ข่าว

แผน..คำรับสารภาพมองผ่านตร.ถึงสิทธิผู้ต้องหา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แผน..คำรับสารภาพ มองผ่านตร.ถึงสิทธิผู้ต้องหา : ทีมข่าวรายงานพิเศษ


              ยังเป็นข้อกังขาของสังคมถึงกระบวนการทำงานของตำรวจต่อคดีฆาตกรรม "เอกยุทธ อัญชันบุตร" กรณีนำตัวผู้ต้องสงสัยมาแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน ทั้งที่ข้อเท็จจริงยังดูสับสนขัดต่อหลักฐานที่พบในตัวผู้ต้องสงสัยและในรถตู้คันที่เกิดเหตุ ตลอดจนรีบนำตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีและสาธารณชน ในมุมมองของตำรวจ  นักสิทธิมนุษยชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม มีทัศนะต่อเรื่องนี้อยางไร?!!

              พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อธิบายว่า การนำผู้ต้องหาไปชี้ที่เกิดเหตุนั้น เรียกให้ถูกต้องคือ "การทำแผนประทุษกรรมผู้ต้องหานำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ" ดังนั้นต้องมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. คำรับสารภาพ 2.มีที่เกิดเหตุ 3.ผู้ต้องหานำชี้ หมายความว่าต้องเป็นผู้ต้องหาเท่านั้นที่นำเดินหรือนำทางไป ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเดินนำหรือชี้บังคับไม่ได้ ทำได้เพียงรับฟังและบันทึกเอกสาร บันทึกภาพถ่ายและภาพวีดีโอเท่านั้น

              "วิธีนี้ถือเป็นวิธีสากลพนักงานสอบสวนทั่วโลกใช้ แต่สิ่งที่ระวังคือ ต้องไม่บังคับให้ผู้ต้องหารับสารภาพหรือถามชี้นำ หรือไปเดินนำหน้าพาไป หลายครั้งที่เจอผู้ต้องหากลับคำรับสารภาพในชั้นศาล เพราะถูกบังคับจากตำรวจให้สารภาพทั้งที่ไม่ได้ทำผิดจริง จึงอยากเตือนให้ตำรวจระวังในการทำคดีอย่างนี้ และที่สำคัญคือสื่อมวลชนที่ตามไปทำข่าว หรือบันทึกรายการออกทีวีหรือหนังสือพิมพ์นั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา เพราะเขาแค่อยู่ระหว่างดำเนินคดีศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าผิดจริง ลำพังแค่คำรับสารภาพและพาไปชี้ที่เกิดเหตุไม่ได้เป็นหลักฐานแน่ชัดหรือผูกมัดว่าศาลจะต้องตัดสินว่ามีความผิดจริง"

              พล.ต.อ.วันชัย ยอมรับว่า คณะกรรมการสิทธิฯ พยายามเผยแพร่ข้อมูลส่วนนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนรับทราบ แต่ยังมีการออกข่าวแบบนี้ แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีใครตระหนักในสิทธิของผู้ต้องหาอย่างแท้จริง อาจเป็นไปได้ในอนาคตที่จะมีผู้ต้องหาฟ้องกรณีข้างต้น จะเป็นคดีตัวอย่างให้สังคมได้ตระหนักถึงสิทธิของทุกฝ่าย

              สอดคล้องกับที่ "พนม บุญตะเขียว" ตัวแทนเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาเอาไว้ในมาตรา 39 มาตรา 40 (2) ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด จะมาปฏิบัติต่อผู้ต้องหาเหมือนเป็นนักโทษที่ศาลตัดสินความผิดแล้วไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพยานในคดี มีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรมและการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง 

              "การเอาผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพแล้วมีสื่อมวลชนไปทำข่าวถ่ายทอดออกทั่วประเทศนั้น เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างเห็นได้ชัด ศาลอาจตัดสินคดีให้เขาบริสุทธิ์ก็ได้ แต่ไปเผยแพร่ชื่อและหน้าหมดแล้ว ขั้นตอนแบบนี้ตำรวจไม่จำเป็นต้องมาออกข่าว ในหมู่นักกฎหมายมีการถกประเด็นนี้กันหลายครั้งแล้ว อยากให้มีผู้ถูกกล่าวหาสักคนที่เจอแบบนี้แล้วมาฟ้องให้เป็นคดีตัวอย่าง" พนมกล่าวแนะนำ

              ด้าน พล.ต.อ.เจตน์ มงคลหัตถี ที่ปรึกษา (สบ10) รับผิดชอบงานกฎหมายและคดี 2 กล่าวถึงการทำแผนประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหาในคดีต่างๆ ว่า การทำแผนประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหามีระเบียบปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพเพื่อใช้ประกอบสำนวนการสอบสวน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี จะอธิบายลำดับเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงพฤติการณ์การก่อเหตุของผู้ต้องหาได้อย่างชัดเจน รวมทั้งช่วยในการตรวจทานในสิ่งที่ผู้ต้องหารับสารภาพว่าเป็นจริงสอดคล้องกับสิ่งที่ยอมรับ หรือสอดคล้องกับพยานหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ หรือไม่

              "คนเราหากไม่ได้ทำจริงอย่างที่บอกเวลานำตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพจะแสดงท่าทีงกๆ เงิ่นๆ ไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งจะบ่งบอกจากพฤติการณ์ได้ทันทีว่าสิ่งที่เขารับสารภาพมานั้นไม่ได้เป็นจริง แต่ถ้าเขาทำจริงอย่างที่บอกการทำแผนก็จะไม่ติดๆ ขัดๆ ทั้งนี้ การทำแผนไม่ได้มีใครบังคับหรือใครชี้แนะให้ทำตาม" พล.ต.อ.เจตน์ กล่าว

              พล.ต.อ.เจตน์ กล่าวด้วยว่า การทำแผนประกอบคำรับสารภาพยังมีประโยชน์ในการค้นหาหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ต้องหารับสารภาพว่าใช้อาวุธปืนฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุได้นำอาวุธปืนไปโยนทิ้งตามสถานที่ต่างๆ เมื่อผู้ต้องหารับสารภาพและนำไปทำแผนชี้จุดทิ้งอาวุธปืน ตำรวจจะตรวจค้นบริเวณนั้นตามที่ผู้ต้องหาบอก เมื่อเจออาวุธปืนนั้นตามที่ผู้ต้องหาบอกก็เชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำผิดจริง

              พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ที่ปรึกษา (สบ10) รับผิดชอบงานกฎหมายและคดี 1 เสริมว่า การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ จะต้องได้รับความยินยอมจากตัวผู้ต้องหาเอง ไม่ได้ถูกบังคับหรือขู่เข็ญ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่อิงมาจากคำพิพากษาของศาล เพราะการจัดทำแผนประกอบคำรับสารภาพเป็นการตรวจทานคำให้การของผู้ต้องหาว่าสิ่งที่ให้การมานั้นได้กระทำเช่นนั้นจริง ไม่ใช่ให้การเพราะถูกบังคับ ขู่เข็ญ หรือมีใครว่าจ้างมาให้ยอมรับผิดแทน

              "การรับสารภาพและการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ยังเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ต้องหาเอง ซึ่งในการพิจารณาคดีในชั้นศาลหลายคดีผู้พิพากษานำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาในการบรรเทาโทษให้แก่ผู้ต้องหา เพราะเห็นว่ามีการสำนึกผิดให้ความร่วมมือในการสอบสวน โดยคำรับสารภาพเป็นเหตุให้ควรบรรเทาโทษ" พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าว

              ขณะที่ อดีตผู้พิพากษาศาลอาญารายหนึ่ง กล่าวว่า คดีอาชญากรรมทุกคดี ตำรวจไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหรือนำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ เพราะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างชัดเจน เพราะกฎหมายไทยเป็นระบบกล่าวหาไว้ก่อน ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสิน ผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญา ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์

              "ผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญามีสิทธิ์ที่จะให้การหรือไม่ให้การใดๆ ก็ได้ในชั้นสอบสวน หากไม่ให้การและไม่ต้องการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ก็ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ในสำนวนและสอบถามสาเหตุ เช่นเดียวกัน หากผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนก็มีสิทธิ์ที่จะไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพหรือมีสิทธิ์ที่จะไม่ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ แต่พนักงานสอบสวนต้องบันทึกไว้"

              ต่อข้อสอบถามการทำแผนประกอบคำรับสารภาพมีประโยชน์ต่อรูปคดีหรือไม่ อดีตผู้พิพากษาศาลอาญารายเดิม อธิบายว่า ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจในการตัดสินคดีได้ หากผู้ต้องหาให้การรับสารภาพและทำแผนประกอบคำรับสารภาพก็เป็นประโยชน์ให้ศาลใช้ดุลพิจในการตัดสินคดีนั้นๆ แต่อย่าลืมว่าการทำแผนประกอบคำรับสารภาพบางครั้ง ผู้ต้องหาในคดีอาญาอาจกลับคำ หรืออาจมีเหตุอื่นใด ส่วนใหญ่ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานทั้งหมดมากกว่าการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ

              "มีหลายคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา แม้ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ศาลก็ยกฟ้อง เนื่องจากว่าผู้พิพากษาสงสัยในพยานหลักฐานหรือคำซัดทอดของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา ส่วนใหญ่ผู้พิพากษาจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ฉะนั้นการทำแผนประกอบคำรับสารภาพอาจไม่มีประโยชน์เท่าใดนัก แต่สิ่งที่มีประโยชน์คือพยานหลักฐาน" อดีตผู้พิพากษาอาญา กล่าวทิ้งท้าย


..........................................

(หมายเหตุ : แผน..คำรับสารภาพ มองผ่านตร.ถึงสิทธิผู้ต้องหา : ทีมข่าวรายงานพิเศษ)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ