ข่าว

เรือนจำโครงสร้างเบาแก้ปัญหานักโทษล้นคุก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรือนจำโครงสร้างเบาแก้ปัญหานักโทษล้นคุก : แมรี่ แบรดลี่รายงาน

            “คุก” หรือ “เรือนจำ” เป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องขังไว้ตามคำพิพากษาของศาล แต่สถานการณ์ผู้ต้องขังล้นเรือนจำเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง สร้างความลำบากใจให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ต้องเร่งแก้ปัญหา ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า มีผู้ต้องขังจำนวนกว่า 3.2 แสนคนทั่วประเทศ เกินความจุของเรือนจำ

            จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 พบว่าความจุของเรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 112,348 คน จากเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง ซึ่งเกินความจุของเรือนจำถึง 2 เท่า รวมถึงอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่เรือนจำไม่ได้สัดส่วนกับผู้ต้องขัง คือเจ้าหน้าที่ 1 คน ต้องดูแลผู้ต้องขังถึง 50-100 คน ในบางพื้นที่ แต่ในขณะที่มาตรฐานสากลโลกคือ เจ้าหน้าที่ 1 คน ดูแลผู้ต้องขัง 5 คน ซึ่งแตกต่างจากของไทยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราของเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง

            ผู้ต้องขังล้นเรือนจำยังส่งผลกระทบภายในเรือนจำหลายอย่าง เช่น บริเวณเรือนนอน ที่รับประทานอาหาร ห้องเยี่ยมญาติ โรงพยาบาล เนื่องจากปริมาณของผู้ต้องขังเกินกว่าที่จะรองรับได้ นอกจากนี้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกมาในจำนวนกว่า 1.5 แสนคนต่อปี ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างทั่วถึง ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวออกมา กรมราชทัณฑ์จึงได้มีนโยบายสร้างเรือนจำโครงสร้างเบาหรือเรือนจำเตรียมปล่อย เพื่อระบายผู้ต้องขังออก โดยนำนักโทษที่ใกล้พ้นโทษมาฝึกอบรมทักษะการประกอบอาชีพและทักษะทางสังคม ในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนที่จะปล่อยผู้ต้องขังสู่สังคม

            “วิทยา สุริยะวงค์” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า การปล่อยตัวนักโทษที่ผ่านมา ไม่ได้ทำแบบเป็นระบบขึ้นมาว่า ผู้พ้นโทษที่ออกไปจากเรือนจำได้มีการปรับตัวหรือไม่ ได้มีการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยหรือไม่ จึงเกิดนโยบายเรือนจำโครงสร้างเบา เพื่อต้องการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษเข้ามาอบรมร่วมกัน ซึ่งแต่ละแห่งสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 500-1,000 คน เป็นการระบายผู้ต้องขังออกจากเรือนจำทุกๆ 3 เดือน โดยจะก่อสร้างเรือนจำโครงสร้างเบาในบริเวณพื้นที่ของทัณฑสถานเปิด 17 แห่ง 18 แดนทั่วประเทศ

            “สถานที่ที่เรามีอยู่ก็คือเรือนจำชั่วคราว และทัณฑสถานเปิด 17 แห่ง ซึ่งมีพื้นที่เหลือที่สามารถก่อสร้างเรือนจำโครงสร้างเบาที่จะใช้ควบคุมผู้ต้องขังได้ และที่ตั้งชื่อเรียกว่า “เรือนจำโครงสร้างเบา” เพราะว่า ต้องสร้างอย่างรวดเร็ว ถ้าไปรอโครงสร้างหลักที่ต้องลงเสาเข็มสร้างอาคารขึ้นมา จะต้องใช้ระยะเวลานาน 1-2 ปีในการก่อสร้าง โดยการก่อสร้างเรือนจำโครงสร้างเบา จะนำตู้คอนเทนเนอร์มาเป็นเรือนนอนของผู้ต้องขัง มีระยะเวลาก่อสร้างเพียง 6 เดือน ทำให้เรามีสถานที่ในการเตรียมปล่อยผู้ต้องขังด้วยความรวดเร็ว” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว

            นอกจากนี้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังบอกอีกว่า คุณสมบัติของผู้ต้องขังที่เข้าสู่โครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยในเรือนจำโครงสร้างเบา จะต้องมีคุณสมบัติจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่าน้อย 1 ใน 3 ของการกำหนดโทษครั้งล่าสุด เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และจะต้องมีความประพฤติดีไม่เคยทำผิดวินัย จึงสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ สำหรับนักโทษที่จะเข้ามาอยู่เรือนจำโครงสร้างเบา ต้องเหลือโทษเพียง 6 เดือน เพื่อแก้ไขพฤติกรรมและส่งเสริมศักยภาพเป็นรายบุคคลให้กลับสู่สังคมอีกครั้งและมีอาชีพเลี้ยงตัวเองรอด เมื่อออกจากเรือนจำแล้วไม่กลับมาทำผิดซ้ำอีก นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำทั้ง 143 เรือนจำทั่วประเทศ

            “การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยของเรือนจำที่เคยทำๆ มาพบว่า เรามีผู้ต้องขังมากเกินไป แน่นไปหมดและอยู่ปนกันทุกประเภท มีทั้งระหว่างพิจารณาโทษ นักโทษเด็ดขาด และนักโทษเตรียมปล่อย เขาจะไปจัดกิจกรรมส่วนหนึ่งในเรือนจำปกติ ซึ่งก็จะกระทบต่อกิจกรรมอื่นๆ ในเรือนจำ ทำให้ผู้ต้องขังได้รับการอบรมไม่ดีเท่าที่ควร แต่เรือนจำโครงสร้างเบาเราแยกคนที่ใกล้จะพ้นโทษที่เราคาดว่าจะปล่อยตัวเขาให้มาอยู่รวมกันและนำเข้าสู่กระบวนการพร้อมกัน ซึ่งจะเกิดประสิทธิภาพมากกว่า” วิทยา ระบุ

            โครงสร้างของเรือนจำโครงสร้างเบาจะนำตู้คอนเทนเนอร์น็อกดาวน์มาเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง และไม่มีรั้วล้อมสูงถึง 3 เมตร แต่จะมีลวดหนาม 3 ชั้น มีโรงฝึกอบรมและพื้นที่ในการจัดกิจกรรม สำหรับเรือนจำโครงสร้างเบา ใช้งบประมาณแห่งละ 55 ล้านบาท ก่อสร้าง 17 แห่ง ในพื้นที่เรือนจำชั่วคราว ได้แก่ ภาคเหนือ ทัณฑสถานเปิดหนองน้ำขุ่น จังหวัดนครสวรรค์ เรือนจำชั่วคราวห้วยม้า จังหวัดแพร่ เรือนจำชั่วคราวร่องห้า จังหวัดพะเยา เรือนจำชั่วคราวปงยางคก จังหวัดลำปาง เรือนจำชั่วคราวหนองเรียง จังหวัดสุโขทัย เรือนจำชั่วคราวแคน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก จังหวัดนครราชสีมา เรือนจำชั่วคราวรอบเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เรือนจำชั่วคราวโคกมะตูม อำเภอนางรอง เรือนจำชั่วคราวโคกคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์

            ภาคตะวันออก ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง จังหวัดระยอง ทัณฑสถานเปิดทุ่งเบญจา จังหวัดจันทบุรี ทัณฑสถานเปิดบ้านเนินสูง จังหวัดปราจีนบุรี เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว จังหวัดระยอง และภาคใต้ ทัณฑสถานเปิดบ้านนาวง จังหวัดพัทลุง เรือนจำชั่วคราวห้วยกลั้ง อำเภอหลังสวน เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งแต่ละแห่งสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 500-1,000 คน

            ทัณฑสถานเปิดบ้านเนินสูง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นหนึ่งเรือนจำนำร่องในการทดสอบว่า การที่นำผู้ต้องขังมาเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยในระยะเวลา 3 เดือนต่อรุ่น โดยใช้หลักสูตรเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยอย่างเข้มข้น ซึ่งมีผู้ต้องขังเข้าร่วมโครงการนี้ 300 คนสำหรับการฝึกอบรม เพื่อให้ผู้ต้องขังเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย จิตใจ ความคิด สติปัญญา อารมณ์ และวิชาชีพ โดยกรมราชทัณฑ์จะนำวิทยากรในพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นหลักเข้ามาให้ความรู้แก่ผู้ต้องขัง มีการกำหนดแบ่งกลุ่มผู้ต้องขังที่จะเข้าอบรมหมุนเวียนให้ได้รับความรู้ทุกด้าน เพื่อกระจายให้ผู้ต้องขังได้รับความรู้อย่างทั่วถึง

            นอกจากนี้ ทัณฑสถานเปิดบ้านเนินสูง จะดำเนินการสร้างเรือนจำโครงสร้างเบา 2 แดน บนพื้นที่ขนาด 11 ไร่ โดยในหนึ่งปีจะมีการคัดเลือกผู้ต้องขังเข้าร่วมโครงการรุ่นละ 500 คนต่อแดน หากมีผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดทั่วประเทศจะมีผู้ต้องขัง 9,000 คนต่อรุ่น โดยสามารถระบายผู้ต้องขังได้ 27,000 คนต่อปี

            ด้านผู้ต้องขัง ทัณฑสถานเปิดบ้านเนินสูงรายนี้ บอกว่า ได้รับคัดเลือกเข้ามาร่วมกับโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขังมาประมาณ 2 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้อยู่ภายในเรือนจำจังหวัดปราจีนมานานกว่า 2 ปี ก่อนที่จะถูกส่งตัวมายังทัณฑสถานเปิดบ้านเนินสูง การเข้ามาอยู่ที่แห่งนี้แตกต่างจากการอยู่เรือนจำมาก เพราะที่เรือนจำปราจีนมีแต่กำแพงสูง มองไม่เห็นอะไรภายนอก นอกจากท้องฟ้า และการเข้ามาอยู่ในทัณฑสถานเปิดบ้านเนินสูงมีทิวทัศน์ที่ดีกว่า รู้สึกสบายใจและไม่เครียด

            "การฝึกอบรมหลายด้านทั้งด้านร่างกาย มีการฝึกในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ เมื่อก่อนเป็นคนอารมณ์ร้อนหลังจากได้รับการฝึกทำให้เป็นคนใจเย็นขึ้น มีการสอนเรื่องของการอยู่ในส่วนรวมว่าควรทำตัวอย่างไร ต้องปฏิบัติตัวเช่นไร ที่สำคัญมีการสอนวิชาชีพหลายสาขาให้เราเลือกว่าอยากจะเรียนอะไร อย่างผมเลือกเรียนช่างยนต์ เพราะมีความรู้เก่ามาด้วย ซึ่งก็ได้รับความรู้จากการเรียนครั้งนี้ ถ้าผมออกไปผมก็จะไปเปิดร้านซ่อมมีอาชีพเป็นของตัวเอง” ผู้ต้องขัง ระบุ

            การดำเนินการนี้คงต้องดูกันต่อไปว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และสร้างจิตสำนึกให้ผู้ต้องขังออกมาเป็นคนดีสู่สังคมได้จริงอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ