ข่าว

ทะลักท่วมเมืองเชียงใหม่หลายจุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

น้ำปิงสูงกว่า 4.40 เมตร เริ่มล้นตลิ่งทะลักท่วมพื้นที่ต่ำในตัวเมืองหลายจุด ชลประทานขาดสุงสุดถึง 4.50 เมตร ค่ำวันนี้ เตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ

         28 ก.ย.54 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำปิงล้นตลิ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ ล่าสุดว่า เมื่อเวลา 13.00 น.(วันที่ 28 ก.ย.) ระดับน้ำปิงที่จุด P1 สะพานนวรัฐ มีปริมาณสูงกว่า 4.40 เมตร ปริมาณน้ำ 614 ลบ.ม./วินาที เกินจุดวิกฤตที่ 3.70 เมตร ปริมาณน้ำ 440 ลบ.ม./วินาทีแล้ว 

         ทั้งนี้ ส่งผลให้น้ำเริ่มละลักเข้าท่วมพื้นที่หลายจุดในเขตตัวเมือง โดยเฉพาะถนนเชียงใหม่ - ลำพูน ใกล้ห้างริมปิง ซุปเปอร์มาเก็ตสาขานวรัฐ  รวมทั้งชุมชนป่าพร้าวนอก  บริเวณโรงแรมรติล้านนา  ถนนช้างคลาน สะพานภาค 5 และถนนเจริญประเทศ บริเวณโรงเรียนพระหฤทัย  ขณะที่หมู่บ้านเวียงทองน้ำยังไม่ไหลเข้าท่วม แต่ชาวบ้านได้นำกระสอบทรายมาปิดกั้นบริเวณหน้าบ้าน และขนสิ่งของไว้บนที่สูงแล้ว  

         ด้านสำนักชลประทานที่ 1 แจ้งว่า ระดับแม่น่ำปิงที่จุด P 67 บ้านแม่แตอ.สันทราย ยังมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในช่วงเย็นวันนี้ ( 28 ก.ย.) ระดับน้ำที่จุด P 1 สะพานนวรัฐ น่าจะสูงสุดที่ระดับ 4.50 เมตร จึงขอแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำและอาศัยอยู่ริมแม่น้ำปิง ขนย้ายสิ่งของไว้บนที่สูง   

 

เผยไร้ระบบเตือนภัยทำชาว บ้านไม่ทันตั้งตัว  ผบ.ทบ.มอบเงินส่วยตัวช่วยเหลือเบื้องต้น

         ความคืบหน้าเหตุการณ์น้ำป่าพัดถล่มหมู่บ้านก๋ายน้อย หมู่ 2 ต.เมืองก๋าย อ.แม่แตง จ .เชียงใหม่ ล่าสุดทีมค้นหาที่ประกอบด้วยชุดปฏิบัติการค้นหาจากกองพันพัฒนาที่ 3  กองพันทหาร ปืนใหญ่ที่ 7 , กองพันสัตว์ต่าง และ ตชด.ภาค 3 ได้พบผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย คือ นายจรัส อินทรัตน์  อายุ 48 ปี นางแสงจันทร์ อินทรัตน์ อายุ 40 ปี สองสามีภรรยา และ นางพัฒน์ อินทรัตน์ อายุ 34 ปี  โดยพบศพติดอยู่ในกองเศษไม้ที่พังเสียหายจากการถูกน้ำป่าพัดติดอยู่กับตอม่อสะพาน ห่างจากจุด ที่บ้านตั้งอยู่ราว 200 เมตร ส่วนนายจรัส อินทรัตน์ อายุ 56 ปี และ ด.ญ.มัลลิกา อินทรัตน์ อายุ 9 ปี  ลูกสาวของนายจรัส เจ้าหน้าที่ยังไม่พบและกำลังเร่งค้นหา

         นายสังวร ผางมาลี ผู้ใหญ่บ้านก๋ายน้อย ผู้รอดชีวิตเล่าเหตุการณ์ว่า หลังมีฝนตกหนัก ตลอดทั่งคืนระดับน้ำในลำห่วยก๋ายน้อยที่ไหลผ่านหมู่บ้านได้เพิ้มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น ตนจึงตื่นขึ้นและวิ่งออกมาสำรวจนอกบ้าน ซึ่งหลังจากวิ่งออกบ้านได้ไม่ถึงนาทีน้ำป่าได้พัดเอาบ้าน ของตนเองหายไปกับกระแสน้ำทั้งหลัง ขณะที่บ้านของนายจรัสหลบหนีออกจากบ้านไม่ทันทำให้เสีย ชีวิตทั้งครอบครัว สำหรับเหตุการณ์น้ำป่าที่เกิดขึ้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

         หลังเกิดเหตุ พ.อ.ธรรมศักดิ์ สุขวัฒนา รอง ผบ.มทบ.33 เดินทางเข้าพื้นที่เป็นตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยเงินที่ มอบดังกล่าวเป็นเงินส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนการช่วยเหลือ มทบ.33 จะจัดกำลังเข้ามาสนับ สนุนชุดเดิมเพื่อค้นหาผู้สูญหายและฟื้นฟูสภาพความเสียหาย รวมทั้งจัดหน่วยพยาบาลเข้าดูแลผู้ ประสบภัย  

         อย่างไรก็ตาม รายงานแจ้งว่า หมู่บ้านก๋ายน้อยตั้งอยู่ริมลำห้วยและอยู่ติดกับเชิงเขาซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยง น้ำป่าและดินถล่ม แต่หมุ่บ้านแห่งนี้ไม่มีระบบเตือนภัยติดตั้งแต่อย่างใด จึงอาจเป็นสาเหตุให้ชาว บ้านไม่ทันตั้งตัว ขณะที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังทำให้ระบบไฟฟ้าและโทรศัพท์พื้นฐานไม่สามารถใช้ การได้จนทำให้การติดต่อประสานงานเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก

 

 

ฝนตกหนักน้ำป่าหลากพัดสะพานตัดขาดชาวบ้าน 1,200 ครอบครัว ในพื้นที่อ.แม่สรวย

          ภายหลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย พบว่าได้ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากลงสู่ลำห้วยม่วงซึ่งเป็นลำน้ำไหลผ่านหมู่บ้านห้วยม่วง ม.10 ต.แม่สรวย และหมู่บ้านแม่สรวย ม.5 ต.แม่สรวย และกระแสน้ำที่เชี่ยวกราดได้ซัดเอาคอสะพานและตัวสะพานข้ามลำน้ำห้วยม่วงจนตัวสะพานพังเสียหาย ชาวบ้านทั้งหมดไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ตามปกติ

          หลังเกิดเหตุนายบุญธรรม จันต๊ะมา กำนัน ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย นายฉลอง มหาวุฒิ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เขต อ.แม่สรวย ได้เข้ไปตรวจสอบความเสียหายของพื้นที่พบสะพานที่พังเสียหายมีความกว้าง 8 เมตร ยาว 18 เมตร โดยตัวสะพานยุบลงทั้งแถบจึงไม่สามารถใช้การได้โดยสิ้นเชิง แต่เนื่องจากสะพานหลักที่ชาวบ้านกว่า 1,200 ครัวเรือน ใช้สำหรับติดต่อสัญจรกับโลกภายนอก

          ทั้งนี้ จึงได้ระดมกำลังชาวบ้านไปตัดไม้ไผ่มาทำเป็นสะพานชั่วคราวไม่ห่างจากสะพานหลักที่เสียหายมากนัก แต่ก็เป็นสะพานชั่วคราวที่รับน้ำหนักได้เฉพาะคนและรถจักรยานยนต์เท่านั้น สำหรับสะพานข้ามลำห้วยม่วงดังกล่าวชาวบ้านใช้เพื่อการสัญจรไปมาตลอด โดยเฉพาะการขนพืชผลทางการเกษตรเพื่อนำออกไปจำหน่ายสู่ตลาดข้างนอก ซึ่งจะมีการขนกันเป็นประจำทุกวันเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร แต่เมื่อไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้จึงต้องอ้อมเขาไกลกว่าเดิมกว่า 20 กิโลเมตร

          นายบุญธรรม กล่าวว่า หลังเกิดเหตุและชาวบ้านเดือดร้อนหนักได้ประสานกับเทศบาล ต.แม่สรวย และเทศบาล ต.เวียงสรวย ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลพื้นที่คาบเกี่ยวดังกล่าว เพื่อให้เข้าไปดูสภาพความเสียหายและจัดหางบประมาณมาทำการซ่อมแซมสะพานให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไปแล้ว 

 

 

'ศอส.'เผยยังมีน้ำท่วมใน 21 จว. เตือนเขื่อนสิริกิติ์ ป่าสักชลสิทธิ์ แควน้อย วิกฤต

         นายยงยุทธ  วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ในฐานะประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) ว่า  ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 21 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี  รวม 144 อำเภอ 1,085  ตำบล 8,206 หมู่บ้าน

         ขณะเดียวกัน ราษฎรเดือดร้อน 579,313 ครัวเรือน 1,874,586 คน ผู้เสียชีวิต 173 ราย สูญหาย 2 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย  6,157,916 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ บ่อปลา 90,242 ไร่ สัตว์ได้รับผลกระทบ 6,937,065 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ รวม 119  สาย แยกเป็น  ทางหลวง  37 สาย ใน 10 จังหวัด ทางหลวงชนบท 82 สาย ใน 17 จังหวัด

         สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คือ ที่ลุ่มน้ำปิงมีน้ำล้นตลิ่งที่ อ.สันทราย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และคาดว่า จะล้นตลิ่งที่ อ.หางดง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และ อ.เมือง อ.ป่าซาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน อ.จอมทอง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ตามลำดับ

         ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 4,308 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,661 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3,217 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ 9 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 

         “สถานการณ์น้ำในเขื่อนยังอยู่ในภาวะวิกฤตที่เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ  99 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแควน้อยมีปริมาณน้ำ 95 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 135 เปอร์เซ็นต์ แม้อิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อนไห่ถางจะอ่อนกำลังลง แต่ยังส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและพายุลมแรงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่มใกล้ทางน้ำไหลผ่านใน 28 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี สระบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง  พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก” รมว.มหาดไทย กล่าว และว่า ขณะนี่มีคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 - 4 เมตร  ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในวันที่ 28 - 29 ก.ย. และขอให้จังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมรับสถานการณ์และเฝ้าระวังผลกระทบ จากอิทธิพลช่วงแรกของพายุเนสาดที่จะทำให้เกิดภาวะฝนตกหนักในวันที่ 29 ก.ย.

         ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดรายการพิเศษ“รวมพลังไทย ช่วยภัยน้ำท่วม” โดยเปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และได้จัดตั้งคณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ได้อนุมัติเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยให้ ปภ.นำไปจัดหาเรือพายขนาดเล็ก จำนวน 5,000 ลำ เพื่อสนับสนุนให้จังหวัดที่ประสบอุทกภัยใช้ในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขัง  

         อย่างไรก็ตาม ปภ.ได้ดำเนินการจัดหาเรือเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจึงได้จัดพิธีปล่อยคาราวานสิ่งของและเรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี โดยในเบื้องต้นจะดำเนินการจัดส่งเรือให้แก่พื้นที่ประสบอุทกภัย 4 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี อุทัยธานี อ่างทอง และชัยนาท จังหวัดละ 500 ลำ รวม 2,000 ลำ สำหรับเรือที่เหลืออีก 3,000 ลำ ปภ.จะได้ดำเนินการส่งมอบในระยะต่อไป

 

กทม. เปิด'เฟซบุ๊ค-ทวิตเตอร์'แจ้งเหตุน้ำท่วม 

         นายสัญญา ชีนิมิต ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงมาตรการรับมือน้ำท่วมในกทม.โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออก อาทิ มีนบุรี ลาดกระบัง หนองจอก ว่า หากมีปริมาณน้ำเข้ามาในพื้นที่ กทม.จะมีแผนรับน้ำโดยเร่งระบายผ่านคลองประเวศ คลองแสนแสบ เพื่อเข้าอุโมงค์ระบายน้ำ จากนั้นเข้าสถานีสูบน้ำที่พระโขนง เร่งระบายผ่านเขตลาดกระบังออกสู่ริมทะเลที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งบริเวณนั้นจะมีแนวระบายน้ำของกรมชลประทานเสริมอยู่ด้วย ซึ่งจะช่วยระบายน้ำอีกทั้งหนึ่งได้ แต่หากมีปริมาณน้ำเข้ามาจริง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ได้สั่งเขตที่เกี่ยวข้องเตรียมการไว้แล้ว โดยมีแผนอพยพประชาชนไปยังในจุดที่กทม.ที่เตรียมไว้

         นายสัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนปริมาณน้ำที่จะเข้ามาทางแม่น้ำเจ้าพระยา กทม.ได้สร้างแนวป้องมีระดับสูงอยู่ที่ 2.50 เมตร ซึ่งที่ผ่านมากทม.เคยมีระดับน้ำสูงสุดเมื่อปี 2553 ประมาณ 2.10 เมตร ดังนั้น ไม่อยากให้ประชาชนแตกตื่น เพราะกทม.จะทำหน้าที่เฝ้าระวังอย่างเต็มที่ โดยแนวทางที่เตรียมไว้หากมีปริมาณน้ำล้นเข้ามาในระบบ ก็จะมีเครื่องสูบน้ำเสริมเข้าไปดำเนินการ และเปิดประตูระบายน้ำเสริม รวมทั้งมีหน่วยเบสท์คอยดูประเมินสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกทม.ได้เตรียมความพร้อมไว้นานแล้ว

         นายสัญญา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ยังมีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมที่เป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งมาได้ที่เฟซบุ๊ค “ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร” หรือ ทางทวิตเตอร์ ที่ @BKK_BEST หากเป็นพื้นที่รับผิดชอบของกทม.ก็มีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ของเอกชนก็จะประสานงานเพื่อแจ้งให้มีการเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้ คาดว่าหากมีปริมาณน้ำเหนืออย่างเดียว โดยไม่มีฝนเข้ามาเพิ่มเติม กทม.น่าจะรับมือได้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ