ข่าว

ระบบเซฟตี้'สุวรรณภูมิ'กระเป๋าไฟลุก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ระบบเซฟตี้'สุวรรณภูมิ'กระเป๋าไฟลุก : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

            ภาพไฟลุกท่วมกระเป๋าเดินทางที่เคาน์เตอร์ผู้โดยสารสนามบิน "สุวรรณภูมิ" เมื่อเช้าวันที่ 28 มกราคม ถูกแชร์ผ่านโซเชียลออนไลน์และเว็บไซต์หลายแห่ง สร้างความหวาดผวาให้ผู้โดยสารเป็นอย่างมาก หากกระเป๋าใบนี้หลุดลอดขึ้นไปใต้ท้องเครื่องบิน จะเกิดอะไรขึ้น !?!
 
            หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า ระบบตรวจสอบความปลอดภัยของสนามบินยักษ์ใหญ่ของเอเชียแห่งนี้มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่
   
            "ภาสกร สุระพิพิธ" รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานมาตรฐานท่าอากาศยานและการบิน บริษัท ท่าอากาศยานแห่งไทย จำกัด (เอโอที) ให้ข้อมูลว่า กระเป๋าใบที่เกิดเหตุเป็นของนายพงศ์กานต์ โฆษิตธรรมนันท์ กำลังจะเดินทางไปกรุงพนมเปญ ด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เที่ยวบินประมาณ 8 โมงเช้า จู่ๆ เกิดไฟลุกขึ้นระหว่างเช็กอินขึ้นเครื่องบิน ซึ่งเจ้าหน้านำถังดับเพลิงฉีดพ่นดับไฟได้ทันที
 
            จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบในกระเป๋าสัมภาระมีสารเคมีชนิดน้ำและผง ซึ่งเป็นปุ๋ยหัวเชื้อตัวอย่างสินค้า สันนิษฐานเบื้องต้นว่าอาจทำปฏิกิริยากันจนเกิดประกายไฟขึ้น โดยไฟไหม้กระเป๋าใบนั้นสร้างความเสียหายเพียงเล็กน้อยให้แก่สายพานเครื่องชั่งกระเป๋าสัมภาระ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่บริเวณเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร

            "ตอนนี้เปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว สามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่คงต้องตรวจสอบรายละเอียดต่อไปว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ แต่ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะถ้าไฟไม่ลุกขึ้นมาก่อน กระเป๋าใบนี้เมื่อผ่านเคาน์เตอร์เช็กอินไปแล้วจะเจอกับเครื่องเอกซเรย์ซีทีเอ็กซ์ พอถึงขั้นนั้นจะตรวจเจออย่างแน่นอน ไม่มีโอกาสผ่านไปถึงใต้ท้องเครื่องบิน" ภาสกร กล่าวยืนยัน
 
            "คม ชัด ลึก" สอบถามเบื้องลึกระบบรักษาความปลอดภัยจากสารเคมีอันตรายกับผู้รับผิดชอบโดยตรง "ระวีวรรณ เนตระคเวสนะ" ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตอบว่า ปกติสนามบินแต่ละแห่งจะมีเครื่องตรวจเอกซเรย์สัมภาระต่างๆ ก่อนขึ้นเครื่องบินอยู่แล้ว ถ้าเป็นสนามบินต่างจังหวัดจะเป็นเครื่องเอกซเรย์ระดับมาตรฐานทั่วไป (Security Inspection Machine X Ray Luggage Scanner for Airport) โดยตรวจกระเป๋าทุกใบ ตั้งแต่ประตูทางเข้าก่อนไปเคาน์เตอร์เช็กอิน แต่ถ้าเป็นสนามบินสุวรรณภูมิจะใช้เครื่องสแกนระดับสูง หรือที่เรียกว่าเครื่องตรวจจับสารอันตรายและวัตถุระเบิดรุ่น "ซีทีเอ็กซ์" ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 26 เครื่อง
 
            "อยากขอร้องไม่ให้เรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นกระเป๋าระเบิด เพราะแค่ไฟลุกเท่านั้นเอง ตรวจพบเบื้องต้นว่าไม่ได้เป็นวัตถุเคมีชนิดเดียวแต่มีหลายชนิดอยู่ด้วยกัน พอสารเคมีที่ติดไฟง่ายเจอกับปฏิกิริยาของออกซิเจนในอากาศก็เกิดไฟลุกขึ้นมาเอง ที่สำคัญคือเขาใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อด้านนอก ทำให้เป็นเชื้อไฟได้อย่างดี"
   
            สำหรับระบบการตรวจสอบกระเป๋าที่มีสารอันตรายเหล่านี้นั้น ผอ.ระวีวรรณ ยืนยันว่า หากเป็นเครื่องเอกซเรย์ต่างจังหวัดจะตรวจพบทันทีหากมีสารเสพติดหรือวัตถุไวไฟซุกซ่อนในกระเป๋า แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นชนิดหรือประเภทอะไร ต้องให้เครื่องหยุด แล้วเรียกเจ้าของกระเป๋ามาเปิดให้ค้นดูว่าเป็นวัตถุหรือสารอะไร แต่ถ้าเป็นเครื่องสแกนซีทีเอ็กซ์ จะรู้ทันทีเลยว่าสารอันตราย วัตถุไวไฟหรือสารเสพติดประเภทไหน ขอให้ผู้โดยสารไม่ต้องเป็นห่วง ที่ผ่านมายังไม่เคยเจอเหตุการณ์ไฟลุกกระเป๋าผู้โดยสาร เพราะมีสารเคมีข้างในมาก่อน คงต้องมีการสอบสวนอย่างละเอียด
 
            ขณะที่ข้อมูลเว็บไซต์ของสื่อมวลชนหลายสำนัก อ้างคล้ายๆ กันว่า สิ่งที่อยู่ในกระเป๋าใบที่ไฟลุกท่วมนั้น เป็นตัวอย่างหัวเชื้อปุ๋ยเคมีบางชนิด บรรจุมาซองละ 20 กรัม 2 ซอง และกระปุกละ 100 กรัม 4 กระปุก โดยเจ้าของกระเป๋าอ้างไม่รู้ว่าเป็นส่วนผสมสารตั้งต้นระเบิด
 
            ด้าน พ.ต.อ.ภูมินทร์ สิงหสุต ผกก.สภ.สุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ให้สัมภาษณ์สั้นๆ เบื้องต้นว่า ภายในกระเป๋าเป็นปุ๋ยยูเรียที่จะนำไปใช้อบรมงานด้านการเกษตรที่กัมพูชา
 
            หากเป็นปุ๋ยยูเรียจริงก็น่าเป็นห่วง เพราะปุ๋ยชนิดนี้สามารถประกอบเป็นระเบิดได้ !?!
 
            ผู้เชี่ยวชาญด้านปุ๋ยและสารเคมีเกษตร จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิเคราะห์ให้ฟังว่า ปุ๋ยยูเรียไม่สามารถใช้เป็นส่วนประกอบของวัตถุระเบิดได้โดยตรง ต้องดัดแปลงโดยผสมสาร 2 ชนิดเสียก่อน คือ "เชื้อเพลิง" และ "เชื้อปะทุ"  เนื่องจากยูเรียเป็นสารทั่วไปชนิดหนึ่ง ที่พบในปัสสาวะของมนุษย์ ทำให้บางคนเรียกระเบิดแบบนี้ว่า "ระเบิดปัสสาวะ" (urine bomb)

            "สารยูเรียที่ทำเป็นปุ๋ยติดไฟยาก ต้องผสมเชื้อเพลิง เช่น โซล่าในปริมาณมากพอ และมีตัวจุดไฟด้วย สารยูเรียสามารถใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น ทำกาว ส่วนด้านเกษตร ปุ๋ยยูเรียใช้ทั่วไปในแปลงข้าว ต้นไม้ อ้อย ฯลฯ ถ้าเป็นจังหวัดอื่นสามารถซื้อขายปุ๋ยยูเรียได้ทั่วไป แต่สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีระบบควบคุมเป็นพิเศษ ชาวไร่ชาวนาต้องขออนุญาตมีขั้นตอนต่างหาก เพื่อป้องกันไม่ให้ซื้อไปดัดแปลงทำเป็นวัตถุระเบิด" ผู้เชี่ยวชาญฯ รายเดิมกล่าว

..........

(หมายเหตุ : ระบบเซฟตี้'สุวรรณภูมิ'กระเป๋าไฟลุก  : ทีมข่าวรายงานพิเศษ)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ