ข่าว

'แกนนำป่วนใต้'นำสมาชิกนับร้อยมอบตัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"แวอาลีคอปเตอร์"นำแนวร่วมป่วนใต้กว่า 100 มอบตัวแม่ทัพภาค 4 พร้อมยื่น 3 ข้อเสนอขอความเป็นธรรม แลกเลิกสู้รบรัฐ เผย"สะแปอิง บาซอ-มะแซ อุเซ็ง" จ่อตามมา "อุดมชัย"ชี้หากสถานการณ์ดีขึ้น ยกเลิกพรก.ปลดหมายจับ ด้าน ผบ.ทบ.ระบุความสำเร็จอีกก้าวอันยิ่งใหญ่

             ความคืบหน้ากลุ่มแนวร่วมก่อความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้เจรเจาเข้ามอบตัวกับทางการ เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 11 กันยายน ที่หอประชุมบรมราชกุมารี สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส พล.ท.อดุมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เป็นประธานการแสดงตัวยืนยันเพื่อยุติการต่อสู้ของกลุ่มนายแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ หรือชื่อจัดตั้ง "เจ๊ะอาลี" ที่ทางการเคยตั้งรางวัลนำจับ 1 ล้านบาท เป็นตัวการใหญ่ร่วมวางแผนและสั่งการให้แกนนำระดับปฏิบัติการนำกำลังบุกปล้นปืน กองพันพัฒนา 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 4 นาย
 
              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแวอาลี ได้นำผู้หลงผิดกว่า 100 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมเพื่อเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามแผนพาคนกลับบ้านของโครงการประสานใจเพื่อสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการแสดงตัวยืนยันเพื่อยุติการต่อสู้ของนายแวอาลีคอปเตอร์และพวกในครั้งนี้ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกในนาม Badan Penyelarasan Wawasan Baru Melayu Patani หรือ กลุ่มปลดปล่อยความขัดแย้งเขตปกครองใหม่มลายูปัตตานี มีข้อสรุปร่วมกัน 3 ข้อ เสนอต่อแม่ทัพภาค 4 คือ 1.เมื่อเข็มมุ่งทางยุทธศาสตร์การต่อสู้ลำหน้ามวลชนและยาวไกลเกินไป 2.การชี้นำแนวทางขององค์กรนำไม่สามารถให้คำอธิบายได้อย่างชัดเจนในทางยุทธวิธีเพื่อให้บรรลุทางยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ และ 3.เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรัฐกำหนดนโยบายที่เป็นการสร้างสรรค์มากขึ้นจึงต้องกำหนดแนวทางใหม่เช่นกัน


รัฐเป็นธรรม-แกนนำมอบตัวอีก

              พร้อมทั้งขอทราบความชัดเจนแนวทางปฏิบัติต่อประเด็นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.รัฐมีมาตรการดำเนินการต่อผู้ที่ยุติบทบาทความรุนแรงโดยเฉพาะผู้ที่มีหมายจับอย่างไร  2.รัฐจะจัดการความขัดแย้งให้เป็นรูปธรรมอย่างไรเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมสร้างสันติภาพในพื้นที่ และ 3.รัฐมีหลักประกันเช่นไรในการกำหนดนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม และหวังคำตอบที่เป็นรูปธรรมจะเป็นก้าวสำคัญสร้างสังคมให้มีความสันติสุขยุติความรุนแรงโดยสิ้นเชิง ถึงแม้อาจจะมีบางคนบางกลุ่มยังคงต้องการเคลื่อนไหวด้วยวิธีรุนแรงแต่ในที่สุดก็จะเป็นส่วนน้อย
 
              รายงานข่าวจากฝ่ายมั่นคง เปิดเผยว่า หากรัฐดูแลและให้ความเป็นธรรมต่อนายแวอาลีคอปเตอร์และพวกเป็นอย่างดี อีกไม่นาน นายสะแปอิง บาซอ และนายมะแซ อุเซ็ง แกนนำคนสำคัญ จะออกมาแสดงตัวยืนยันยุติการต่อสู่กับรัฐ
 
              รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การขอเจรจารัฐบาลนั้น นายคัสตูรี มะโกตา หัวหน้ากลุ่มพูโล ที่มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสวีเดน ได้ประสานตรงไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา โดยผ่านทางเว็บไซต์แต่เรื่องดังกล่าวเงียบหายไป ทำให้เกิดข้อกังขาจนไม่กล้าออกมามอบตัว เนื่องจากแกนนำรัฐบาลไม่เอาด้วย


แม่ทัพ4จ่อเลิกพรก.ปลดหมายจับ
 
              นายมุคตาร์ ซีกะจิ ในนาม Badan Penyeelarasan Wawasan Baru Melayu Patani หรือ องค์กรความร่วมมือเพื่อวิศัยทัศน์ใหม่มาลายูปัตตานี กล่าวว่า การเข้าพูดคุยกับคณะแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นการแสดงเจตจำนงของกลุ่มคนที่มีความเห็นแตกต่างกับรัฐเพื่อให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบสุขและมีความสันติ ที่ผ่านมาทุกคนต้องใช้ชีวิตด้วยความลำบากเพราะมีหมายจับไม่กล้าออกมาใช้ชีวิตตามปกติ
 
              พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4  กล่าวว่า กลุ่มที่มาร่วมพูดคุยครั้งนี้ถือเป็นผู้กล้าที่เป็นนักรบ ซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ โดยการพูดคุยไม่มีการต่อรองแต่เป็นการพูดคุยเพื่อสร้างความสันติภาพมาสู่พื้นที่ ซึ่งมีการเจรจาสร้างความเข้าใจถึงแนวทางที่ผ่านมาว่าเป็นการกระทำไม่ถูกต้องโดยเฉพาะการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อทำร้ายซึ่งกันและกันเนื่องจากทุกคนเป็นคนไทยเหมือนกัน
 
              "หลังจากมีการพูดคุยครั้งนี้แล้ว หากพื้นที่มีความสงบสุข อาจจะมีการยกเลิกใช้กฎหมาย พ.ร.ก. ผู้ที่ถูกออกหมายจับก็จะถูกยกเลิกไปด้วย ส่วนตัวเชื่อว่าพื้นที่จะมีความสงบในไม่ช้า จะมีก็แต่บางส่วนที่ยังหลงผิดสร้างสถานการณ์อยู่ ก็ต้องเป็นภาระของเจ้าหน้าที่ต้องดูแล ควบคุมและสร้างความเข้าใจกันต่อไป"แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว


ผบ.ทบ.สั่งคุ้มกันแนวร่วมกลับใจ
 
              ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์กรณีแนวร่วมก่อความไม่สงบเข้าหารือแม่ทัพภาคที่ 4 ว่า เป็นการเตรียมการของกองทัพจะเห็นว่าเป็นความก้าวหน้าที่เราไม่สามารถพูดได้ก่อน ซึ่งเราติดต่อและพยายามพูดคุยกันมาตลอด โดยภาคประชาสังคม พ่อแม่หรือญาติพี่น้องของพวกเขามีอยู่แล้ว กองทัพเปิดโอกาสให้ตลอด แต่ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะสามารถดูแลผู้ก่อการร้ายได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งทั้ง 80 คนมั่นใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ถึงความจริงใจที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้ทุกมิติในการแก้ไขปัญหา และอีกประการ คือ พวกเขาเห็นความโหดร้ายของฝ่ายผู้ก่อเหตุ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง จึงพยายามออกมามอบตัว
 
              "ส่วนอีกฝ่ายพยายามกดไม่ให้กลุ่มเหล่านี้เข้ามามอบตัวและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ดังนั้นพวกเขาจึงใช้ความรุนแรงเข้ามาสู้กัน ซึ่งวันนี้ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งอันยิ่งใหญ่ ส่วนเรื่องอื่นคงจะตามมา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว และว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำวันนี้ แต่ทำมาหลายปีจนกว่ากลุ่มคนเหล่านี้เชื่อใจจึงได้ออกมา ทั้งนี้ในเรื่องคดี ตนกังวลแทนคนเหล่านี้อยู่แล้ว จะต้องดูกฎหมายมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ความมั่นคงฯจะสามารถดูแลได้แค่ไหน ซึ่งมีความแตกต่างกับคำสั่ง 66/23 ที่เป็นการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้ารัฐมีพ.ร.บ.ออกมา หรือมีคำสั่ง 66/23 ออกมา สามารถยกความผิดให้กันได้และกลับมาสู่การพัฒนาชาติไทย
 
              ผบ.ทบ.กล่าวอีกว่า วันนี้มีกฎหมาย ป.วิอาญาเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่เราต้องการคือให้กลุ่มคนเหล่านี้ออกมา ส่วนเรื่องโทษทัณฑ์ค่อยว่ากัน และจะต้องเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ที่สำคัญจะต้องไม่ไปล้มล้างกฎหมายที่มีอยู่แล้ว และเห็นใจ รวมถึงการดูแลความปลอดภัยเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องทำ โดยดูแลความปลอดภัยทั้ง 80 คน สิ่งที่ทำมา 7 ปี นี่ถือว่าเป็นการเริ่มต้น อีกฝ่ายต้องการสู้ให้รุนแรงมากขึ้น เราต้องใช้ความอดทนและอดกลั้นกับยุทธวิธีที่เกิดขึ้น


ส.ส.3ชายแดนใต้ปชป.ซัดรัฐ


              นายประเสริฐ พงศ์สุวรรณศิริ นายอับดุลการิม เด็งระกีนา ส.ส.ยะลา และ นายสุรเชษฐ แวอาแซ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลงตำหนิรัฐบาลว่า กำหนดทิศทางการแก้ปัญหาไม่ชัดเจนสร้างความสับสนให้ประชาชนในพื้นที่ทำให้เป็นกังวลขาดความมั่นใจต่อการแก้ปัญหาภาคใต้
 

“พร้อมพงศ์”ท้า“เจะอามิง”เปิดชื่อนักการเมือง

              นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า มีนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลอักษรย่อ “ว.” ไปกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่อ.เบตง จ.ยะลา และอ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่า เป็นการกล่าวหาที่ไม่ปรากฏหลักฐาน น่าจะเป็นการกุข่าว ทั้งนี้ตนอยากให้นายเจะอามิงเปิดเผยชื่อออกมาเพื่อให้คนที่ถูกกล่าวหาได้ออกมาปฏิเสธ หรือถ้าหากมีหลักฐานก็ขอให้ออกมาแสดงหรือดำเนินการตามกฏหมายเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาล

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ