ข่าว

ไม่กลัว...'โทษประหารชีวิต'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่กลัว...'โทษประหารชีวิต' : ทีมข่าวรายงานพิเศษ


              หนึ่งในเป้าหมายแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศไทย ฉบับที่ 2 (2552-2556) ได้แก่ การผลักดันยกเลิก "โทษประหารชีวิต" เปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน โดยเชื่อว่า การประหารชีวิตเป็นการลงโทษด้วยวิธีแก้แค้น เพราะมีหลักคิดพื้นฐานมาจากผู้ตั้งใจฆ่าผู้อื่นอย่างโหดร้ายทารุณควรถูกฆ่าให้ตายตกไปตามกันจึงจะสาสม นอกจากนี้ยังหวังขู่ให้อาชญากรเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าทำผิดร้ายแรง เช่น ค้ายาเสพติด ฯลฯ
 
              ขณะฝ่ายคัดค้านมองว่า ประเทศที่มีโทษประหารชีวิตไม่ได้มีสถิติฆาตกรรมน้อยลงแต่อย่างใด ถือเป็นการลดคุณค่าศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์ขัดกับหลักทัณฑวิทยา ที่มีวัตถุประสงค์แก้ไขดัดนิสัยให้ผู้ทำผิดกลับตัวเป็นคนดี มิใช่การแก้แค้น ยิ่งไปกว่านั้น การสั่งลงโทษประหารนั้นหากการตัดสินผิดพลาดไปแล้ว จะไม่มีทางแก้ไขเรียกชีวิตกลับคืนมาได้ ดังกรณีไต้หวันที่สั่งประหารชีวิตทหารคนหนึ่งด้วยความผิดฐานฆ่าข่มขืนเด็กผู้หญิง ภายหลังผลพิสูจน์พบว่าทหารคนนั้นรับสารภาพเพราะถูกซ้อมทรมานนานถึง 37 ชั่วโมง ผู้บริสุทธิ์ตายฟรีโดยครอบครัวได้รับแค่คำขอโทษจากประธานาธิบดีไต้หวัน...
 
              องค์กร "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" รายงานสถานการณ์ปี 2555 ว่า ประเทศไทยเป็น 1ใน 58 ประเทศทั่วโลกที่ยังมีโทษประหารชีวิต ขณะที่ 140 ประเทศทั่วโลกยกเลิกไปแล้ว เฉพาะประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ มีเพียง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และ ไทย ยังคงมีและโทษประหารชีวิตอยู่ สถิติปี 2555 บันทึกว่าศาลไทยตัดสินประหารชีวิต 106 คดี มีนักโทษรอวันประหารประมาณ 650 คน โดยกว่าร้อยละ 50 เป็นความผิดเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด
 
              เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องคดียาเสพติดวิเคราะห์ว่า เมืองไทยยังคงต้องมีโทษประหารชีวิตต่อไป และควรจะเร่งรัดคดีให้เร็วกว่าเดิมด้วย เพราะปัญหาหนักตอนนี้คือ นักค้ายาเสพติดที่ถูกจับไปอยู่ในคุกนั้น กำลังสร้างเครือข่ายค้ายาบ้ากลุ่มใหญ่ มีการสั่งซื้อสั่งขายผ่านตัวแทนจากเรือนจำโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย รายเล็กพอได้ไปอยู่กับเจ้าพ่อพ้นโทษออกมากลายเป็นรายใหญ่ เพราะได้คนสนับสนุนมากกว่าเดิม กลุ่มโดนจำคุกตลอดชีวิตก็ไม่กลัว เพราะบางครั้งอยู่ในนั้นชีวิตปลอดภัยกว่า สั่งการให้ซื้อขายส่งยาบ้าได้สะดวก มีลูกน้องเยอะแยะเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ
 
              "เคยเจอคนขายยาบ้าไม่กี่เม็ด แล้วล่อให้ตำรวจจับเพราะอยากเข้าไปอยู่ในเรือนจำ จะได้รู้จักขาใหญ่กลุ่มต่างๆ พ้นโทษออกมามีลู่ทางทำมาหากินเพิ่มขึ้น ยิ่งในแดนลึกๆ ที่มีโทษหนักๆ จะยิ่งปลอดภัย เพราะผู้คุมไม่กล้ายุ่ง กลัวโดนสั่งเก็บ เหมือนกรณีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี ถูกนักโทษจับเป็นตัวประกันแล้วเชือดตายด้วยมีด ใครจะกล้าเสี่ยงไปยุ่งกับพวกนี้ ผู้อำนวยการเรือนจำยังไม่กล้าเข้าไปในแดนของพวกมันเลย โทรศัพท์มือถือมีเยอะแยะ เดี๋ยวนี้ใช้แบบโทรผ่านดาวเทียมแล้ว ต่อให้ตัดสัญญาณก็ไม่กลัว ในต่างประเทศเขาใช้กล้องวงจรปิดติดแทบทุกตารางเมตร มองเห็นทั้งหมด แต่ของเราอ้างว่าไม่มีงบประมาณ ใครอยากเสียเงินภาษีเลี้ยงข้าวพวกนี้จนตาย? ยิ่งอยู่นานยิ่งกลายเป็นเจ้าพ่อ ขนาดลงโทษประหารชีวิตยังไม่กลัวกันเลย"
    
              ในอีกมุมมองหนึ่ง "สมศรี หาญอนันทสุข" นักสิทธิมนุษยชน กรรมการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้รณรงค์ต่อต้านโทษประหารชีวิตมายาวนานกว่า 30 ปีแสดงความเห็นว่า คดียาเสพติดนั้นหลายฝ่ายสนับสนุนให้ลงโทษประหารชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้วนักโทษเหล่านี้เป็นเพียงเศษเบี้ยตัวน้อยของแก๊งค้ายาเสพติด แทบจะไม่เคยเห็นหัวหน้าแก๊งหรือตัวการใหญ่ถูกจับมาลงโทษประหาร แม้แต่คดีของนายสุภาพ สีแดง หรือ "ภาพ 70 ไร่" เจ้าพ่อยาเสพติดคลองเตย ก็ถูกตัดสินเพียงจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น 
 
              "นักโทษประหารคดียาเสพติด เป็นแค่คนจน ชาวเขา นักเลงหัวไม้ ฯลฯ ที่รับจ้างขนยาเสพติดหรือขายเพื่อได้ค่าตอบแทนไม่เท่าไร แต่ตัวใหญ่รอด ไม่ค่อยถูกจับ เพราะฉะนั้นจะสั่งประหารชีวิตคดียาเสพติดอีกมากเท่าไร หัวหน้าแก๊งพวกนี้ก็ไม่สะเทือน คนที่ถูกจับส่วนใหญ่ทำเพราะความยากจน ความโลภ อยากได้เงินง่ายๆ หากนักโทษกลุ่มนี้ผ่านขั้นตอนอบรมกล่อมเกลาเปลี่ยนนิสัย อาจกลับมาเป็นคนดีของสังคมได้ แม้ว่าจะเคยทำผิดร้ายแรงแค่ไหนก็ตาม นอกจากบางคนที่ทำผิดด้วยกลมสันดานจริงๆ ก็ควรสั่งขังคุกตลอดชีวิต แต่ควรให้ทำงานบางอย่างเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ใช่นั่งเฉยๆ ไปวันๆ แต่ต้องไม่ให้ทำงานหนักจนถึงกับละเมิดความเป็นมนุษย์"
 
              แม้งบประมาณในการดูแลนักโทษที่ถูกสั่งจำคุกยาวนานจากคดียาเสพติดนั้น มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปีเป็นภาระหนักของกรมราชทัณฑ์ แต่นักสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นกลับมองว่า เงินภาษีเลี้ยงดูเลี้ยงข้าวนักโทษเหล่านี้ มีจำนวนน้อยกว่าเงินที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลคอร์รัปชั่นจากโครงการต่างๆ มากมายหลายร้อยเท่า พร้อมสรุปว่า
 
              จุดประสงค์ของการลงโทษก็เพื่อให้โอกาสทุกคนได้กลับตัวกลับใจ แต่ถ้าลงโทษประหารชีวิตแล้ว เท่ากับการสั่งฆ่าคน เป็นเรื่องน่าขยะแขยงที่รัฐจะสั่งฆ่าประชาชนไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม
 
              คนไทยเข้าใจเรื่องสิทธิการมีชีวิตอยู่น้อยมาก แต่หลังจากต่อสู้มา 30 กว่าปีเริ่มมีหลายกลุ่มเห็นด้วยมากขึ้น...ดังนั้นการต่อสู้ยังคงต้องมีอีกต่อไป จนกว่าเมืองไทยจะยกเลิกโทษประหารชีวิต ยกระดับจิตใจให้ศิวิไลซ์เหมือนนานาชาติ


..............

(หมายเหตุ : ไม่กลัว...'โทษประหารชีวิต' : ทีมข่าวรายงานพิเศษ)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ