ข่าว

ซ้ำรอยปี41?จับ‘ธัมมชโย’คดีฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘ซ้ำรอยปี41?จับ‘ธัมมชโย’คดีฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่น : โดยโอภาส บุญล้อม

             26 พฤษภาคม เป็นวันครบกำหนด ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ขีดเส้นให้ พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย มามอบตัวเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับของศาลอาญา ในข้อหา สมคบฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร กรณีรับเช็คจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 
   
             แต่ในกรณีที่ “พระธัมมชโย” ไม่ยอมมามอบตัวแต่โดยดี ทาง “ดีเอสไอ” ได้มีการวางแผนไว้ว่า จะนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวพระธัมมชโยตามหมายจับศาลอาญาและดีเอสไอจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน เพราะมีพฤติการณ์หลบเลี่ยงไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และหลังการจับกุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนจะนำตัวพระธัมมชโยไปฝากขังที่ศาลอาญาเพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ โดยพระธัมมชโยต้องไปยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล ซึ่งในกรณีที่ไม่ได้ประกันตัว ก็ต้องขาดจากความเป็น “พระ” ทันที
   
             เหตุการณ์ในครั้งนี้ ช่างคล้ายกับในปี  2541...“วงล้อประวัติศาสตร์” กำลังจะหมุนซ้ำรอยอีกครั้งหรือไม่
   
             ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ปี 2541  พระอดิศักดิ์ วิริยสักโก อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย ได้ออกมากล่าวหา “พระธัมมชโย” ว่า ยักยอกเงินและที่ดินที่บรรดาญาติโยมบริจาคให้วัด และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ใกล้ชิดสีกาและอวดอุตริมนุสธรรม ซึ่งต่อมากรมที่ดินได้สำรวจพบ “พระธัมมชโย” มีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินและบริษัทที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายกว่า 400 แปลง เนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ ใน จ.พิจิตร และ จ.เชียงใหม่
  
             หลังจากนั้น นายวรัญชัย โชคชนะ แกนนำกลุ่มพุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวหาว่า พระธัมมชโยทำผิดกฎหมายอาญา ฐานหลอกลวงผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและฉ้อโกงทรัพย์ที่มีผู้บริจาคให้วัดไปเป็นของตัวเองและพวก
    
             ด้าน พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ในฐานะเจ้าคณะภาค 1 ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม (มส.) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องทั้งหมด ขณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้มีพระลิขิตให้พระธัมมชโยคืนที่ดินและทรัพย์สินขณะเป็นพระให้วัดพระธรรมกาย
   
             ต่อมา มส.มีมติให้วัดพระธรรมกายปฏิบัติตามคำวินิจฉัย 4 ข้อของเจ้าคณะภาค 1 ที่สรุปไว้หลังตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้แก่ ให้ปรับปรุงแนวทางคำสอนของวัดพระธรรมกายว่า นิพพานเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา และยุติการเรี่ยไรเงินนอกวัด เป็นต้น ส่วนคดีทางโลกนั้นให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเป็นฝ่ายดำเนินการต่อไป
    
             หลังจากผู้เกี่ยวข้องพยายามให้พระธัมมชโยคืนที่ดินและเงินบริจาคแก่วัดพระธรรมกาย แต่ไม่สำเร็จ กรมการศาสนาจึงได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวโทษพระธัมมชโยในคดีอาญา มาตรา 147 และ 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
  
             ต่อมากองปราบปราม ได้นำกำลังคอมมานโดไปล้อมจับพระธัมมชโยที่วัดพระธรรมกาย แต่ก็มีบรรดาลูกศิษย์ รวมตัวกันเป็น “โล่มนุษย์” ออกมาป้องกันจนกองปราบปรามต้องถอยกลับ สุดท้าย รมว.ศึกษาธิการในขณะนั้น ต้องขอหารือกับสมเด็จฯ วัดชนะสงคราม ซึ่งเป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลางและเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งกำกับดูแลวัดพระธรรมกาย

             จนกระทั่งสมเด็จฯ วัดชนะสงคราม ต้องมีบัญชาเด็ดขาดว่า ถ้า “พระธัมมชโย” ไม่มามอบตัวต้องสึก ทำให้ “พระธัมมชโย” ยอมมามอบตัว แต่ก็มีเงื่อนไขกับพนักงานสอบสวนว่า มอบตัวแล้วต้องให้ประกันทันทีภายในวัดชนะสงคราม  ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ต้องยอมตาม
   
             3 ตุลาคม  2542 อัยการสั่งฟ้องพระธัมมชโยกับพวก  2 ข้อหา คือ เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ แต่พระธัมมชโยอ้างว่าไม่สบาย ไม่มามอบตัว อัยการจึงส่งแพทย์โรงพยาบาลตำรวจไปตรวจถึงที่วัด ปรากฏว่า อาการปกติ

             13 พฤศจิกายน  2542  พระธัมมชโยเข้ามอบตัวต่ออัยการและได้ประกันตัวไป
   
             ต่อมาอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลในปีเดียวกัน  แต่ขณะที่คดีดำเนินไปตั้งแต่ปี 2542 จนถึงเดือนสิงหาคม 2549 เกือบ 7 ปีเต็ม ซึ่งมีการสืบพยานไปแล้วกว่า 100 นัด เหลือเพียงการสืบพยานจำเลยอีก 2 นัด ก็จะเสร็จสิ้นการสืบพยานในชั้นศาล ปรากฏว่าได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่อจู่ๆ พนักงานอัยการ ได้ขอถอนฟ้องจำเลย คือ พระธัมมชโย และนายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์คนสนิท ที่ร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกายจำนวน 6.8 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร และนำเงินอีกเกือบ 30 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินกว่า 900 ไร่ ใน ต.หนองพระ (จ.พิจิตร) และที่ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้นายถาวรเช่นกัน  โดยอัยการได้ขอถอนฟ้องเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2549 ก่อนหน้าจะถึงวันที่ศาลนัดสืบพยานจำเลย 2 นัดสุดท้าย แค่ 2 วัน ซึ่งศาลอาญาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้
  
             ทั้งนี้ อัยการสูงสุด ให้เหตุผลในการขอถอนฟ้องว่า  "บัดนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พระธัมมชโยกับพวก ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎกและนโยบายของสงฆ์แล้ว ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกิจการของศาสนาทั้งของคณะสงฆ์ ภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก ส่วนเรื่องทรัพย์สิน พระธัมมชโยกับพวกก็ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ทั้งที่ดินและเงินกว่า 959 ล้านบาท คืนแก่วัดพระธรรมกายแล้ว ดังนั้น การกระทำของพระธัมมชโยกับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ ครบถ้วนทุกประการแล้ว ประกอบกับขณะนี้บ้านเมือง ต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า จึงเห็นว่า หากดำเนินคดีพระธัมมชโยกับพวกต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักร โดยเฉพาะพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั้งในและต่างประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากนี้การดำเนินคดีต่อไปยังไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องพระธัมมชโยกับพวก
    
             ผลจากการที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ถอนฟ้องพระธัมมชโยกับพวกในคดีดังกล่าว และศาลอาญาอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ ยังส่งผลให้อีก 3 คดีที่เหลือที่พระธัมมชโยกับพวกถูกฟ้องฐานยักยอกทรัพย์ ซึ่งอัยการอยู่ระหว่างรอการสั่งคดี ต้องมีอันยุติและล้มเลิกไปด้วย โดยอ้างว่า เมื่ออัยการสูงสุดมีนโยบายให้ถอนฟ้อง พนักงานอัยการก็ต้องมีความเห็นให้ยุติการสั่งคดีทั้ง 3 คดีไว้ เนื่องจากการดำเนินคดีจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
    
             สำหรับ 3 คดีดังกล่าว ได้แก่ 1.คดีที่พระธัมมชโย, นางกมลศิริ คลี่สุวรรณ และนายมัยฤทธิ์ ปิตะวนิค ลูกศิษย์คนสนิท ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันเบียดบังเงินวัดพระธรรมกายกว่า 95 ล้านบาท ไปซื้อที่ดิน
    
             2.คดีที่พระธัมมชโย, นางสงบ ปัญญาตรง, นายมัยฤทธิ์ ปิตะวณิค และนายชาญวิทย์ ชาวงษ์ ลูกศิษย์คนสนิท ตกเป็นผู้ต้องหาเบียดบังเงินวัด กว่า 845 ล้านบาท
   
             3.คดีที่พระธัมมชโย ร่วมกับนายเทิดชาติ ศรีนพรัตน์, นายมัยฤทธิ์ ปิตะวณิค และนางอมรรัตน์ สุวิพัฒน์ หรือ “สีกาตุ้ย” ลูกศิษย์คนสนิท ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารและสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
   
             ทั้งนี้ ช่วงที่ี่อัยการขอถอนฟ้องคดี เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยก่อนหน้าที่อัยการจะถอนฟ้องคดีเพียงเดือนเศษ รัฐมนตรีมหาดไทยในขณะนั้น ได้ใช้สถานที่วัดพระธรรมกาย จัดงานระดมเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 80,000 คน มาร่วมงาน ซึ่งมี “ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานและกล่าวปาฐกถา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ชุมนุมขับไล่ “รัฐบาลทักษิณ”

             แต่มารอบนี้ คดีพระธัมมชโย “ฟอกเงิน-รับของโจร” สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะเดินต่อไปอย่างไร...หากบุกไปจับกุมจะเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง...ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ