ข่าว

ศาลสั่งกห.ถอนคำ'โรคจิตถาวร'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ กห. เพิกถอนคำเฉพาะ ที่ระบุข้อความ 'เป็นโรคจิตถาวร' ใน สด.43, สด.5 และ สด.9 ของการตรวจเลือกทหารสาวประเภท 2 และให้ผู้ถูกฟ้อง หาคำใหม่ใช้แทน

        13 ก.ย.54 นายเทอดพงศ์ คงจันทร์ ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนฟ้องเพิกถอนข้อความใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน อ่านคำพิพากษาคดีที่ นายสามารถ มีเจริญ สาวประเภท 2 ยื่นฟ้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (หน่วยบัญชาการกำลังสำรองเดิม)  และสัสดี จังหวัดลพบุรี   เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เรื่องกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  กรณีระบุคำสั่งการตรวจใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน(สด. 43) ใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 (สด.5) และใบสำคัญให้รับราชการทหาร (สด.9) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยใช้ข้อความว่า "เป็นโรคจิตถาวร"  ซึ่งผู้ฟ้องเห็นว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และกระทบต่อสถานะบุคคลทำให้ผู้ฟ้องเป็นผู้ขาดคุณสมติในการเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานในหน่วยงานเอกชนใดๆ  จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขข้อความดังกล่าวในเอกสารทั้งหมด

         ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์ ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า  ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามการให้ความเห็นของแพทย์ ผู้แทนกรมสุขภาพจิต ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2548 ระบุว่า ผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่ยังไม่ผ่าตัดแปลงเพศ แต่มีการเสริมหน้าอกไม่ถือเป็นโรคจิต เพียงแต่มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน ซึ่งการวินิจฉัยทั่วโลกได้มีการยอมรับในมาตรฐานการจำแนกโรคแล้วว่า ผู้ที่เบี่ยงเบนทางเพศไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ และมนุษย์ที่มีพฤติกรรมทางเพศโดยพึงพอใจในเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ตาม ถือว่าเป็นสิทธิส่วนตัวและความพอใจส่วนตัว อีกทั้งเมื่อพิเคราะห์จากกรณีที่องค์การอนามัยโลกได้ตัดลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกันออกจากกลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางจิตด้วยแล้ว  กรณีจึงรับฟังได้ว่า ไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างลักษณะสภาพร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจเลือกที่มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่มีเต้านมแบบสตรีและมีบุคลิกลักษณะเป็นหญิง กับการเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิต

         คำพิพากษาระบุด้วยว่า การที่คณะกรรมการตรวจเลือกทหารกองเกินอาศัยเพียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพร่างกาย และบุคลิกดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีที่เป็นผู้มีภาวะทางเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ซึ่งมิได้สัมพันธ์กับอาการของผู้ป่วยทางจิตตามความหมายทางวิชาการ แล้วนำมาวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีเป็นโรคจิตถาวร จึงเป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และยังทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องได้รับความอับอาย สูญเสียความภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเองที่มีต่อคนรอบข้างและสังคม 

         เนื่องจาก การปรากฎข้อความว่า เป็นโรคจิตถาวรในเอกสารประจำตัวของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเอกสารราชการที่ต้องนำไปแสดงในการสมัครงานหรือในการอื่นๆ จึงเป็นการตีตราว่า ผู้ฟ้องคดีมีอาการทางจิตผิดปกติอย่างรุนแรงและไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ ทั้งที่ ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นโรคจิตแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ฟ้องคดีให้น้อยลง จึงเป็นกรณีที่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ฟ้องคดี  อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหาย อันเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ฟ้องคดี

         อีกทั้ง ข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1และ 2 ได้เห็นถึงความไม่ถูกต้องของการวินิจฉัย กรณีผู้เข้ารับการตรวจเลือกที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดว่า เป็นโรคจิตถาวร ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าวและได้เกิดกับผู้ฟ้องคดีมาแล้ว ทั้งที่เจตนาแท้จริงของการวินิจฉัยไปในลักษณะเช่นนั้น สืบเนื่องมาจากกระทรวงกลาโหมไม่ประสงค์ที่จะรับบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวเข้ารับราชการทหารกองประจำการ เพราะจะทำให้เกิดความยากลำบากในการฝึกและปฏิบัติการทหาร

         ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวกระทรวงกลาโหมจึงได้ดำเนินการเสนอร่างกฎกระทรวงแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับที่ 37 (พ.ศ.2516) ที่ออกตาม พ.ร.บ.ราชการทหาร พ.ศ.2497  กำหนดคนจำพวกที่ 2  ซึ่งมีร่างกายที่เห็นได้ชัดว่าไม่สมบูรณ์ ดีเหมือนคนจำพวกที่1 แต่ไม่ถึงทุพพลภาพ โดยเพิ่มเติมว่า “ข้อ3(12) ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ซึ่งเป็นไปด้วยความเห็นชอบด้วยกันของผู้ถูกฟ้องที่ 1 รมว.มหาดไทย  กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งผู้ฟ้องด้วย โดยกำลังอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อเสนอครม.เห็นชอบ 

         อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าเมื่อการตรวจเลือกบุคคลเข้ารับราชการทหารกองประจำการเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงกลาโหมที่ต้องดำเนินการทุกปี จึงเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องที่ 1  ที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและเป็น 1ใน ครม.ที่จะเห็นชอบออกกฎกระทรวง จะต้องดำเนินการเร่งรัดติดตามให้ออกกฎกระทรวงให้แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว  เพื่อนำมาใช้บังคับกับผู้เข้ารับการตรวจเลือกที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดไม่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อไม่ให้ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลดังกล่าว และเพื่อประโยชน์แก่ราชการทหารในการป้องกันและรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรต่อไป  เมื่อได้ความว่าผู้ฟ้องเป็นเพียงผู้มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดไม่ได้เป็นโรคจิตถาวรแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 จึงมีหน้าที่ดำเนินการระบุข้อความที่เหมาะสมสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ที่จะบ่งบอกภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดของผู้ฟ้อง ขณะเข้ารับการตรวจเลือกให้ถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดต่อไป

          ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะกรรมการตรวจเลือกวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องเป็นโรคจิตถาวร เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญฯปี 2540 มาตรา 4 และ 26  พิพากษาให้เพิกถอนใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ พ.ศ. 2548 ( สด. 43) ใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 ( สด.5) และใบสำคัญ ( สด. 9) ของ นายสามารถ ผู้ฟ้องเฉพาะในส่วนที่ระบุข้อความว่า “เป็นโรคจิตถาวร” และให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสามดำเนินการให้มีการระบุข้อความใหม่ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่บ่งบอกถึงลักษณะของผู้ฟ้องคดีขณะเข้ารับการตรวจเลือกที่แสดงให้เห็นว่าไม่อาจเข้ารับราชการทหารได้ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป

         ด้าน พ.อ.ชาติชาย แจ้งสี ผอ.กองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า แม้ขณะนี้จะไม่ติดใจในผลคำพิพากษา แต่จะต้องแจ้งผลการพิพากษาให้ผู้บังคับบัญชารับทราบก่อนว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ ส่วนที่มีการเสนอแก้กฎกระทรวงนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา  ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลา อย่างไรก็ดี ในการตรวจเลือกผู้เข้าเกณฑ์ทหารนั้น ที่ผ่านมาได้ตรวจเลือกโดยให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอยู่แล้ว  หากการตรวจมีปัญหา ผู้ที่รับการตรวจเลือกสามารถร้องต่อคณะกรรมการชั้นสูง เพื่อตรวจสอบการดำเนินการของคณะกรรมการได้  ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการตรวจเลือก

          ขณะที่ พ.ท.อรรถพล แผ้วพาลชน ผู้รับมอบอำนาจจากหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กล่าวว่า พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษา  แต่ในส่วนที่มีการพิพากษาว่าคณะกรรมตรวจเลือกได้ใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ในการลงข้อความนั้น เป็นประเด็นที่ต้องเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณา  หากจะมีการอุทธรณ์ก็ต้องการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป  อย่างไรก็ตาม หากมีบุคคลอื่นร้องขอให้แก้ไขข้อความก็คงต้องรอให้มีการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่

          ส่วนนายเจษฎา แต่สมบัติ ตัวแทนเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า ขอขอบคุณศาลปกครองที่มีคำวินิจฉัยให้มีการแก้ไขเอกสาร สด.43  ของผู้ฟ้องคดี  โดยคำพิพากษาของศาลในวันนี้จะช่วยให้กองทัพมีแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในการตรวจเลือกทหารกองเกินต่อไปในอนาคต โดยให้คำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะและเพศวิถีของประชาชน อีกทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ได้รับเอกสาร สด.43 ที่ระบุว่าเป็นโรคจิตถาวรในอดีตทุกคน  ให้มีโอกาสได้รับการแก้ไข สด.43 เช่นเดียวกับผู้ฟ้องคดี 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเข้ารับฟังคำพิพากษาของศาลปกครองในวันนี้ นายสามารถ เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ขณะที่ฝ่ายถูกฟ้องมี พ.ท.อรรถพล แผ้วพาลชน ผู้รับมอบอำนาจจากหน่วยบัญชาการรักษาดินแดง ผู้ถูกฟ้องที่ 2 และ พ.อ.วีระ เกษรา สัสดีจังหวัดลพบุริ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 เดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยกลุ่มเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีทั้งสาวประเภท 2 ทอม และเกย์ จำนวนมากได้นำร่มสีรุ้ง และป้ายสัญลักษณ์ของกลุ่ม มาให้กำลังใจกับนายสามารถด้วย  ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นกลุ่มเครือข่ายความหลากหลายทางเพศได้มอบช่อดอกไม้ให้กับ พ.อ.ชาติชาย โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และมีการจับมือเพื่อให้กำลังใจกันและกันด้วย 

 

กลุ่มเกย์การเมือง ห่วงตีความคำว่ากะเทย เป็นบุคคลสองเพศ 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลปกครองสั่งเพิกถอนใบ สด.43 ระบุกะเทยเป็นโรคจิตถาวร เป็นคำสั่งที่ละเมิดศักดิ์ศรีมนุษย์ แต่เป็นแค่ผู้มีภาวะทางเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดและให้กระทรวงกลาโหมแก้ไขข้อความในใบ สด. 43 ใหม่เป็นคำว่า "เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด" นายนที ธีระโรจนพงศ์ ประธานกลุ่มเกย์การเมือง กล่าวว่า รู้สึกดีใจและยินดีกับคำพิพากษาตัดสินของศาลปกครองในครั้งนี้ ต่อไปคำว่ากะเทย ไม่ได้มีความหมายว่าการเป็นโรคจิตหรือโรคภัยไข้เจ็บที่น่ารังเกียจ แต่เกิดจากสภาพจิตใจที่แตกต่างของแต่ละบุคคล

         อย่างไรก็ตามยังรู้สึกกังวล แม้ว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งยกเลิกความหมายคำว่า กะเทยที่ระบุในใบ สด. 43 เกณฑ์ทหาร จากคำว่าโรคจิตถาวร เป็นเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด อาจทำให้สังคมเข้าใจผิดและมีอคติกับคำว่ากะเทย จนไม่กล้าใช้คำนี้อีกเพราะกะเทยเป็นคำที่อยู่คู่ประเทศไทยมายาวนานมีที่มาและการยอมรับในสังคม จำเป็นต้องธิบายเหตุผลให้สังคมเข้าใจคำว่ากะเทย ไม่ได้มีความหมายการเป็นเพศที่น่ารังเกียจเพราะเพศสภาพที่แสดงออกไม่ตรงกับเพศกำเนิด แต่เป็นสภาพจิตใจและการแสดงออกโดยพฤตินัยของบุคคลไม่ใช่บุคคลสองเพศ

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ