ข่าว

เปลือยชีวิต13นักโทษประหาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อิสรภาพบนเส้นบรรทัด" เปลือยชีวิต13นักโทษประหาร : โต๊ะรายงานพิเศษ

                   ไม่บ่อยนักที่นักโทษประหารจะมีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวภายในสถานที่คุมขังเด็ดขาดใน "คุกบางขวาง" ผ่านงานเขียนเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชน หลังจากบรรดานักโทษกว่า 30 ชีวิต ผ่านการฝึกฝนจากนักเขียนสารคดีระดับแนวหน้าของประเทศ แล้วคัดเหลือเพียง "นักเขียน-นักโทษ" ฝีมือคุณภาพ 13 คน ตามโครงการฝึกอบรม "เรื่องเล่าจากแดนประหาร" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการกำลังใจ ของสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ต้องการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่นักโทษประหาร และเป็นการพัฒนาศักยภาพด้านงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ไปในคราวเดียวกัน
   
                "นัทธี จิตสว่าง" ที่ปรึกษาโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เล่าถึงโครงการนี้ว่า เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553-มีนาคม 2554 โดยสำนักกิจการในพระดำริฯ ร่วมกับเครือข่ายพุทธกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม นำคณะนักเขียนที่มีชื่อเสียงเช่น อรสม สุทธิสาคร, วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์, วีระศักดิ์ จันทร์ส่องแสง, พระไพศาล วิสาโล, ประมวล เพ็งจันทร์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ, ไพวรินทร์ ขาวงาม, ศุ บุญเลี้ยง และดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ มาฝึกอบรมงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ให้นักโทษในเรือนจำบางขวาง
   
                การฝึกอบรมงานเขียนดังกล่าวใช้เวลาทุกๆ วันจันทร์ เป็นเวลา 4 เดือน โดยได้คัดเลือกนักโทษที่มีแววในการเขียนจำนวน 30 คน มาฝึกฝนขัดเกลาจนสามารถเขียนงานออกมาได้ดี หลังจากนั้นจึงคัดเลือกงานเขียนของนักโทษเหลือ 13 เรื่อง แล้วนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ “อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์สารคดีในการจัดพิมพ์และวางจำหน่ายให้ โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะนำเข้าสมทบทุนในโครงการกำลังใจฯ ต่อไป
   
                “เรื่องราวในหนังสืออิสรภาพบนเส้นบรรทัดฯ ทั้งหมด เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในคุก ตัวนักโทษเป็นผู้เขียนเล่าเรื่องเอง เชื่อว่าผู้ที่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้ประโยชน์และได้แง่คิดในการยับยั้งชั่งใจไม่ให้ตัวเองกระทำผิด” นัทธี บอก
    และเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ เปิดคุกแดน 14 เรือนจำบางขวาง เปิดตัวหนังสือ "อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร" มีโอกาสพบปะนักเขียนทั้ง 13 ชีวิตอย่างใกล้ชิด และหนึ่งในนั้นคือ  นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ นักโทษในคดีฆาตกรรม พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ซึ่งเคยเป็นคดีดังเมื่อหลายปีก่อน
   
                นพ.วิสุทธิ์ เจ้าของนามปากกา “หมอธรรมดา” เจ้าของงานเขียนเรื่อง “ชีวิตคือการเรียนรู้” ตีพิมพ์ในหนังสืออิสรภาพบนเส้นบรรทัดฯ เป็นเรื่องที่ 6 เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคุกที่เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ตัวเขาจะต้องเรียนรู้หลังชีวิตหมดอิสรภาพ แม้กระทั่งวิธีการถอดกางเกงขณะที่ขาทั้งสองข้างถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวน ล้วนเป็นสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ใหม่
   
                นพ.วิสุทธิ์ สะท้อนอีกว่า ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้เป็นนักเขียนทั้งที่ยังถูกจองจำอยู่ในคุก ต้องขอบคุณกระทรวงยุติธรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ให้โอกาส ที่ผ่านมาหลายคนอาจคิดว่า เป็นนักโทษประหารแล้วไร้ความหมายไม่จำเป็นต้องพัฒนา ต้องก้มหน้ารับกรรมรอความตาย แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น กลับมีการให้โอกาสได้ฝึกฝน
   
                “ตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผมและเพื่อนอีก 30 ชีวิตอยู่ระหว่างการฝึกอบรมงานเขียน ช่วงเวลาที่เราจะรอคอยทุกสัปดาห์ คือวันจันทร์เช้าถึงบ่าย เพราะจะได้มีโอกาสฝึกฝนงานเขียน มีโอกาสได้พบกับนักเขียนมืออาชีพที่มาช่วยฝึกอบรมให้เราเขียนเป็น กระทั่งวันนี้มีโอกาสได้เห็นงานเขียนของตัวเองได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือทำให้รู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น” นพ.วิสุทธิ์ ขยายความ
   
                นอกจากนี้ยังมีนักโทษซึ่งศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตอีก 12 คนที่มีโอกาสได้กลายเป็นนักเขียน โดยแต่ละคนได้กลั่นกรองประสบการณ์ชีวิตในเรือนจำบางขวางมาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ และเลือกที่จะใช้นามปากกาแทนการเปิดเผยชื่อและนามสกุลจริง
   
                "ปลาช่อน" นามปากกาของอดีต “จ่าสิบตำรวจ” มือสืบสวนของตำรวจปราบปรามยาเสพติด ซึ่งจับพลัดจับผลูกลายเป็นนักโทษประหารในคดีค้ายาเสพติด ซึ่งได้เปลือยชีวิตเรื่องราวในคุกผ่านงานเขียนเรื่อง “นกในเรือนจำนรกในเรือนใจ” บอกว่า ติดคุกมาแล้ว 9 ปี จนทุกวันนี้ปลงในชะตาชีวิต หันหน้าพึ่งพระธรรมจนเพื่อนนักโทษพากันเรียกว่า “มัคนายกวัดบางขวาง” ไปกันหมดแล้ว ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสได้เป็นนักเขียน 
   
                “เรื่องราวที่นำมาเขียนเป็นการแฉถึงการแอบใช้โทรศัพท์ของนักโทษในเรือนจำบางขวาง ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ผมเห็นมากับตา ไม่ได้ต่อเติมเสริมแต่งใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในเรือนจำห้ามเด็ดขาดไม่ให้นักโทษแอบใช้โทรศัพท์ แต่ก็มีการฝ่าฝืน ซึ่งผู้ฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษ” นักโทษประหารที่มีโอกาสได้เป็นนักเขียนเจ้าของนามปากกา "ปลาช่อน" บอก
   
                “พิมเสน” นามปากกาของนักโทษประหาร เจ้าของผลงานเขียนเรื่อง “อยู่คุก(ก็ได้)ขี่เบนซ์” เป็นอีกคนที่ไม่เคยคิดว่าชั่วชีวิตจะได้มีโอกาสเป็นนักเขียน โดยเรื่องราวที่เขาเขียนถึงเป็นการแฉการกระทำของนักโทษในเรือนจำบางขวางที่ตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างจากตัวเขา
   
                “คำว่าขี่เบนซ์ ในคุกนั้นไม่ใช่การขับรถเบนซ์อย่างที่คนภายนอกเข้าใจ แต่เป็นการกระทำกับอวัยวะเพศ เพื่อให้ผิดรูปไปจากเดิม ซึ่งเป็นเรื่องกิเลสของมนุษย์ ที่คนในคุกต่างเชื่อกันว่าผ่าเบนซ์แล้วจะทำให้ผู้หญิงชอบ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสใช้มันหรือไม่" พิมเสน บอก
   
                เรื่องราวที่กลั่นกรองจากชีวิตจริงจากนักโทษประหารทั้ง 13 คน ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ รวบรวมไว้ในหนังสือ “อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร” กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม คาดหวังว่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่มีโอกาสได้อ่านได้รับรู้รับทราบถึงเรื่องราวของชีวิตหลังหมดอิสรภาพ เพื่อให้เกิดความยับยั่งชั่งคิดในการดำรงชีวิตแต่ละวัน โดยหนังสือเล่มนี้หาซื้อได้แล้วตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ