ข่าว

ยกคำร้องถอนหมายจับ‘ธัมมชโย’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอาญายกคำร้องทนายวัดพระธรรมกายขอถอนหมายจับ ‘ธัมมชโย’ คดีฟอกเงิน-รับของโจร ‘สุวพันธุ์’ชี้‘ธัมมชโย’ ผิด‘กฎหมาย-ธรรมวินัย’

 
        ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 24 พ.ค.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนคำร้องทนายความของพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ขอเพิกถอนหมายจับพระธัมมชโย ผู้ต้องหาข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร
 
        ศาลเห็นว่า การพิจารณาอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาโดยชอบตามกฎหมายแล้ว จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
 
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดีตามกฎหมาย ทนายความของพระธัมมชโย ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ ได้ต่อไปภายใน 30 วัน สำหรับการออกหมายจับพระธัมมชโยนั้น ศาลอาญา มีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ซึ่งหลังจากศาลออกหมายจับ พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้แจ้งให้พระธัมมชโย มาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาภายในวันที่ 26 พ.ค.นี้
 
 
ดีเอสไอเตรียมแผนรับมือ“ธัมมชโย”หากเบี้ยวนัด

       แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ผู้บริหารดีเอสไอและชุดสอบสวนได้ประชุมร่วมกับชุดปฏิบัติการคดีพิเศษ เพื่อซักซ้อมแผนเข้าปฏิบัติการณณ์ภายในวัดพระธรรมกาย หลังครบกำหนดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาภายในวันที่ 26 พ.ค. โดยจะนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวพระธัมมชโยตามหมายจับศาลอาญาซึ่งดีเอสไอจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนเพราะมีพฤติการหลบเลี่ยงไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลังการจับกุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนจะนำตัวพระธัมมชโยไปฝากขังที่ศาลอาญาเพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการปล่อยตัวชั่วคราว โดยพระธัมมชโยต้องไปยื่นคำร้องขอประกันตัวที่ศาล
 
 
แจ้งข้อหา"ศุภชัย”สมคบ"ธัมมชโย"ฟอกเงิน

      เรือนจำกลางบางขวาง พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วยพ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 เดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหาฐานสมคบกันฟอกเงิน กับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด สืบเนื่องจากกรณีการสั่งจ่ายเช็คบริจาคเงินให้พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย โดยก่อนเข้าแจ้งข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนคาดว่าจะใช้เวลาแจ้งข้อหาและสอบคำให้การประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ปรากฏว่านายศุภชัยให้การเป็นประโยชน์กับพนักงานสอบสวนทำให้มีการสอบปากคำยาวนานกว่า 6 ชั่วโมง และต้องหยุดพักการสอบสวนนาน 30นาที เนื่องจากมีญาติมาลงทะเบียนเข้าเยี่ยมนายศุภชัยที่เรือนจำ

      ต่อมาเวลา 16.30 น. นายขจรศักดิ์ เปิดเผยภายหลังเข้าแจ้งข้อกล่าวหานายศุภชัยว่า พนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวกับผู้ถูกกล่าวหา และมีทนายความของนายศุภชัยร่วมรับฟัง โดยศุภชัยรับข้อกล่าวหา และให้การรับสารภาพเพียงบางส่วน แต่ให้การที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะประเด็นความรู้จัก สนิทสนมระหว่างพระธัมมชโยกับศุภชัย ช่วงที่นายศุภชัยเป็นไวยาวัจกรวัดพระธรรมกาย โดยพระธัมมชโยจะใช้ชื่อเรียกนายศุภชัยเป็นการเฉพาะ เป็นที่รู้กันสองคน อย่างไรก็ตาม ชื่อดังกล่าวเป็นรายละเอียดในสำนวนไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่เป็นประเด็นที่แสดงให้เห็นถึงความสนิทสนม สามารถเข้าไปหาพระธัมมชโยที่กุฏิได้ ต่างจากที่ทางวัดเคยออกมาระบุว่าไม่รู้จักสนิทสนม ทั้งนี้ ต้องมีการเข้าสอบปากคำเพิ่มเติมอีกครั้ง เพราะนายศุภชัยให้การที่เป็นประโยชน์หลายคดี และเปิดเผยรายชื่อผู้เกี่ยวข้องอื่นอีกจำนวนมาก

      ผู้สื่อข่าวถามว่าคำให้การของนายศุภชัยจะมีผลกับการแจ้งข้อกล่าวหาพระธัมมชโยหรือไม่นั้น นายขจรศักดิ์ กล่าวว่า การแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาสามารถให้การหรือไม่ให้การก็ได้ แต่คดีดังกล่าวมีพยานหลักฐานในสำนวนที่เป็นพยานเอกสาร ซึ่งเป็นเส้นทางการเงินไหลเวียนเข้ามาอย่างไรบ้าง

      ส่วนที่ทางวัดเสนอให้พนักงานสอบสวนเข้าแจ้งข้อกล่าวหาภายวัดในวันที่ 25 พ.ค.นี้ นายขจรศักดิ์ ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย หากไม่เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาก็ต้องขอหมายค้น ต้องแสดงหมายจับ แต่วิธีที่ง่ายที่สุดคือขอให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 พ.ค.นี้ตามกำหนด การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวัง สิ่งใดที่นอกเหนือจากสิ่งที่ควรทำ ก็ไม่สามารถทำได้ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ถูกร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติที่มิชอบ ที่ผ่านมาลูกศิษย์วัดมีหลายกลุ่ม ขนาดทำตามหน้าที่อย่างถูกต้องก็ยังถูกร้องเรียนหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม หากไม่มาตามกำหนดในวันที่ 27 พ.ค. พนักงานสอบสวนจะประชุมเพื่อดำเนินการโดยยึดหลักตามกฏหมาย ซึ่งมีข้อปฏิบัติชัดเจนว่ากรณีป่วยต้องทำอย่างไร กรณีไม่ป่วยดำเนินการอย่างไร ขอให้ทำตามกฎหมายจะให้สิทธิ์ประกันตัว อยู่เมืองไทยก็ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายของไทย
 
 
'สุวพันธุ์'ชี้'ธัมมชโย'ผิด'กฎหมาย-ธรรมวินัย'


       นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงทางออกของปัญหากรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ่ไม่สามารถเรียกพระธัมมชโย มารับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร ในคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ว่า ขณะนี้ ธัมมชโยผิด 2 เรื่อง คือกฏหมายและพระธรรมวินัย ถ้ามีเรื่องพระธรรมวินัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะต้องดูข้อปฏิบัติของพระธรรมวินัยด้วย
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้ที่จะไม่มารายงานตัวต่อทางดีเอสไอ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ เพราะต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฏหมาย ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า จะไม่มีความขัดเเย้งทางศาสนาในกลุ่มมวลชน
 
นายกฯบอกให้เอาวินัยสงฆ์มาดูแก้ปัญหา'ธัมมชโย'


      พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า “ขอให้เอาธรรมมาดู เอาวินัยพระมาดูกัน แล้วก็จะรู้ว่าเราจะทำอย่างไรสำหรับชาวไทยพุทธ วินัยพระเขาเขียนไว้ทั้งหมดอยู่แล้ว”


เลขาฯกฤษฎีกาชี้กฤษฎีกายังไม่หารือข้อก.ม.ตั้งสังฆราช

      นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีรัฐบาลส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 หลังผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นและทำหนังสือถึงรัฐบาลว่า มติที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ที่เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ขัดกับมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯนั้น ขณะนี้เรื่องยังไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งยังอยู่ในชั้นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งส่งเรื่องมาต้นเดือนพ.ค.59 โดยรัฐบาลต้องการให้กฤษฎีกาตีความในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ หลังจากตีความเสร็จแล้วเราจะส่งความเห็นกลับไป แต่ไม่ได้มีการกำหนดเวลาว่า จะต้องส่งเรื่องกลับให้รัฐบาลเมื่อไร อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับดังกล่าวมีการแก้ไขเมื่อปี 2535 ซึ่งเราจะต้องดูเหตุผลในการแก้ไขครั้งนั้น ดูข้อกฎหมาย และแนวปฏิบัติเดิมเพื่อมาตีความ อีกทั้งการแต่งตั้งครั้งนี้ก็เกิดขึ้นครั้งแรกนับแต่มีการแก้ไขกฎหมายในปี 2535
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ