ข่าว

อาลัย‘ยิ่งยศ อุดรพิมพ์’ตำนานการเมืองแห่งตักสิลานคร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาลัย‘ยิ่งยศ อุดรพิมพ์’ตำนานการเมืองแห่งตักสิลานคร

             นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงของตระกูลการเมือง “อุดรพิมพ์” แห่งเมืองมหาสารคาม เมื่อเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินฝึกบินขนาดเล็กแบบไดมอนด์ 42 ตกที่บริเวณทุ่งนาบ้านโคกก่อง ต.โพธิ์ตาก อ.เมือง จ.นครพนม มีผู้เสียชีวิต 3 คน หนึ่งในนั้นมีชื่อ ดร.ยิ่งยศ อุดรพิมพ์ หรือ “ดร.ไก่” รวมอยู่ด้วย

             ก่อนประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก วันที่ 1 มิถุนายน 2559 “ยิ่งยศ” เดินทางไป จ.นครพนม เพื่อส่งหลานชาย ดร.พัฒนพันธ์ วันจันทึก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม และตอนค่ำได้ไปพบปะกับ สมชอบ นิติพจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม

             รุ่งขึ้น (2 มิถุนายน) “ยิ่งยศ” ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรแห่งชาติ (ประธานบอร์ด กฟก.) จำเป็นต้องไปร่วมงานวันเกษตรกรแห่งชาติที่ทำเนียบรัฐบาล จึงใช้เครื่องบินของวิทยาลัยการบินนานาชาตินครพนม เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพราะรอเที่ยวบินปกติคงไปไม่ได้ ซึ่งกลายเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของชายวัย 54 ปี

             “ยิ่งยศ” เป็นทายาท “ผดุงศักดิ์ อุดรพิมพ์” อดีต ส.ส.มหาสารคาม และเป็นเจ้าของโรงแรมวสุ มหาสารคาม ที่มีอายุยาวนานถึง 35 ปี เขาแต่งงานกับ “คมคาย” ลูกสาว “ลำพอง พิลาสมบัติ” อดีต ส.ส. และ ส.ว.นครราชสีมา นอกจากธุรกิจโรงแรมของตระกูล “ยิ่งยศ” ยังประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างทั่วราชอาณาจักร

             ส่วนประวัติทางการเมืองของยิ่งยศนั้น เริ่มต้นที่สมาชิกสภาจังหวัด และก้าวขึ้นเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม (นายก อบจ.มหาสารคาม) 4 สมัย เรียกว่าคร่ำหวอดกับการบริหารงานใน อบจ.มหาสารคาม มานาน จนอาจกล่าวได้ว่า “อบจ.เป็นบ้านหลังที่ 2” ของยิ่งยศ

             แม้ว่ายิ่งยศจะมีขุมกำลังที่เป็น ส.อบจ. และอบต. กุมฐานเสียงการเมืองท้องถิ่นไว้แน่นปึ้ก แต่เขาก็ไม่ประสบผลสำเร็จในเส้นทางการเมืองระดับชาติ

             ปี 2548 ยิ่่งยศส่งภรรยา “คมคาย อุดรพิมพ์” ลงสมัคร ส.ว.ก็พ่ายแพ้แบบฉิวเฉียด และในการเลือกตั้งผู้แทนฯ 23 ธันวาคม 2550 “คมคาย” ลงสมัคร ส.ส.เขต 1 มหาสารคาม ในสีเสื้อพรรคเพื่อแผ่นดิน แต่ทานกระแสทักษิณไม่ไหว พ่ายผู้สมัครพรรคพลังประชาชน
            
             การเลือกตั้งซ่อมปี 2553 ยิ่งยศส่งภรรยา “คมคาย” ลงสนามโดยเปลี่ยนสีเสื้อมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย ต่อกรกับ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ค่ายเพื่อไทย ผลปรากฏว่า ค่ายอุดรพิมพ์พ่ายไปตามระเบียบ

             มาถึงการเลือกตั้งผู้แทน 3 กรกฎาคม 2554 ยิ่งยศสวมเสื้อภูมิใจไทยลงสนามเองในสนามเขต 5 มหาสารคาม วัดฝีมือกับกุสุมาลวตี ศิริโกมุท และพ่ายกระแสยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์ไปอีกครั้ง

             แต่ในปีเดียวกัน ยิ่งยศมาแก้ตัวได้จากการส่ง “คมคาย” ลงสมัครชิงตำแหน่งนายก อบจ.มหาสารคาม และได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น

             ภาพการทำงานใน อบจ.มหาสารคาม ก็จะเห็น “คมคาย” นายก อบจ. เดินเคียงข้าง “ยิ่งยศ” ในฐานะประธานคณะทำงาน อบจ.มหาสารคาม แทบทุกงาน

             จากปรากฏการณ์ “ชนะสนามท้องถิ่น แต่พ่ายสนามผู้แทน” ทำให้ “ดร.ไก่” อดีตนายก อบจ.มหาสารคาม 4 สมัยต้องคิดหนักว่า อนาคตการเมืองข้างหน้าจะเลือกเส้นทางไหน? เพราะหากลงสนาม ส.ส. ก็ไม่แคล้วพ่ายแพ้กระแสทักษิณ-ยิ่งลักษณ์อีก

             ปีที่ผ่านมา “ดร.ไก่” ตัดสินใจเบนเข็มสู่สนามเลือกตั้ง “ผู้แทนเกษตรกร” โดยคนใกล้ชิดหลายคนก็งุงงงว่า ทำไมเลือกเล่นสนามนี้

             เมื่อนักการเมืองเก๋าเกมลงสนาม จึงทำให้ จ.ดมหาสารคาม เป็นแชมป์ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และผู้ชนะเลือกตั้งคือ ยิ่งยศ อุดรพิมพ์ ได้ 46,058 คะแนน ซึ่งผลคะแนนได้นำไปรวมกันที่ จ.ขอนแก่น เพื่อสรุปยอดออกมาเป็นภูมิภาค โดยมหาสารคามอยู่ในภูมิภาคที่ 3 ของ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีผู้แทนเกษตรกรได้ 7 คน และในที่สุด “ยิ่งยศ” ได้เป็น 1 ใน 7 ของผู้แทนเกษตรกรภาคอีสาน

             กล่าวสำหรับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่จัดตั้งขึ้นมาตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 และแก้ไขปี พ.ศ.2544 ยิ่งยศที่มากประสบการณ์การเมือง เพียงก้าวเข้ามาในอาณาจักร กฟก.ไม่นานก็ยึดกุมฐานเสียงชาวนาไว้ได้ทั้ง 4 ภาค

             เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ กฟก. ได้ลงนามตั้งคณะกรรมการบริหาร กฟก. 7 คน ปรากฏว่า ยิ่งยศ อุดรพิมพ์ อดีตนายก อบจ.มหาสารคาม ได้เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร กฟก.

             การเข้ามาเป็นประธานบอร์ดบริหาร กฟก.ของยิ่งยศ ทำให้เหล่าจอมยุทธ์ชาวนาจับกลุ่มวิจารณ์กันหนาหู ว่านักการเมืองรายนี้เข้ามาสู่อาณาจักร กฟก. ด้วยเหตุผลใดกันแน่

             แหล่งข่าวในมหาสารคามเปิดเผยว่า การจากไปอย่างกะทันหันของ “ยิ่งยศ” ส่งผลสะเทือนอย่างสำคัญต่อฐานที่่มั่นทางการเมืองระดับท้องถิ่น เพราะใครก็ทราบดีว่า ยิ่งยศคือ “นายก อบจ.ตัวจริง”

             เมื่อไร้เงา “ดร.ไก่” ก็เชื่อว่าบรรดา ส.อบจ.มหาสารคามส่วนใหญ่ที่ยังภักดีต่อ “ค่ายอุดรพิมพ์” อาจต้องแปรเปลี่ยนไปตามกระแสการเมือง

             จะอย่างไรก็ตาม หาก “ยิ่งยศ อุดรพิมพ์” ไม่มีบารมีจริง คงไม่ยึดกุมเก้าอี้นายก อบจ.มาครองถึง 5 สมัย (ยิ่งยศ 4 สมัย คมคาย 1 สมัย) จึงสมควรยกให้เป็นตำนานการเมืองท้องถิ่นแห่งตักสิลานคร 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ