ข่าว

ฝ่ายค้านควรทำ"การบ้าน"ชำแหละนโยบายรัฐบาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...  ร่มเย็น


 

     

          เริ่มแล้ววันแรก (25 ก.ค.) สำหรับการแถลงนโยบาย “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ต่อรัฐสภา ซึ่งตามกำหนดการ คือ 25-26 กรกฎาคม สองวันสองคืน แบ่งเวลาอภิปรายออกเป็น คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบาย 1 ชั่วโมงครึ่ง, ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปราย 13 ชั่วโมงครึ่ง, ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอภิปราย 5 ชั่วโมง, วุฒิสมาชิกอภิปราย 5 ชั่วโมง และ ครม.ตอบข้อชี้แจง 5 ชั่วโมง 

 

 

          สำหรับคำแถลงนโยบายของ “คณะรัฐมนตรีประยุทธ์ 2” ซึ่งได้ส่งถึงมือสื่อมวลชนด้วยนั้น พบว่ามีการแบ่งเป็นนโยบายหลัก 12 ด้าน นโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ


          ดูแล้วก็ไม่มีอะไรตื่นเต้น เป็นนโยบายที่สานต่อจากรัฐบาลที่แล้วเท่านั้น อย่างนโยบายหลักข้อ 2  “การสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศและความสงบสุขของประเทศ” ก็สไตล์ “ลุงตู่” ดีๆ นี่เอง  


          ส่วนนโยบายเศรษฐกิจก็ “สมคิดโมเดล” ใช้ทีมเดิมที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ยกตัวอย่างนโยบายหลักข้อ 6 “การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค” เรื่องนี้มีการปูทางมาตั้งแต่จากปลายรัฐบาลที่แล้ว ส่วนนโยบายหลักข้อ 5 “พัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน” ก็อิงกับข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวที่ประเทศเราดีขึ้นนำมาเป็นจุดขาย ซึ่งถือเป็นผลงานของรัฐบาลที่แล้ว จึงนำมาเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อจะได้เห็นภาพของการสานต่อที่เป็นจุดแข็งของตัวเอง 


          แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านบ่นกันอู้ว่าเศรษฐกิจแย่ ทำมาหากินลำบาก เงินในกระเป๋าไม่มี จึงน่าคิดว่าหากรัฐบาลชุดนี้ไปหลงกับตัวเลขบางตัว แล้วเดินไปตามรอยรัฐบาลที่แล้ว จะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาเหมือนเดิมหรือไม่

 

          อีกทั้งนโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ ก็ไม่เห็นว่าจะมีนโยบายตรงไหนเป็นพิเศษที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เป็นการเน้นเศรษฐกิจมหภาค เน้นโครงสร้างรายได้ การออม ซึ่งส่วนราชการก็ใช้อยู่แล้ว ทำให้ไม่เห็นภาพว่าจะพัฒนาตรงไหนเป็นพิเศษเพื่อให้เงินของประชาชนมีมากขึ้น




          นโยบายเศรษฐกิจแบบนี้ เป็นการเน้นในเรื่องทุนใหญได้ประโยชน์ โดยรัฐบาลหวังว่า ทุนใหญ่ จะไปขยายประโยชน์ต่อให้ทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก แล้วทุนขนาดกลาง เล็ก  เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภค นโยบายเศรษฐกิจตามทฤษฎีนี้บางประเทศก็ประสบความสำเร็จ เช่น จีน เกาหลี แต่ประเทศไทยเราลองนโยบายเศรษฐกิจตามทฤษฎีนี้มา 5 ปีแล้ว ใน “รัฐบาลประยุทธ์ 1” แต่เศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้น เนื่องจากบ้านเราไม่มีกฎหมายบังคับให้ทุนใหญ่ต้องเอื้อประโยชน์ให้แก่ทุนขนาดกลาง  เล็ก  เพราะจะหวังให้ทุนใหญ่เอื้อให้แก่ทุนขนาดกลางและเล็กเองก็คงยาก ในเชิงธุรกิจ 


          ส่วนนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ ก็ไม่มีอะไรตื่นเต้นหรือเด่น อย่างนโยบายในเรื่องที่เกี่ยวกับ “กัญชา” ของพรรคภูมิใจไทย มีการบรรจุไว้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในข้อที่ 4 การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม  โดยในนโยบายใช้คำว่า “เร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของประชาชน โดยกำหนดกลไกการดำเนินงานที่รัดกุม เพื่อมิให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด”


          การที่ใช้คำว่า “ให้มีการศึกษา วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และอุตสาหกรรมทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ” นั้น การเขียนอย่างนี้ เท่ากับว่าเพียงแค่จัดตั้งคณะผู้วิจัยขึ้นมาศึกษาหาแนวทางเท่านั้น   


          และแม้จะใช้คำว่า “เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของประชาชน” ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้ไปสู่ “กัญชาเสรี” ได้ แต่กระนั้นการที่จะไปถึง “กัญชาเสรี” ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผลวิจัยด้วย ส่วน “กัญชาเพื่อสันทนาการ” ไม่มีเขียนไว้ในนโยบายรัฐบาล


          เช่นเดียวกับ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเขียนไว้ในนโยบายเร่งด่วนข้อ 12 “การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นไปตามที่พรรคประชาธิปัตย์ขอไว้และตั้งเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ง่ายขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน แทบจะแก้ไขไม่ได้เลยหรือแก้ไขได้ยากมาก 


          แต่ตามนโยบายของรัฐบาลที่เขียนไว้ ก็ต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนก่อนว่าจะให้แก้ไขหรือไม่ ซึ่งก็คงต้องมีการตั้ง คณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขแบบไหนที่ประชาชนยอมรับได้


          ดังนั้นทั้งเรื่องกัญชาและรัฐธรรมนูญ  ตามนโยบายรัฐบาล คงออกมาในรูปตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาหาข้อมูลเพิ่ม และสุดท้ายอาจทำได้แค่ตั้งคณะกรรรมการขึ้นมาศึกษาเท่านั้นก็หมดเวลารัฐบาลชุดนี้แล้ว


          แต่ได้เพียงแค่นี้ทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ก็คงพอใจแล้วเพราะได้แสดงให้ประชาชนเห็นแล้วว่า มีการพยายามทำแล้ว ส่วนจะทำสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


          และเนื่องจากนโยบายรัฐบาลโดยภาพรวมแล้ว ไม่ต่างจากแผนปฏิรูปประเทศ หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อภิปรายไปก็เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ฝ่ายค้านจึงเน้นอภิปรายไปที่ตัวบุคคล โดยเลือกเอารัฐมนตรีที่ตกเป็นเป้าหรือมีปัญหา หรือมีคดีติดตัว   


          แต่ที่จริงฝ่ายค้านควรก้าวข้ามในเรื่องตัวบุคคล เพราะถึงแม้นโยบายรัฐบาลจะกว้าง แต่ฝ่ายค้านสามารถใช้เวลาทำการบ้านศึกษานโยบายรัฐบาลอย่างจริงจัง แล้วหยิบเอานโยบายในบางเรื่องที่ล่อแหลมขึ้นมาอภิปรายชำแหละให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังคิดทำอะไรอยู่กับการบริหารประเทศและตอบโจทย์ปัญหาประเทศได้จริงหรือไม่ ซึ่งจะทำให้คนอยากจะฟังมากกว่า และดีกว่าจะไปเลือกอภิปรายตัวบุคคล เพราะจะกลายเป็นบรรยากาศโต้กันไปมาและถูกประท้วงว่าไม่ตรงกับวาระ นอกเรื่อง  


          นอกจากนี้หากฝ่ายค้านอภิปรายชำแหละนโยบายรัฐบาลได้ดี ฝ่ายค้านก็จะได้คะแนนบวกและส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลได้มากกว่าไปไล่อภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายตัว 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ