ข่าว

ย้อนรอย4คดีดัง'อุ้มฆ่า-หาย'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอย4คดีดัง'อุ้มฆ่า-หาย' : โอภาส บุญล้อม รายงาน


               ข่าวการอุ้มฆ่า นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดัง กำลังเป็นที่สนใจของประชาชน ซึ่งนาทีนี้เหตุสังหาร ตำรวจได้สรุปผลสอบสวนออกมาว่าเป็นการฆ่าปล้นทรัพย์เงิน 5 ล้าน โดยคนขับรถของนายเอกยุทธกับพวกรวม 4 คน ร่วมกันลงมือฆาตกรรม 

               สำหรับ "คดีอุ้มฆ่า" - "อุ้มหาย" ในบ้านเรา เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยๆ บางคดีก็มีข่าวว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง รัฐบาล ผู้มีอำนาจ และ "คนมีสี"

               แต่หากจะกล่าวถึง "คดีอุ้มฆ่า" - "อุ้มหาย" ในอดีตที่โด่งดังและยังเป็นที่โจษขานจนถึงทุกวันนี้ คงต้องเป็น...

               1.คดีอุ้มนายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานคนสำคัญ

               นายทนง ถูกอุ้มหายตัวไปเมื่อ 19 มิถุนายน 2534 ในยุค "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" (รสช.) ครองเมือง

               "ทนง" ดำรงตำแหน่งประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานที่มีสมาชิกมากที่สุด มีบทบาทนำการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานมาโดยตลอด และเขายังเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ICFTU)อีกด้วย

               ในช่วงนั้นคณะ รสช.ออกคำสั่งยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและจำกัดการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานภาคเอกชน

               แต่นายทนงได้ออกมาคัดค้านอย่างจริงจัง โดยได้รวบรวมกำลังของผู้ใช้แรงงานและประกาศว่าจะจัดให้ผู้ใช้แรงงานออกมาชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเพื่อคัดค้านคำสั่งของรสช. ที่ให้ยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และคำสั่งที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกรรมกรภาคเอกชน โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 12 กรกฎาคม 2534

               และโอกาสอันสำคัญยิ่งของนายทนงก็มาถึง เมื่อเขาจะได้เป็นผู้แทนของคนงานไทยไปประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์  นายทนงประกาศว่าจะนำเรื่องราวการทำลายสิทธิเสรีภาพของคนงานไทยไปประจานกลางที่ประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ นายทนง มีกำหนดการเดินทางไปในวันที่ 20 มิถุนายน 2534 แต่ในวันที่ 19 มิถุนายน เขาก็ "ถูกอุ้ม" หายไป หลังจากที่ขับรถยนต์ออกจากบ้านและหายสาบสูญไปจนถึงทุกวันนี้ นับเป็นเวลานานถึง 22 ปีแล้ว

               2.คดีอุ้มทนายสิทธิมนุษยชน "สมชาย นีละไพจิตร"

               นายสมชาย เป็นทนายความในคดีสำคัญหลายคดี โดยเฉพาะคดีทางภาคใต้ที่ประชาชนถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการก่อการร้าย และว่าความให้จำเลยพ้นจากข้อหาได้เกือบทุกคดี

               การทำงานของเขาหลายคดี เปิดโปงพฤติกรรมของตำรวจ และหลายฝ่ายเชื่อกันว่า ผลงานของเขาน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เขา "ถูกอุ้ม" หายไป

               11 มีนาคม 2547 นายสมชาย เดินทางออกจากบ้านในซอยอิสรภาพ 9 เขตธนบุรี กทม. เพื่อไปทำงานตามปกติ โดยขับรถยนต์ส่วนตัวออกไปและไม่ได้กลับบ้านเนื่องจากจะต้องไปนอนพักค้างคืนที่บ้านเพื่อนเพื่อเตรียมตัวไปว่าความในคดีเจไอ ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส
 
               วันต่อมา 12 มีนาคม เวลา 20.30 น. นายสมชาย ได้เดินทางไปยังโรงแรมชาลีน่าในซอยมหาดไทย ย่านลาดพร้าว เพื่อรอพบเพื่อนซึ่งได้นัดกันไว้ แต่เพื่อนไม่มาตามนัด นายสมชายจึงเดินทางกลับ 

               ระหว่างเดินทางออกจากโรงแรมชาลีน่า นายสมชาย ขับรถยนต์ส่วนตัวโดยใช้เส้นทางถนนรามคำแหง เพื่อจะไปนอนพักค้างคืนที่บ้านเพื่อน ระหว่างที่เดินทางออกจากโรงแรมมีกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวน 5-6 คน ขับรถยนต์สะกดรอยติดตามในระยะกระชั้นชิด จนถึงบริเวณหน้าร้านแม่ลาปลาเผา เยื้องกับสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก จึงได้ขับชนท้าย เมื่อนายสมชาย หยุดรถเพื่อลงมาพูดคุย กลุ่มชายฉกรรจ์ได้ทำร้ายร่างกายโดยการชกท้องและผลักนายสมชายเข้าไปในรถยนต์ของกลุ่มชายฉกรรจ์ แล้วขับรถพานายสมชาย หลบหนีไป

               ข่าวนายสมชายหายตัวไปอย่างลึกลับในสมัย "รัฐบาลทักษิณ" เป็นที่สนใจของประชาชนทั่วประเทศ เนื่องจากในขณะนั้นนายสมชายกำลังรวบรวมรายชื่อชาวมุสลิมจำนวน 5 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

               นอกจากนั้นยังให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่กลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในคดีปล้นอาวุธปืนของทหารกองพันพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส ที่ถูกทำร้ายร่างกายและทรมานเพื่อให้รับสารภาพ ซึ่งนายสมชายได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง
 
               ต่อมาได้มีการจับกุมตำรวจกองปราบปราม 5 นายและได้มีการยื่นฟ้องต่อศาล ในข้อหาปล้นทรัพย์และข่มขืนใจนายสมชาย แต่สุดท้ายศาลได้สั่งยกฟ้องจำเลยทั้งหมด

               ผ่านไป 9 ปีแล้วแต่ยังไร้วี่แววนายสมชาย และยังไม่สามารถหาตัวผู้ที่อุ้มฆ่าและผู้ที่บงการมาลงโทษได้

              3.คดีอุ้มฆ่าลูกเมีย "สันติ ศรีธนะขัณฑ์"

               ย้อนกลับไปเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ราวตีสองของวันที่ 1 สิงหาคม 2537 มีผู้พบศพนางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ ภรรยาและบุตรชายนายสันติ ศรีธนะขันฑ์ เจ้าของร้านเพชรย่านบ้านหม้อ ภายในรถเบนซ์ บนถนนมิตรภาพ ต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เบื้องต้นมีการสรุปว่า การเสียชีวิตของสองแม่ลูกมาจากอุบัติเหตุถูกรถบรรทุกสิบล้อที่วิ่งสวนทางมาชน

               แต่การเสียชีวิตของนางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ไม่ได้เป็นการเสียชีวิตเหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป เพราะทั้งสองแม่ลูกในขณะนั้น เป็นภรรยาและบุตรของนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ ผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “เพชรซาอุฯ”

               ก่อนหน้านั้นข่าวโจรกรรมเพชรของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียถูกเผยแพร่ออกไป และรัฐบาลซาอุฯ ระบุว่า "คนร้าย" เป็นคนไทยที่เข้าไปทำงานในพระราชวังซาอุฯ  อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น จึงสั่งการให้ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ รับผิดชอบติดตามตัว “วายร้าย นักโจรกรรมบันลือโลก” ซึ่งถูกระบุว่าเป็นชาวลำปาง นาม “เกรียงไกร เตชะโม่ง” ทันที

               ต่อมาตำรวจควบคุมตัวนายเกรียงไกรได้และคำสารภาพนายเกรียงไกรพุ่งเป้าไปที่นายสันติ ในฐานะ “ผู้ซื้อ” เพชรน้ำงามของราชวงศ์ไป

               ปฏิบัติการตามล่าตัว “สันติ ศรีธนะขัณฑ์” จึงอุบัติขึ้น นายสันติต้องหนีหัวซุกหัวซุน จน พล.ต.ท.ชลอ จนปัญญา จึงหันไปใช้วิธีการใต้ดิน นั่นคือปฏิบัติการ “อุ้มลูก-เมียนายสันติ" ไปเป็นตัวประกัน เพื่อล่อให้นายสันติ” โผล่ออกมา นางดาราวดี และ ด.ช.เสรี จึงหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยจากหน้าบ้านพักย่านตลิ่งชัน จนกระทั่งตีสองวันที่ 1 สิงหาคม 2537 จึงมีผู้ไปพบสองแม่ลูกภายในรถเบนซ์ริมถนนมิตรภาพ เขต อ.แก่งคอย จ.สระบุรี แต่เป็นสองแม่ลูกที่ไร้ลมหายใจแล้ว

               ต่อมาตำรวจชุดคลี่คลายคดีฆาตกรรมสองแม่ลูก ได้จับกุม พล.ต.ท.ชลอ กับพวก และส่งฟ้องต่อศาล กระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อ 15 ตุลาคม 2552 ให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ เป็นการปิดฉากคดีที่ยาวนานถึง 15 ปี

               4.คดีอุ้มนักธุรกิจซาอุฯ "อัลรูไวลี่"

               นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ เข้ามาอยู่ในเมืองไทยเมื่อประมาณปี 2529 เปิดบริษัททำธุรกิจจัดส่งแรงงานไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง ภายหลังเกิดคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุฯ แล้ว จากนั้นไม่นาน “อัลรูไวลี่” ก็หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์  2533 มีคนพบเห็นครั้งสุดท้ายขณะขับรถเก๋งออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน ประมาณเวลา 15.00 น. “อัลรูไวลี่” โทรศัพท์ติดต่อกับภรรยาบอกว่าจะเดินทางไปรับกลับบ้าน จากนั้นก็หายตัวไปไม่สามารถติดต่อได้

               จากการสืบสวนของตำรวจในทางลับ พบว่าการหายตัวไปของอัลรูไวลี่ น่าจะมีส่วนเชื่อมโยงกับคดีสังหาร 3 เจ้าหน้าที่ทูตซาอุฯ เนื่องจากทีมสืบสวนที่ทำคดีสังหารนักการทูตซาอุฯ อ้างว่าพยายามตามหาตัว "อัลรูไวลี่" มาสอบปากคำหาข้อมูลพยานหลักฐานบางอย่าง

               ต่อมาได้มีการโอนคดีมาให้ดีเอสไอทำ และได้ดำเนินคดีกับ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ในขณะนั้น กับพวกรวม 5 คน ข้อหาร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นจนถึงแก่ความตายและร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตนและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญา และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบพยานของศาลอาญา

               ส่วนคดีการตายของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร จะเป็นแค่ "ฆาตกรรมธรรมดาหวังเอาทรัพย์" หรือว่ามี "เบื้องหลัง" ทำเป็นขบวนการ มี "ใบสั่งฆ่า" หรือเกี่ยวข้องกับ "การเมือง" อย่างที่บางฝ่ายพยายามโยงใย.. คงต้องรอดูกันต่อไป

......................................

(หมายเหตุ : ย้อนรอย4คดีดัง'อุ้มฆ่า-หาย'   : โอภาส บุญล้อม รายงาน)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ