ข่าว

แกะรอย'กล่องดำ'ไขปริศนาMH370

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แกะรอย'กล่องดำ' ไขปริศนาMH370 : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

               ผ่านไป 5 วันเต็ม เครื่องบินโบอิ้ง 777 เที่ยวบิน MH 370 ยังคงเป็นปริศนาดำมืดว่าสูญหายไปไหน หายอย่างไร และใครเกี่ยวข้อง?

               ระหว่างที่หน่วยงานเอกชนและกองทัพกว่า 10 ประเทศ ช่วยกันค้นหาซากเครื่องบินและศพผู้เคราะห์ร้ายนั้น มีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยกู้ภัยกลุ่มหนึ่งได้รับมอบหมายให้ ติดตามหาแบล็กบ็อกซ์ หรือ “กล่องดำ” ที่ติดอยู่ในเครื่องบิน เพื่อนำข้อมูลในนั้นมาไขปริศนาที่เกิดขึ้น

               "กล่องดำ" (Black Box) นั้น แม้ชื่อสีดำ แต่ตัวจริงพ่นสีส้มแสดขนาดเท่ากล่องซีพียูของเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบิน ที่เครื่องบินโดยสารทุกลำต้องติดตั้งตามระเบียบปฏิบัติของกฎด้านการบิน อาจมีเพียงเครื่องบินทหารจากบางหน่วยงานและบางรุ่นเท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นเพื่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้เครื่องบินในอดีตจะมีกล่องดำเพียงกล่องเดียวเท่านั้น แต่เทคโนโลยีปัจจุบันพัฒนาให้มีได้ถึง 2-3 กล่องด้วยกัน แต่ไม่ว่าจะมีกี่กล่องต้องเก็บข้อมูลพื้นฐาน 2 ส่วนด้วยกัน

               ส่วนแรก “เครื่องบันทึกเสียงห้องนักบิน” (The Cockpit Voice Recorder - CVR) กล่องนี้ทำหน้าที่บันทึกเสียงของนักบินและนักบินผู้ช่วยที่ติดต่อกับภาคพื้นดินหรือพูดคุยกันเอง อุปกรณ์นี้สามารถบันทึกได้อย่างละเอียดมาก เสียงทุกเสียงที่เกิดขึ้นจะถูกอัดไว้เป็นหลักฐานทั้งหมด ผ่านทางไมโครโฟนซึ่งดูดเสียงทุกอย่าง เช่น เสียงเครื่องยนต์ เสียงสัญญาณเตือนภัย เสียงกดสวิตช์ ฯลฯ แม้กระทั่งเสียงลมหายใจของนักบินยังได้ยิน
 
               ส่วนที่ 2  “เครื่องบันทึกข้อมูลการบิน” (The Flight Data Recorder - FDR) มีประโยชน์ในการบันทึกการทำงานของเครื่องยนต์และระบบควบคุมเครื่องบินทุกอย่าง เช่น ความเร็ว ความสูง ความดันอากาศ ทิศทาง เชื้อเพลิง ฯลฯ ประมาณว่ามีอย่างน้อย 700 รายการที่ถูกบันทึกไว้เพื่อใช้ในการตรวจสอบหากเกิดความผิดปกติหลังจากเครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ

               ข้อมูลทั้ง 2 ส่วนจะถูกบันทึกเก็บไว้ใน “ชิพคอมพิวเตอร์” ที่จัดวางในกล่องดำอย่างดี มีระบบป้องกันหลายชั้น โดยผู้ที่อ่านข้อมูลในชิพคอมพิวเตอร์ได้ต้องเป็นบริษัทเจ้าของกล่องดำเท่านั้น

               ส่วนกล่องตัวสุดท้ายติดตั้งเฉพาะเครื่องรุ่นใหม่ๆ เท่านั้น เป็นกล่องอีแอลที (Emergency Lacator Transmitter) กล่องนี้ติดอยู่บริเวณหางเครื่องบิน และทำงานอัตโนมัติ เมื่อเครื่องบินลงกระแทกอย่างแรงมากกว่าปกติอย่างน้อย 1 เท่า หรือมีความแรง, ความเร่งมากกว่าปกติ และการส่งสัญญาณจะส่งโดยตรงไปยังดาวเทียมทันที ไม่ต้องรอการค้นหาให้เจอเหมือนกล่องดำทั่วไป

               อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยเครื่องบินระดับสูงของกองทัพไทย ให้ข้อมูลว่า กรณียังหากล่องดำของเที่ยวบิน MH 370 ไม่เจอ แล้วไม่รู้ว่าเครื่องระเบิดหรือเกิดความปกติอย่างไร ต้องรอความหวังจากข้อมูลของส่วนกล่องอีแอลที ซึ่งเครือข่ายดาวเทียมที่สามารถรับรู้ข้อมูลส่วนนี้ มีเฉพาะของอเมริกาและยุโรป แต่ปัจจุบันอาจมีดาวเทียมจีนเพิ่มอีกประเทศหนึ่ง

               “ตอนนี้มี 3 ทฤษฎีใหญ่ ในการวิเคราะห์เครื่องบินนี้ คือ 1.ก่อการร้ายหรือจารกรรม 2.เครื่องยนต์ขัดข้องระเบิดกลางอากาศหรือดิ่งลงทะเลทั้งลำ และสุดท้ายคือ โดนขีปนาวุธสอย ตอนนี้ผมคิดว่า การดิ่งลงทะเล หรือลงจอดแบบผิดปกติ น่าจะตัดไปได้เลย เพราะยังไม่มีข้อมูลเครือข่ายดาวเทียมใดเจอสัญญาณของเครื่องอีแอลทีจากโบอิ้ง 777 ลำนี้ แต่บางคนก็เชื่อว่าอาจพบแล้ว แต่ข้อมูลไม่ถูกเปิดเผยออกมา”
     
               ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นให้ความหวังว่า การค้นหากล่องดำเพื่อเอาบันทึกเรื่องเสียงสนทนาของนักบินกับบันทึกระบบการทำงานเครื่องยนต์นั้น มีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน เพราะกล่องดำถูกสร้างให้มีความแข็งแรงคงทนมาก ต่อให้ถูกไฟไหม้หรือระเบิดระดับ 1,000 องศาเซลเซียส ยังไม่เป็นไร หรือถูกกระแทกอย่างแรงก็ยังปลอดภัย ที่น่าเป็นห่วงคือน้ำทะเล เพราะหากทิ้งอยู่ในทะเลนานๆ ความเค็มจะกัดกร่อนซึมลึกถึงข้างในอย่างแน่นอน

               “ถ้ากล่องดำไม่ถูกขโมย หรือ ถูกทำลายไปอย่างตั้งใจ ก็ต้องหาเจอ เพียงแต่ใช้เวลาเท่าไหร่ เพราะบางครั้งกว่าจะเจอใช้เวลาถึง 2-3 ปี และถ้าหาเจอแล้ว ต้องดูว่าข้อมูลเสียหายไปมากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมาอ่านได้ทุกกล่อง แต่อ่านได้ทั้งหมดหรือไม่ ขึ้นกับสภาพของกล่องดำ กรณีเครื่องบินมาเลเซียลำนี้ จะไม่มีการไขปริศนาอะไรได้ทั้งสิ้น ถ้าไม่เจอกล่องดำ แต่การเจอกล่องดำไม่ได้หมายความว่า ข้อมูลทุกอย่างจะถูกเปิดเผยออกมา เพราะหลายครั้งที่ข้อมูลจากกล่องดำกลายเป็นเรื่องความมั่นคง ทำให้ถูกปกปิดไว้ตลอดไป” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวทิ้งท้าย

.............

(หมายเหตุ : แกะรอย'กล่องดำ' ไขปริศนาMH370 : ทีมข่าวรายงานพิเศษ)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ