ข่าว

นายห้างดนตรีย่งเส็งอีกตำนานของคนเวิ้งฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ชัชวาล อัศวโสภณ' นายห้างดนตรีย่งเส็งอีกตำนานของคนเวิ้งฯ : ภาวินี อินเทพ / ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ

            การจากไปของ ชัชวาล อัศวโสภณ หรือ เฮียโต เจ้าของห้างดนตรีย่งเส็ง และบริษัท ย่งเส็งวัฒนาเทรดดิ้ง จำกัด วัย 55 ปี อย่างกะทันหันนั้น มิเพียงเป็นข่าวที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่คนคนในครอบครัวเท่านั้น หากแต่ในแวดวงดนตรีและระบบเสียงของไทยหลายภาคส่วน ที่พันผูกกับเวิ้งนาครเขษมล้วนรู้สึกคล้ายๆ กันคือ "ใจหาย" เพราะชัชวาล ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลในตำนานของร้านขายเครื่องดนตรีในเวิ้ง ศูนย์รวมเครื่องดนตรีเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ
 
            เช่นกันกับที่ประเด็น "เวิ้งนาครเขษม" ถูกชักนำกลับมาอีกครั้ง ในฐานะเป็นแหล่งซื้อ-ขายเครื่องดนตรีใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ เป็นชุมชนดั้งเดิมตั้งแต่ยุคก่อร่างสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ถูกปิดตำนานไปแล้วเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยระบบทุนเสรี แม้กลุ่มประชาชนคนเวิ้งฯ ได้รวมตัวร่วมทุนลงขันกันเพื่อขอซื้อคืนด้วยมูลค่า 4,800 ล้านบาท พร้อมข้อเสนอในการอนุรักษ์พื้นที่ในชุมชนให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองหลวง ก็ไม่เป็นผล สิ่งที่ร้านเครื่องดนตรีเก่าแก่ทั้งหลายทำได้คือ การหาสถานที่เปิดร้านใหม่ในที่อื่นๆ พร้อมนับถอยหลังวันปิดร้านที่เวิ้ง ด้วยอาการใจหายไม่น้อย

            นายห้างชัชวาลก็คงเช่นกัน ที่ใจใกล้ขาดรอน เพราะร้านแห่งนี้มิใช่เพียงร้านขายเครื่องดนตรีที่ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่-รุ่นพ่อ แต่คือความทรงจำในฐานะบ้านที่เกิดและเติบใหญ่ กระทั่งมาบริหารงานแล้วส่งต่อให้รุ่นลูกรับช่วงงานต่อไป แต่กลับมาพบเหตุการณ์ที่พลิกผันในช่วงปลายของชีวิต

            "ผมเกิดที่นี่ คุณพ่อเป็นคนซอยหนึ่ง คุณแม่เป็นคนซอยสอง คุณแม่เป็นลูกร้านขายวัตถุโบราณ เป็นร้านแอนทีค ผมรักเวิ้งและสะเทือนใจมากเรื่องเวิ้ง..." นายห้างชัชวาลกล่าวถึงความผูกพันทางใจในฐานะคนเวิ้ง ผ่านจอ PRART-PMG TV Tape 33/3 ที่ได้ลงไปเก็บบรรยากาศ "ปิดตำนาน เวิ้งนาครเขษม" ในห้วงสถานการณ์ร้อนคราวนั้น

            "..ไม่เคยคิดว่าต้องจากพื้นที่นี้ไป เพราะปู่ก็มาตั้งต้นที่นี่ มาสร้างเวิ้งร่วมกับคุณปู่ของแต่ละบ้านในพื้นที่แห่งนี้ จนมารุ่นพ่อ ทำมาจนเจริญ รุ่นเราก็รักษาเอาไว้ และทำให้เจริญมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้เราก็ขายส่งไปทั่วประเทศ" นายห้างชัชวาลกล่าว ซึ่งคนในวงการดนตรีทั่วประเทศน่าจะยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงชื่อเสียงของห้างดนตรีย่งเส็ง อีกหนึ่งร้านเครื่องดนตรีในตำนานของคนเวิ้งฯ

            "คุณปู่มาจากเมืองจีน ก็มาตั้งรกรากที่เวิ้ง รับซื้อของเก่าที่เจ้านายในวังเอามาขาย แต่ตอนช่วงปลายๆ ของคุณปู่ ตอนคุณพ่อผมอายุได้ 18 ปี คุณพ่ออยากขายเครื่องดนตรี คุณปู่เลยให้ตู้ใบหนึ่ง ซื้อเครื่องดนตรีมาขายในร้าน สมัยก่อนเราไม่ได้นำเข้าเอง สมัยที่คุณปู่ยังอยู่เราซื้อมาจาก East Piano ซื้อจากรัตนมาลามาขาย แต่พอตอนคุณพ่ออายุ 21 คุณปู่เสียชีวิต คุณพ่อเลยเปลี่ยนเป็นดนตรีอย่างเดียว ไม่เอาของเก่าแล้ว เป็นดนตรีร้อยเปอร์เซ็นต์ ในปีถัดมาก็เริ่มนำเข้าเอง จากเชโกฯ อังกฤษ จากฝรั่งเศส จากเยอรมัน.." นายห้างชัชวาล ในฐานะ "อัศวโสภณ" รุ่นที่ 3 เล่าถึงความเป็นมา

            สำหรับชัชวาลนั้น เป็นลูกชายคนโตของ ประสิทธิ์ อัศวโสภณ กับ กาญจนา ตังธนเศรษฐ์ ตอนลืมตาดูโลกนั้น ประสิทธิ์ ผู้เป็นพ่อ ได้ขยายกิจการสานต่อจาก "ร้านย่งเส็ง" ของปู่มาร่วมสิบปีแล้วที่เวิ้งนาครเขษม ซอย 1 โดยริเริ่มนำเครื่องดนตรีสากลจากห้างฝรั่งมาขายเสริมในร้าน เนื่องจากรักชอบในด้านดนตรีเป็นพื้นฐานสำคัญ

            อีกทั้งได้มีโอกาสใกล้ชิดกับพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ซึ่งเป็นครูสอนดนตรีและบุคคลสำคัญในวงการดนตรีของประเทศไทย จึงทำให้นายห้างประสิทธิ์รู้จักแหล่งเครื่องดนตรีและคุณภาพของเครื่องดนตรีเป็นอย่างดีมากขึ้น กระทั่งในปี พ.ศ.2494 จึงเปลี่ยนจากการรับซื้อและขายของเก่าที่มีแต่เดิม และขายเครื่องดนตรีเสริม มาเป็นการขายเครื่องดนตรีสากลทั้งหมด ส่วนป้ายร้านเก่าที่เขียนว่า "ยี่ห้อย่งเส็งนายย่งเฮงแซ่แบ้รับซื้อและขายของเก่า" เก็บเป็นกำลังใจให้ลูกหลาน

            ต่อมาเมื่อนายห้างชัชวาลมาบริหารต่อด้วยความมุ่งหวังพัฒนาวงการดนตรีไทยให้ดียิ่งขึ้น ห้างดนตรีย่งเส็งจึงพัฒนายกระดับกิจการเข้าสู่การเป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายเครื่องดนตรีและอุปกรณ์เครื่องดนตรีหลากหลายชนิดที่มีคุณภาพจากทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งคัดสรรและนำเข้าเครื่องดนตรีราคาประหยัด แต่ให้คุณภาพเสียงที่คุ้มเกินราคามาบริการแก่ลูกค้า ตามหลักการค้า "ซื่อสัตย์และไม่เอาเปรียบต่อลูกค้า" ที่ยึดมั่นเสมอมา

            ห้างดนตรีย่งเส็ง นอกจากดำเนินธุรกิจแล้ว ยังสนับสนุนกิจกรรมด้านดนตรีให้แก่กลุ่มเยาวชนคนดนตรีและสถาบันการศึกษาเสมอมา เช่นเดียวกับหลายร้านที่เป็นคนร่วมเวิ้ง จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อครั้งที่มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเวิ้ง จึงมีนักดนตรีจากสถาบันต่างๆ เข้าร่วมมากมาย

            เพื่อนบ้านร่วมเวิ้ง อย่างไมตรี ทักข์ทานต์ เจ้าของห้างดนตรี "เบ๊เงียบเส็ง" อันเลื่องชื่อ ร่วมเล่าขานตำนานแห่งนี้ว่า ร้านของเขาขายเครื่องดนตรีตั้งแต่รุ่นอากง ตกทอดถึงรุ่นพ่อ และเขาเองนับเป็นรุ่นที่ 3 ก็น่าจะประมาณ 60-70 ปีล่วงมา

            ไมตรีเกิดและโตที่เวิ้งแห่งนี้ ยามที่เขาก้าวเดินออกไปจากร้าน ก็จะอึงอลไปด้วยเสียงทักทายของหลายคน เพราะล้วนเกิดและเติบใหญ่มาด้วยกัน แม้วันหนึ่งข้างหน้าต้องแยกย้ายกันไป แต่จิตใจและความผูกพันก็ยังคงอยู่

            ชาวชุมชนเวิ้งนาครเขษมอีกคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่นี่มานานกว่า 50 ปี รู้สึกใจหายหากต้องแยกย้ายกันไป

            "ผมเสียใจนะ ผมอยู่มาตั้งแต่เกิด ต่อไปนี้คงไม่มีที่ให้เด็กๆ วิ่งเล่น ต่างคนก็ต่างต้องไป ต้องแยกย้ายกัน ฟังแล้วใจหาย" ชาวชุมชนเวิ้งนาครเขษม กล่าว

            โชคอนันต์ และ กฤตภาส เลี่ยงเฉลิมวงษ์ ลูกค้าประจำเวิ้งนาครเขษม บอกว่า เขาทั้งสองมาจับจ่ายซื้อเครื่องดนตรีประเภทกีตาร์ที่นี่ หากวันข้างหน้าไม่มีร้านอยู่บริเวณนี้ การซื้อหาเครื่องดนตรีก็คงลำบาก เพราะตลาดแห่งนี้มีสินค้าเครื่องดนตรีครบตามที่ต้องการ เรียกได้ว่าเดินเข้ามาในเวิ้งนี้ไม่ผิดหวัง

            ปัจจุบันนอกจากรุ่นลูกทั้งสี่ของนายห้างชัชวาล จะเปิดขายผ่านหน้าร้านแล้วยังหันมาใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (Facebook:yongsengmusical) และเว็บไซต์ (www.yongsengmusical.com) เป็นช่องทางในการบอกข่าวแก่ลูกค้าอีกด้วย ซึ่งนายห้างชัชวาลมีทายาทด้วยกัน 4 คน ได้แก่ สุทธินันท์, วโรทัย, ภาสพงศ์ และพลกร อัศวโสภณ

            ในวันที่ไม่มีนายห้างชัชวาลแล้ว แต่หลายคนเชื่อว่ายังมีห้างดนตรีย่งเส็งต่อไป รวมถึงจิตวิญญาณของคนเวิ้ง ที่ไม่สิ้นหายไปกับเวิ้ง ที่กำลังจะเปลี่ยนรูปโฉมไปตลอดกาล

-------------------------

(หมายหตุ : 'ชัชวาล อัศวโสภณ' นายห้างดนตรีย่งเส็งอีกตำนานของคนเวิ้งฯ : ภาวินี อินเทพ / ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ