ข่าว

ระวัง 17 มือฉกหนังสือ...เจ๊งปีละ 300 ล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใครจะรู้ว่ายังมีมิจฉาชีพอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ตั้งแก๊งขึ้นมาออกล่าหนังสือโดยเฉพาะ สร้างความเสียหายแก่ร้านหนังสือทั่วประเทศ เป็นวงเงินสูงถึงปีละ 300 ล้านบาท บริษัทซีเอ็ดจึงงัดมาตรการเชิงรุกด้วยการติดประกาศหมายจับ 17 บุคคลอันตราย พร้อมกับตั้งฉายาแรงๆ ให้ผู้คนจด

 แผ่นโปสเตอร์สีขาวขนาด 17x24 นิ้ว ที่ติดหราอยู่หน้าสต็อกหนังสือในร้านซีเอ็ดทั่วประเทศ สะดุดตาจนต้องหยุดมอง ทำให้รู้ว่าเป็นประกาศจับบุคคลอันตราย ที่มีพฤติกรรมขโมยหนังสือภายในร้านหนังสือต่างๆ ทั่วประเทศ และแผนกป้องกันการสูญเสียได้ประสานงานกับตำรวจ ออกหมายจับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีการสืบสวนไล่ล่าอยู่ หากใครพบผู้ต้องสงสัยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการขโมยเกิดขึ้น ให้ประสาน รปภ.จับกุมได้ทันที แล้วแจ้งแผนกป้องกันการสูญเสีย (แอลพีดี) เพื่อประสานตำรวจดำเนินคดีต่อไป

 ภาพใบหน้าบรรดาหัวขโมยหนังสือถูกก๊อบปี้มาจากกล้องวงจรปิด เห็นได้อย่างชัดเจนแบ่งเป็น 4 แก๊งใหญ่ ได้แก่ "แก๊งสามช่า" ตระเวนขโมยทั่วประเทศ เน้นพื้นที่ย่านบางแค บางใหญ่ นนทบุรี เพชรเกษม มีนายวิชัย  (เป็ด) เป็นหัวหน้าแก๊ง สมุนมือขวาชื่อเนตรและอนันต์เดช หรือป้อม ซึ่งเคยถูกตำรวจจับกุมมาแล้วครั้งหนึ่ง

 "แก๊งลุงป้ามหาภัย" ตระเวนขโมยทั่วประเทศ มี น.ส.ลักษณา ฉายาป้ามหาภัยและลูกสมุนฉายาลุงมหาโจร ส่วน "แก๊งไอ้หยาอาตือ" ก็ตระเวนลงมือไปทั่วประเทศ ฉายาอาตือได้มาเพราะรูปร่างอ้วน สวมแว่น ชอบใส่เสื้อซาฟารีสีดำ หรือแต่งกายคล้ายอาเสี่ย มีลูกสมุนฉายาพระเอกตัวเห้ แต่งกายดีเหมือนนักธุรกิจ ใส่เสื้อเชิ้ตผูกไทสวมทับด้วยเสื้อนอก ชอบเดินล้วงกระเป๋า หรือทำทีเป็นคุยโทรศัพท์มือถือ ด้าน "แก๊งตะกวดบก" ก็ตระเวนขโมยไปทั่วประเทศ แต่จะเน้นแถบภาคอีสานเสียเป็นส่วนใหญ่ มีนายสุมิตร ลูกสมุนฉายาตะกวดศักดิ์ เป็นชายวัยกลางคนรูปร่างท้วม หัวเถิก

 นอกจากนี้ ยังมีบรรดาโจรฉายเดี่ยวอีก 8 ราย ได้แก่ นายพูนศักดิ์ ฉายา "แต๋วควายเหล็ก" ก่อคดีย่านนนทบุรี เพชรเกษม, ชายสูงอายุหัวล้าน ใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นตัวใหญ่ สวมรองเท้าแตะหูหนีบ ตระเวนขโมยในภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.พิษณุโลก จึงได้รับฉายา "ไอ้แก่ใกล้ฝั่ง" นายธนรัฐ ฉายา "ไอ้มึน" ก่อคดีที่งามวงศ์วาน, ส่วนที่ก่อคดีทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ นายชูชาติ ฉายา "ตี๋หล่อจอมซุก" นางพัชรินทร์ ฉายา "กิ้งก่าทมิฬ" นายสมบัติ ไว้ผมยาวทรงแมนจูเลยได้ฉายา "กะเทยควาย" นางศรัญญา ฉายา "วรนุชยักษ์" และนายนฤนาถ ฉายา "ไอ้เปรต" ก่อคดีแถวกรุงเทพฯ และภาคตะวันออก

 "อวิโรธน์ ชุติวโรภาส" ผู้จัดการแผนกป้องกันการสูญเสีย ควบคุมดูแลงานด้านคดีความ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า ผู้ที่ปรากฏอยู่ในประกาศจับส่วนใหญ่เคยถูกจับดำเนินคดีมาแล้ว แต่เป็นคดีลหุโทษแค่ปรับ 1,000 บาท จำคุกไม่เกิน 4 เดือน บางคนก็รอลงอาญา ยอมรับว่าเป็นคนกลุ่มน้อยที่ขโมยหนังสือภายในร้าน แต่เป็นหัวขโมยระดับหัวกะทิ ทำความเสียหายอย่างมหาศาล หากคนหนึ่งขโมยวันละ 30-40 เล่ม เล่มละ 200 บาท 25 วันก็ตกราวๆ ปีละ 2.5 ล้านบาท โดยหนังสือขายดี (Best Sellers) วรรณกรรมแปล และหนังสือจากสำนักพิมพ์แจ่มใส มักจะถูกขโมยมากที่สุด

 "คนพวกนี้เดินเข้าร้านหนังสือบ่อยยิ่งกว่าพนักงานประจำเสียอีก อย่างแก๊งสามซ่านายอนันต์เดชเคยถูกจับกุมแล้วรับสารภาพว่า ได้ค่าจ้าง 700 บาทจากนายวิชัย บางรายเวลาถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วก็จะออกมาทำอีก อย่างสุมิตรคนนี้มีหมายจับคดีขโมยหนังสืออยู่ 5 หมายจับ นายพูนศักดิ์เพิ่งออกจากคุกแค่วันเดียวก็เข้ามาขโมยหนังสืออีก" อวิโรธน์ กล่าว

 สำหรับการตั้งชื่อแก๊งและฉายาด้วยคำแรงๆ นั้น อวิโรธน์ได้แนวคิดมาจากสื่อที่ตั้งฉายาดาราหรือนักการเมือง เวลามีฉายาแล้วช่วยให้จดจำได้ง่ายขึ้น โดยจะตั้งชื่อตามลักษณะของหัวขโมย และผลจากการติดประกาศจับ ทำให้หัวขโมยขยาดไม่กล้าเข้ามาขโมยหนังสือ ทำให้ยอดขโมยหนังสือของบริษัทลดลงเหลือเพียงแค่ 20 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีพลเมืองดีโทรศัพท์มาคอยแจ้งเบาะแสคนร้ายมาอีกด้วย

 ก่อนหน้านี้ "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เคยรายงานภาพรวมของความสูญเสียทางด้านธุรกิจจากกลุ่มมิจฉาชีพ ที่ตระเวนขโมยหนังสือตามร้านค้าต่างๆ ไปขายต่อยังร้านรับซื้อหนังสือรองรับหัวขโมยเหล่านี้ เมื่อปี 2550 มีหนังสือในท้องตลาดสูญหายไปมากกว่า 3% คิดเป็นเงิน 300 ล้านบาทของยอดขายหนังสือทั้งหมด 

 ในส่วนบริษัทซีเอ็ดมีหนังสือหายเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2545 มีหนังสือหายไป 0.8% พอมาปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 1.6% คิดเป็นเงินประมาณ 50 ล้านบาท ที่สำคัญจากสถิติพบว่าหัวขโมยที่จับได้เป็นคนหน้าเดิมๆ ที่เคยจับได้ก่อนหน้านี้ บางคนทำผิดลักษณะเดียวกันซ้ำถึง 4 ครั้งในพื้นที่แตกต่างกันไป โดยไม่เกรงกลัวบทลงโทษทางกฎหมาย แถมพูดจาเย้ยหยันว่าหากหลุดออกไปจะขโมยหนังสือให้ได้มากกว่าจำนวนที่ถูกปรับเสียอีก

 สำหรับปลายทางของหนังสือที่ถูกขโมยจากร้านชั้นนำทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล มักจะถูกส่งไปขายตามร้านหนังสือมือสอง และตลาดมืดตามออเดอร์ เช่น ตลาดนัดจตุจักร หรือตามแผงขายหนังสือกลางคืน พ.ต.อ.ปิยะพงษ์ ผลวนิชย์ ผกก.สน.บางซื่อ ซึ่งดูแลพื้นที่ตลาดนัดสวนจตุจักร กล่าวว่า ส่วนที่ขายหนังสือเก่า หนังสือมือสอง แหล่งที่ซื้อหนังสือราคาถูกของเยาวชน ไม่ค่อยได้เข้าไปตรวจสอบ เพราะไม่เคยมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ จึงไม่สามารถดำเนินคดีได้ หากกระทำโดยไม่มีผู้เสียหายก็จะถูกกล่าวหาว่ารังแกผู้ค้าหนังสือเก่าอีก และจะยินดีหากร้านหนังสือที่ได้รับความเสียหายจะประสานขอความร่วมมือมา

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ