ข่าว

ข้อคิด จากทวี สอดส่องหลงทิศ ผิดทาง..ปลุก อสม.ขับเคลื่อนกัญชา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข้อคิด จากทวี สอดส่องหลงทิศ ผิดทาง...ปลุก อสม.ขับเคลื่อนกัญชา โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 

          นโยบายกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์ ซึ่งเดิมเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย แต่ตอนนี้ต้องบอกว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลไปแล้ว แม้การขับเคลื่อนประเด็นนี้จะเป็นเรื่องดี เพื่อผู้ป่วยจำนวนมากที่รอความหวัง


          แต่ไอเดียแปลกๆ ที่ประเดประดังเข้ามาเริ่มทำให้ “ผู้รู้” หลายๆ คนส่ายหน้าด้วยความกังวล

 

 

          โดยเฉพาะการเพิ่มความชำนาญให้ อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวนกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ จ่ายค่าตอบแทนให้ 2,500-10,000 บาทต่อเดือนตามความสามารถ เพื่อให้ อสม.ทำหน้าที่ช่วยส่งยาให้แก่ผู้ป่วย และเป็นผู้อธิบายยา การใช้ยา ตลอดจนผลข้างเคียงแก่ผู้ป่วย รวมถึงได้สิทธิ์ในการดูแลเรื่องการปลูกกัญชาในระดับหมู่บ้านด้วย


          พูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ นโยบายกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์นี้ สิ่งที่คนสนใจกันมากที่สุดคือเรื่อง “การเปิดให้ปลูกกัญชาขาย” ส่วนการรักษาอาการป่วย จริงๆ แล้วเป็นเรื่องรอง


          เรื่องการปลูกกัญชา อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ก็เคยประกาศเอาไว้เป็นเหมือน “ทิศทางนโยบาย” ที่เป็นสัญญาประชาคม เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์


          “การปลูกกัญชา ถ้าปลูกในบ้านก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยมี อสม.เป็นผู้ดูแล เพราะจะมีการจัดอบรมให้ อสม.ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อขยายผลการปลูกในบ้าน คาดว่าใช้เวลา 1-2 ปีก็จะเรียบร้อยทั้งหมด เครือข่าย อสม.ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขทุกคนขึ้นทะเบียนแล้วเรียบร้อย เรามีโครงการนำร่องจัดอบรมให้เห็นถึงประโยชน์และสรรพคุณของกัญชาแบบค่อยเป็นค่อยไปและขยายผลไปเรื่อยๆ”

 

          “เราจะจัดอบรมให้ อสม.รับทราบข้อมูลว่ากัญชาปลูกอย่างไร ใช้เมล็ดพันธุ์อย่างไร และกินอย่างไรเพื่อให้สามารถซึมซับโลหะหนักได้เร็ว ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง และเราพยายามทำให้เกิดขึ้น” นี่คือคำสัญญาจากรัฐมนตรีสาธารณสุข



ข้อคิด จากทวี สอดส่องหลงทิศ ผิดทาง..ปลุก อสม.ขับเคลื่อนกัญชา

 

 


          แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดกระแสวิจารณ์และคัดค้านตามมา
          พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ออกมาชูธงในเรื่องนี้ โดยบอกว่า รัฐบาลกำลังหลงทิศผิดทางในการใช้ อสม.นำร่องปลูกกัญชา ที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษ เพราะ อสม.ถือกำเนิดจากปฏิญญาสากลที่ให้ประชาชนมีสิทธิและหน้าที่ที่จะให้ความร่วมมือทั้งรายบุคคลและเป็นคณะ เพื่อให้บรรลุสภาวะสุขภาพที่ดี


          ที่สำคัญตามวัตถุประสงค์ของการเริ่มต้นจัดตั้ง อสม.ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ. 2520 คือ 1.เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพกันเองด้วยวิธีที่ง่าย ประหยัด และทั่วถึง 2.เพื่อช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในชนบท และ 3.เพื่อแก้ไขปัญหารักษาพยาบาลหรือดูแลรักษาสุขภาพที่ไม่ถูกต้องของประชาชน


          ฉะนั้น อสม.ถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญด้านสาธารณสุขในชุมชนที่มีบทบาทเชิงรุกในการส่งเสริมการดูแลสุขภาพแก่คนในชุมชนมานานกว่า 3 ทศวรรษ รัฐบาลควรส่งเสริมให้พัฒนาและยกระดับความรู้แก่ อสม. เพื่อให้สามารถทำงานเชิงรุกในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีแก่คนในชุมชน


          ปัจจุบัน อสม.ทั้งหมด มีประมาณ 1,054,729 คน แยกเป็น กทม. 15,000 คน และจังหวัดต่างๆ ประมาณ 1,039,729 คน
          พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ทำงานทั้งด้านการพัฒนาชนบท และงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกระทรวงยุติธรรม รู้สึกกังวลและห่วงใยต่อผลกระทบจากนโยบายกัญชาที่จะเป็นการแพร่ระบาดยาเสพติดมากยิ่งขึ้น


          “กรณี อสม. ที่ชุมชนหมู่บ้านศรัทธายอมรับและเชื่อมั่นมากที่สุดในการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิต การที่ อสม.กำหนดวัตถุประสงค์และมีบทบาทชัดเจนเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ถือว่ามีความถูกต้องเหมาะสมแล้ว หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมศักยภาพของ อสม. ก็ควรส่งเสริมสนับสนุน อสม.ให้ได้ทำงานการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง อสม. หรือผู้ช่วยแพทย์ สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องการปรึกษาแพทย์ทางไกล หรือวิดีโอคอล แต่การจ่ายยาควรจะต้องดำเนินการผ่านเภสัชกรตามหลักวิชาชีพ และป้องกันความผิดพลาด”


          “ฉะนั้นหาก อสม.กว่า 1 ล้านคนไปปลูกกัญชา ปริมาณกัญชาในตลาดคงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล นำมาซึ่งการเข้าถึงกัญชาที่สะดวกกว่าเดิมมาก ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นผลดีต่อผู้ป่วย แต่หากผู้ใช้กัญชาจำนวนมากในไทยยังไม่สามารถใช้กัญชาอย่างปลอดภัยได้ อย่างที่เห็นตามข่าวว่ามีผู้ป่วยใช้กัญชาจนเข้าห้องฉุกเฉิน หรือแม้กระทั่งการควบคุมไม่ให้มีการนำไปใช้ในเชิงสันทนาการ ก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่ชัดเจนในเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดยาเสพติด การเดินหน้านโยบายในลักษณะนี้จึงเกิดอันตรายต่อสังคมได้” เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ


          ในส่วนของการใช้ อสม.ขับเคลื่อนนโยบายกัญชา ควรคำนึงถึง อสม.ที่เป็นมุสลิม อย่างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะการส่งเสริมในสิ่งที่ไม่เพียงแค่กฎหมายยังไม่ปลดล็อกเท่านั้น แต่ในบริบททางศาสนาก็ยังตีความได้ว่าเป็นสารเสพติด ย่อมถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก


          พ.ต.อ.ทวี บอกด้วยว่า นโยบาย “กัญชา” ถูกสร้างภาพในเรื่องประโยชน์ทางเศรษฐกิจว่าจะสร้างรายได้ให้ประชาชน และมีประโยชน์ในทางการแพทย์ กรณีทางการแพทย์ ผลการศึกษาวิจัยพบว่ากัญชามีประโยชน์ สามารถรักษาโรคลมชัก โรคพาร์กินสัน แก้ปวดจากโรคปลอกประสาทเสื่อม และลดผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดเท่านั้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอีกหลายประการ ซึ่งต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม


          แต่ในกรณีโทษของการใช้กัญชานั้น ผลจากการวิจัยทางการแพทย์ชี้ชัดว่ากัญชายังเป็นสิ่งเสพติดอยู่ ฤทธิ์ของกัญชายังบั่นทอนความจำระยะสั้น การตัดสินใจ และบิดเบือนการรับรู้ จนนำไปสู่อุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดการสูญเสียชีวิต หรือการฆ่าตัวตายได้เลยทีเดียว


          นอกจากนี้ งานวิจัยในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าการใช้กัญชาในเยาวชน เช่น เด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี ทำให้มีโอกาสเสพติดและนำไปสู่ยาเสพติดประเภทอื่นได้ง่าย และยังส่งผลต่อการพัฒนาของสมองและร่างกายที่เชื่องช้า เกิดโรคจิตเภท วิตกกังวลทางสังคม และภาวะซึมเศร้า ศูนย์บำบัดผู้ติดยาในต่างประเทศมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาติดกัญชาสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง จากภาวะโรคจิตเภท วิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า ทั้งๆ ที่การเข้าถึงกัญชายังไม่เสรี


          ดังนั้น การผลักดันนโยบายกัญชาจะต้องชัดเจนเพื่อใช้ทางการแพทย์และเพื่อการวิจัยเท่านั้น การรีบเร่งให้ปัจเจกบุคคลสามารถปลูกกัญชาในช่วงที่ประเทศยังไม่มีข้อมูลรอบด้าน จึงเป็นแนวคิดและนโยบายที่สุ่มเสี่ยงมาก ยิ่งจะมีการใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขเพื่อการนี้ด้วยแล้ว ยิ่งต้องรอบคอบว่าจะก่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปอย่างสูงสุดแท้จริง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ