ข่าว

ภัยร้าย!อาหารเสริมผสม‘สารลดอ้วน’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภัยร้าย!อาหารเสริมผสม‘สารลดอ้วน’ : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

                จากเหตุการณ์สาวจีน นักศึกษาปริญญาโท ม.กรุงเทพ เสียชีวิตในห้องพักที่เต็มไปด้วยยาลดความอ้วนหลายขนาน เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ตำรวจตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากกินยาลดความอ้วนเกินขนาดจนช็อก!

                สาวจีนรายนี้ไม่ใช่เหยื่อรายแรก มีสาวอยากผอมอีกจำนวนมากยอมเสี่ยงตายไปสรรหาซื้อยาลดความอ้วนมากินเอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ....

                ที่สำคัญคือ ยาลดความอ้วนอันตรายเหล่านี้ หาซื้อได้ง่ายตามร้านค้า ร้ายขายยา หรือสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ทั่วไป ล่าสุดทีมข่าว "คม ชัด ลึก" ออกสำรวจร้านขายอาหารเสริมและร้านขายยาทั่วไป บริเวณแหล่งวัยรุ่นย่านรามคำแหงและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พบว่า  ร้านค้าเหล่านี้วางขายสินค้าที่โฆษณาสรรพคุณช่วยลดความอ้วน หรือทำให้ผอมสวยอย่างรวดเร็วหลากหลายยี่ห้อ ทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจากต่างประเทศโดยไม่มีสลากภาษาไทย โดยมี 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ 1.แบบผงชงดื่ม 2.แบบเม็ด-แคปซูล และ 3.ผงกาแฟสำเร็จรูป

                จากการสังเกตของผู้สื่อข่าวพบว่า อาหารเสริมบางยี่ห้อไม่มีเลขทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงรายละเอียดส่วนผสมที่ชัดเจน ซึ่งตัวผู้ซื้อก็ไม่สนใจอ่านฉลากเหล่านี้เช่นกัน หลังสอบถามพบว่าผู้ซื้อส่วนใหญ่เลือกซื้อสินค้าตามคำบอกเล่าของเพื่อนที่เคยกินหรือคำแนะนำของผู้ขาย โดยไม่ได้สนใจว่าผ่านการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยจาก อย.หรือไม่

                "แพร" หญิงวัย 46 ปี ลูกจ้างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าถึงประสบการณ์กินยาลดความอ้วนกว่า 10 ปี ว่า เคยซื้อยาเม็ดที่เพื่อนกินแล้วได้ผลมากินเอง ปรากฏว่าช่วงแรกน้ำหนักลดลงตามคำโฆษณาจริง แต่พอหยุดกินก็อ้วนขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็ว จึงตัดสินใจไปหาหมอที่คลินิกแห่งหนึ่ง หมอสั่งยาลดความอ้วนให้กินเป็นชุดๆ กินไปสักพักก็ต้องหยุด เพราะร่างกายรับไม่ไหว รู้สึกหน้ามืด เวียนหัว หัวใจสั่น สมองเบลอเหม่อลอย ฯลฯ มีอยู่วันหนึ่งนั่งดูทีวีแล้วหารีโมทไม่เจอ พอลุกขึ้นมาเปลี่ยนช่องรู้สึกวูบหน้ามืด จึงตัดสินใจหยุดกินทันที

                "พอหยุดกินยาสักพัก อ้วนเกือบ 90 กิโล รู้สึกอึดอัดมากๆ เพราะก่อนกินยาน้ำหนักแค่ 65 กิโลเท่านั้น เสื้อผ้าใส่ไม่ได้เลย เพื่อนเลยแนะนำให้ไปหาหมอด้านโภชนาการที่โรงพยาบาลรัฐบาล หมอสั่งเปลี่ยนวิธีกินอาหารใหม่ ให้สมดุลกับพลังงานที่ใช้ และให้กินยาบางตัวเสริม ตอนนี้รู้สึกดีขึ้น ไม่มึนหัว ไม่ใจสั่นเหมือนแต่ก่อน อยากเตือนคนอ้วน อย่าไปซื้อยากินเอง ผลข้างเคียงอันตรายมากๆ กินช่วงแรกจะผอมลงจริง แต่เราไม่รู้ว่ามันใส่อะไรผสมเข้าไปบ้าง" แพร กล่าวเตือน

                สอดคล้องกับ "ภชร แก้วกล้า" เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้บริโภคกว่า 10 ราย มาร้องเรียนสินค้าอาหารเสริมที่อ้างสรรพคุณลดความอ้วนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเภทกาแฟนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีฉลากภาษาไทย อย.ตรวจแล้วพบว่าใส่ยาไซบูทรามีนเข้าไป ซึ่งเป็นสารต้องห้ามตั้งแต่ปี 2555 ยาตัวนี้ทำให้ไม่เกิดอาการหิว แต่มีฤทธิ์ข้างเคียงต่อหัวใจโดยตรง ทำให้หัวใจเต้นเร็วนำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือช็อกได้ เช่น กรณีผู้หญิงจาก จ.พะเยา รายหนึ่ง กินอาหารเสริมลดความอ้วนหลายชนิด รวมถึงกาแฟที่ผสม "ไซบูทรามีน" ด้วย ตอนนี้กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา อยู่ในขั้นโคม่า ยังไม่ฟื้นสติเลย

                “ถ้าใครกินกาแฟแล้วน้ำหนักลดจริง ให้สันนิษฐานไปเลยว่า มันต้องใส่ยาตัวนี้แน่นอน กินบ่อยๆ อาจตายได้ เคยมีผู้บริโภคเสียชีวิตเพราะกินอาหารเสริมพวกนี้เข้าไป แต่สุดท้ายเอาผิดใครไม่ได้ เพราะคนตายไปแล้ว มันเป็นเรื่องน่าเศร้า“ ภชร กล่าว

                ภชร กล่าวต่อว่า การดำเนินคดีเอาผิดเป็นเรื่องยาก เพราะ 1.ส่วนใหญ่ไม่มีฉลาก ไม่รู้ผู้ผลิตและจำหน่าย 2.บางครั้งสินค้าเหล่านี้ไม่ได้บอกส่วนผสมตามความเป็นจริง แอบใส่สารอื่นๆ เข้าไปด้วย ทำให้พิสูจน์ได้ยาก ดังนั้นการปราบปรามต้องประสาน 3 ส่วน คือ "ต้นทาง" หน่วยงานรัฐต้องกวดขันจับกุมอย่างจริงจัง "กลางทาง" คือร้านค้า ต้องดูว่าถูกกฎหมายหรือไม่ และ "ปลายทาง" คือคนอยากผอม ต้องตรวจดูว่าสินค้ามีเลข อย.หรือไม่

                ทั้งนี้ สำนักงาน อย.ของอเมริการายงานสถิติในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยกินยาไซบูทรามีนต่อเนื่องเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันไม่ต่ำกว่า 25 คน ขณะที่ไทยพบผู้เสียชีวิตจากกินยาลดความอ้วน ที่เป็นข่าวดังในรอบ 4 ปีตั้งแต่ปี 2553-2557 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 คน โดยไม่รวมกรณีดูดไขมันและฉีดสารเคมีเข้าสู่ร่างกายแล้วเสียชีวิต

                ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. ยอมรับว่า มีขบวนการลักลอบใส่ยาไซบรูทรามีนผสมในสินค้าอาหารเสริมจริง การพิสูจน์ทำได้ยาก ต้องไปดูที่โรงงานผลิตว่าใส่จริงหรือไม่ หรือต้องส่งตัวอย่างไปตรวจห้องแล็บ ดังนั้นผู้ซื้อควรตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อน เช่น มีเลขทะเบียน อย.13 หลัก, มีชื่อที่อยู่ผู้ผลิต, มีการแจ้งส่วนประกอบ ฯลฯ ที่สำคัญควรซื้อจากแหล่งขายน่าเชื่อถือมีตัวตนจริง มีสถานที่จริง ไม่ควรซื้อตามตลาดนัดหรือทางอินเทอร์เน็ต

                "ตอนนี้ อย.กำลังพัฒนาระบบเชื่อมข้อมูล ให้ตรวจสอบเลขทะเบียนเครื่องสำอาง ยาและอาหารเสริมผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนได้ เริ่มใช้ต้นปี 2558 ช่วงนี้ใครพบสินค้าอันตรายเหล่านี้ ให้แจ้งสายด่วน 1556 ผู้ขายสินค้าผิดกฎหมายมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 หมื่นบาท"


"ไซบูทรามีน" Sibutramine

เป็นยาอันตรายออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ช่วยยับยั้งความอยากอาหาร กินน้อยอิ่มเร็ว ไม่หิว ผลข้างเคียงทำให้หัวใจเต้นแรง ความดันโลหิตสูง ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยความดันโลหิต ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยโรคตับ-ไต รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ประเทศไทยสั่งห้ามนำเข้าตั้งแต่ปี 2555

.......................................

(หมายเหตุ : ภัยร้าย!อาหารเสริมผสม‘สารลดอ้วน’ :  ทีมข่าวรายงานพิเศษ ) 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ