด้าน พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าวว่า จากกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ลงมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่..)พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม(ฉบับที่..)พ.ศ. ... ทางเครือข่าย คปพ.และภาคประชาชน ได้คัดค้านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะไม่ได้ฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน โดยมิได้แก้ไขปัญหาในพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ.2514 ทำให้ประเทศไม่อาจได้รับประโยชน์จากทรัพยากรของแผ่นดินได้อย่างเต็มที่ แต่เอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนมากกว่า ซึ่งการรวมกลุ่มในวันนี้ มีข้อเรียกร้องหลัก 4 ข้อ ดังนี้

      1.หยุดการให้สิทธิผลิตปิโตเลียมทุกแหล่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งเอราวัณ และบงกชจนกว่าจะจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้แล้วเสร็จ 2.ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้มีมติครั้งที่ 4/2559 (ครั้งที่ 9) เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ก.ย. 2559 ว่าในกรณีแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตก๊าซธรรมชาติสูงถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย ให้ใช้วิธีประมูลแข่งขัน แต่ในกรณีนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะแข่งขันผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด หรือใช้วิธีประมูลแข่งขันโดยใช้ดุลยพินิจให้คะแนนเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ ดังนั้นเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ขอให้ยืนยันว่าจะใช้วิธีประมูลผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเท่านั้น

     3.แก้ไขกฎหมายพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ให้สอดคล้องกับรายงานผลการพิจารณาศึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ 4.ให้มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบใช้มาตรการป้องกันห้ามมิให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมของข้าราชการในกระทรวงพลังงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน

     ทั้งนี้ พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามหลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวมาที่สน.ดุสิต ทางกลุ่มที่ถูกเชิญตัวมาจะไม่เซ็นชื่อรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ