ข่าว

นักวิชาการ มข. แฉแหลกทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขอนแก่น - คมข่าวทั่วไทย

 

               วันที่ 14 ส.ค. 2562 รศ.ดร.พรอัมรินทร์​ พรหมเกิด คณะ​มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น เปิดถึงกรณีการทุจริตสนามฟุตซอลที่มีการตรวจพบในหลายพื้นที่ว่า จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า​ การทุจริตคอร์รัปชันจากการก่อสร้างสนามฟุตซอล​ นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา เนื่องจากการทุจริตประเภทนี้​มีการเตรียมการและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ​ มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องหลายฝ่าย​ แล้วมีการร่วมมือกันทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ​ การทุจริตประเภทนี้นับวันจะมีความแยบยลมากยิ่งขึ้น

 

 

 

               ในการทุจริตจากการก่อสร้างสนามฟุตซอล​ ยังมีเรื่องเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย​ กลุ่มอิทธิพลในที่นี้คือ​ กลุ่มคนที่มีอำนาจ​ ได้แก่​ นักการเมือง, ข้าราชการระดับสูง, และนักธุรกิจในเครือข่ายของเขา​ เมื่อมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล​ ก็มีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจมิชอบทุกรูปแบบ และทุกวิถีทาง​ เพื่อทำให้บรรลุถึงเป้าหมายของกลุ่มตน​ ซึ่งก็คือการได้ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ​ แม้ว่าการกระทำหรือการใช้อำนาจนั้นจะผิดกฎหมาย​ หรือละเมิดจริยธรรมของสังคมก็ตาม​ ซึ่งสื่อความหมายได้ชัดเจนว่า​ พฤติกรรมการใช้อำนาจของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล​ มักกระทำการใดๆที่ผิดกฎหมาย​ หรืออยู่เหนือกฎหมายเสมอ​ กล่าวอย่างง่ายว่า เครือข่ายกลุ่มอิทธิพล​ มักหากินกับเรื่องทุจริตและผิดกฎหมายอยู่เสมอ

               รศ.ดร.พรอัมรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ในกระบวนการทุจริตจากโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล​ เริ่มต้นจากมีนักการเมืองบางราย​ ได้แปรญัตติงบประมาณปี​ 2555 ให้กระทรวงศึกษาธิการ​ โดยการอ้างว่าเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำไปดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน และการก่อสร้างสนามฟุตซอล​ และการจัดซื้ิอครุภัณฑ์กีฬาลงสู่โรงเรียน​ หลังจากนั้นมีกลุ่มนักการเมืองบางรายได้เข้ามาติดต่อประสานงานกับกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา​ทั้งระดับประถมและมัธยม​ และใช้อิทธิพลโน้มน้าวจูงใจให้ผู้บริหารสถานศึกษา​รับข้อเสนอโครงการประมูลงานก่อสร้าง​ และการจัดซื้ิอครุภัณฑ์กีฬา​ จากบริษัทเครือข่ายที่เป็นพรรคพวกของตนเอง

 

 

นักวิชาการ มข. แฉแหลกทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอล

 

 

               ส่วนพฤติการณ์ทุจริตของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลที่เห็นได้ชัด​ เช่น​ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง​ มีลักษณะมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรม​ ทั้งนี้เพื่อต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าทำการเสนอราคา​ ที่เป็นพรรคพวกเครือข่ายของตน​ ให้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ, การก่อสร้างขั้นพื้นฐานสนามคอนกรีตไม่เป็นไปตามรูปแบบมาตรฐาน, และเจ้าของบริษัทที่เป็นคู่สัญญาก่อสร้างสนามฟุตซอลกับทุกโรงเรียน มีเหตุอันน่าเชื่อได้ว่า​ มีความเชื่อ​โยงในลักษณะการเป็นเครือข่ายเดียวกัน​ , และบางบริษัทผู้ก่อตั้งเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคขนาดใหญ่รายหนึ่งในภาคอีสาน​ เป็นต้น

               "โดยสรุปแล้ว​ การทุจริตจากโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล​ นับเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดอีกรูปแบบหนึ่ง​ ของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตค​อร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา​ ที่มีกลุ่ม​อิทธิพลต่างๆเข้ามา​เกี่ยวข้องเต็มรูปแบบ​ อันได้แก่​ หนึ่ง ​นักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น​ สอง​ ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค​ สาม​ นักธุรกิจในเครือข่ายบางราย​ กรณีการทุจริตในจ.นครราชสีมา​ เขตพื้นที่การศึกษาที่​ 2 ที่มีการชี้มูลความผิดจากสำนักงาน ป.ป.ช.​ เป็นเพียงกรณีหนึ่งของการทุจริตเท่านั้น​ แต่ยังมีอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน​ ที่มีการวางแผนการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ​ และถ้าศึกษาเจาะลึกลงไปในรายละเอียด​ จะพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตอีกเป็นจำนวนมาก​ อันสะท้อนให้เห็นว่า​ การทุจริตคอร์รัปชันในยุคหลัง​ ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนต่อคน​อีกต่อไป หากแต่กระทำกันในรูปเครือข่าย​ และมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและเป็นเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลอย่างชัดเจน หากปล่อยให้เกิดเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลเช่นนี้ในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบที่ตามมาคือ เกิดความเสื่อมทางสังคม และปัญหาพื้นฐานทางสังคมอื่นๆของชาติจะถูกกัดกร่อน ในท้ายที่สุดย่อมส่งผลกระทบโดยรวมต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติเป็นอย่างมาก" รศ.ดร.พรอัมรินทร์ ระบุ

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ