ข่าว

เบื้องหลัง‘รอยสัก’คนคุกศิลปะบนเรือนร่างที่ไร้การยอมรับ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เบื้องหลัง‘รอยสัก’คนคุก ศิลปะบนเรือนร่างที่ไร้การยอมรับ : เรื่องเล่าข่าวดัง โดยแมรี่ แบรดลี่

            การสักลงบนเรือนร่างดูเหมือนว่าจะเป็นที่นิยมของคนบางกลุ่ม แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยมองในมุมที่แตกต่าง ซึ่งมีหน่วยงานหรือสถานประกอบการส่วนใหญ่ต่างไม่ให้การยอมรับกับผู้ที่มีรอยสักบนเรือนร่าง และในจำนวนนั้นมีไม่น้อยที่ไม่รับบุคคลที่มีรอยสักทั่วเรือนร่าง และยังมองว่ารอยสักนั้นมาจากการต้องโทษ

            ในจำนวนผู้ต้องขังหลายคนต้องกลับเข้าสู่เรือนจำอีกครั้งเพราะการกระทำผิดใหม่ ในจำนวนนั้นมีไม่น้อยที่อ้างว่าไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คนในสังคม น้อยรายที่จะให้โอกาส กลายเป็นคนตกงาน ท้ายสุดแล้วก็กลับเข้าสู่วังวนเดิมๆ กลายเป็นที่มาแห่งข้อสงสัยว่า รอยสักคนคุก เกิดขึ้นได้อย่างไร

            เจ้าของรอยสักบนเรือนร่างซึ่งได้มาระหว่างการถูกคุมขังในเรือนจำแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร บอกว่า ในคุกจะแบ่งรอยสักบนเรือนร่างของนักโทษเป็น 2 ลักษณะ คือ ลายใน และลายนอก

            ลายใน ก็คือรอยสักที่มีการสักกันระหว่างที่นักโทษรายนั้นถูกจองจำในเรือนจำ ขณะที่ลายนอก ก็คือรอยสักที่สักกันมาก่อนที่จะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ

            รูปแบบรอยสักที่ทำกันในเรือนจำจะมีความแตกต่างกับรอยสักที่ทำกันภายนอก โดยสังเกตได้ง่ายหากใครมีรอยสักรูปมังกร ปลาคาร์พ หรือหน้าปีศาจ ปรากฏอยู่บนเรือนร่าง แทบร้อยทั้งร้อยคือคนที่เคยผ่านการจองจำในเรือนจำมาแล้วทั้งสิ้น แต่หากรอยสักที่เป็นลวดลายอื่นมีความสลับซับซ้อนกว่านั้นหมายความว่าเป็นร่องรอยที่สักกันภายนอก ร่องรอยเหล่านั้นจะทำได้ยากในเรือนจำเพราะไม่มีอุปกรณ์เหมือนกับร้านสักภายนอกที่ใช้เข็มสักลายไฟฟ้าและใช้สีเฉพาะสำหรับการสักซึ่งมีความคมชัดปรากฏร่องรอยได้เด่นชัดกว่าในคุก

            “ในเรือนจำจะใช้เข็มเย็บผ้าที่หาได้จากการทำงานวิชาชีพประมาณ 10 กว่าเล่มมามัดรวมกันแล้วใช้ไม้ตอกลวดลายจะมีอยู่ไม่กี่ลาย มักเป็นมังกร ปลาคาร์พ และหน้าปีศาจ เพราะเป็นลายที่นิยม ไม่สลับซับซ้อนมาก โดยสีที่นำมาสักก็คือหมึกปากกา ต่างจากร้านสักที่ใช้เครื่องสักไฟฟ้าใช้หมึกที่เป็นสีเฉพาะการสักลาย ลวดลายก็มีให้เลือกมากกว่าเพราะภายนอกคุกมีช่องทางการรับข้อมูลข่าวสารที่มากกว่า ต่างจากภายในคุกที่มีต้นแบบสำหรับการสักไม่มากนัก ส่วนมากขึ้นอยู่กับความชอบของคนสักด้วย” ผู้ต้องขังรายเดิมให้ข้อมูล

            ระยะเวลาการจองจำที่ยาวนาน ประกอบกับชีวิตภายในคุกไม่มีกิจกรรมอะไรมาก วิถีชีวิตในแต่ละวันผ่านไปด้วยกิจกรรมเดิมๆ ผู้ต้องขังจึงเผาผลาญเวลาไปด้วยกิจกรรมการสัก ซึ่งบางรายใช้เวลายาวนานกว่า 8 ปี ในการสักร่องรอยต่างๆ จนทั่วเรือนร่าง

            “เข้าออกเรือนจำมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเป็นคดีพรากผู้เยาว์ เข้ามาในคุกมีเวลาว่างเยอะเพื่อนๆ ชวนสักโดยเริ่มที่แขน หน้าอก และขา อยู่ในคุกเป็นที่ยอมรับใครๆ ก็บอกสวยดี เพราะส่วนใหญ่ชื่นชอบกัน แต่พอออกไปข้างนอกราวฟ้ากับเหว เมื่อออกไปใช้ชีวิตในสังคมการมีรอยสักเต็มตัวมีผลกระทบกับการใช้ชีวิต ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ บางคนบอกรอยสักเยอะไม่ให้ทำงาน การใช้ชีวิตก็ต้องมีค่าใช้จ่ายพอไม่มีงานก็ไม่มีเงินเลยหันไปค้ายาเสพติดแล้วก็ถูกจับอีก เข้าๆ ออกๆ ก็เลยประชดชีวิตสักทั้งตัว แต่ละครั้งที่สักไม่เคยเสียเงินกว่าจะเต็มตัวก็ใช้คนสัก 5 คน ซึ่งกว่าจะเต็มตัวก็ประมาณ 8 ปี เพราะในนี้ต้องแอบสักหากถูกจับได้จะถูกลงโทษ ออกคุกไปรอบนี้จะนำความชอบทางศิลปะที่ได้ศึกษาจากที่นี่ไปเปิดร้านสักของตนเองน่าจะพอเลี้ยงตัวเองได้ จะได้มีงานทำเลี้ยงตัวเองได้ไม่ต้องไปทำผิดกฎหมายอีก” ผู้ต้องขังรายเดิมบอก

            สอดคล้องกับผู้ต้องขังอีกรายที่ให้ข้อมูลว่า ในคุกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสักจะได้รับการยกย่องจากเพื่อนนักโทษว่าเป็นอาจารย์ ซึ่งจะมีรายได้จากการสักครั้งละ 500-2,000 บาท โดยจ่ายเป็นบุหรี่แทนเงินสด

            ผู้ต้องขังรายนี้บอกว่า ผู้ต้องขังที่มีรอยสักปรากฏอยู่บนเรือนร่างเต็มตัวมักเป็นผู้ต้องขังที่เข้าเรือนจำมากกว่า 1 ครั้ง บางรายจำคุกนาน ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการบังคับ ไม่มีการสักที่แสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มแก๊ง หากมีก็จะเป็นร่องรอยเก่าที่สักมาจากภายนอกก่อนที่จะได้รับโทษ

            “ไม่มีหรอกกลุ่มแก๊ง แต่ที่ลวดลายเหมือนๆ กัน ก็เพราะว่าคนที่สักให้ส่วนใหญ่เป็นคนเดียวกัน ซึ่งก็จะมีความเชี่ยวชาญในการสักรูปนั้นๆ ทางเลือกในคุกมีไม่มาก วัสดุอุปกรณ์ในการสักก็มีน้อย หายาก คนสักสักรูปไหนให้ก็ต้องเอาตามนั้น การสักก็ไม่มีใครบังคับขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน” ผู้ต้องขังยืนยัน

            ตามระเบียบของเรือนจำห้ามไม่ให้นักโทษสักลายบนเรือนร่างถือว่ามีความผิด ผู้ที่ฝ่าฝืนหากถูกผู้คุมจับได้จะต้องถูกลงโทษโดยลดชั้น ตัดวันลดโทษ และห้ามไม่ให้เยี่ยมญาติอย่างน้อย 3 เดือน

            “เข็มก็แอบขโมยมาเก็บไว้ระหว่างที่เข้าไปฝึกอาชีพที่ต้องใช้เข็มหมึกก็จะเป็นหมึกปากกาใช้ไม้ที่หาได้มาเป็นตัวตอก หมึกปากกาเมื่อตอกลงไปยังผิวกายแล้วก็จะติดคงทนยากที่จะลบเลือน ถามว่ากลัวติดโรคมั้ย ก็ไม่นะ เพราะก่อนตอกซ้ำก็ใช้แอลกอฮอลล์ล้างเข็มก่อน” ผู้ต้องขังรายเดิมให้ข้อมูล

            ปัจจุบันเรือนจำแต่ละแห่งพยายามที่จะปรับเปลี่ยนค่านิยมการสักบนเรือนร่างของบรรดานักโทษ โดยการสนับสนุนให้ฝึกทำงานด้านศิลปะในรูปแบบอื่นแทน อย่างที่เรือนจำพิเศษธนบุรี นายวิวัติ แรงเขตการ นักวิชาการอบรมและฝึกวิชาชีพชำนาญการ เปิดเผยว่า ภารกิจหลักของกรมราชทัณฑ์มีอยู่ 2 ภารกิจ คือ การควบคุมผู้ต้องขังและการแก้ไขพัฒนานิสัย เพื่อให้เขากลับตัวเป็นคนดีและพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตใหม่ในสังคม

            “เราพยายามฝึกวิชาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง ซึ่งมีหลายสาขา เช่น ช่างไม้ ช่างโลหะ ช่างศิลปะ ซึ่งจะเน้นไปยังช่างสิบหมู่ ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดให้นำเรื่องงานศิลปะเข้ามาใช้ในงานควบคุม เพื่อเป็นการกล่อมเกลาจิตใจผู้ต้องขัง นำความชื่นชอบในศิลปะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเมื่อพ้นโทษออกไปแล้วยังนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอาชีพและเป็นงานที่ชอบไปใช้ประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้" นายวิวัติ กล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ