ข่าว

สธ.ชูกัญชาเสรี-มารดาประชารัฐเพิ่มคุณภาพการศึกษา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คุณภาพชีวิต [email protected]  -

 

 

          ภายหลังการเข้าพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ จะเริ่มเข้ากระทรวงในวันนี้  (18 ก.ค.) โดยเวลา 09.00 น. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.) จะไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสธ. 7 จุด จากนั้น เวลา 10.30 น. ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดร่วมแสดงความยินดีที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

 

          ส่วนความเคลื่อนไหวของ 3 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ณัฏฐพล ทีปสุววรณ รมว.ศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เวลา 07.49 น. สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (พระพุทธรูปประจำกระทรวง พระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์สยามิศรจักรี สัฏฐีอนุสรณ์ ศึกษาทรรังสรรค์, ศาลพระภูมิ และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6) พร้อมมอบนโยบายและพบปะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ

 


          สธ.กัญชาเสรี-ยกระดับอสม.
          นโยบายที่คาดว่าบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลแล้ว คือ “นโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์และรักษาโรค” ที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ประกาศเป้าหมายไว้แล้ว คือ 1.กัญชาต้องเป็นยารักษาโรคที่ถูกกฎหมาย 2.กัญชาเป็นยารักษาโรคที่ประชาชนเข้าถึงได้ และบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อเป็นยาที่ผู้ป่วยในทุกสิทธิประกันสุขภาพรัฐทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคมหรือสวัสดิการข้าราชการสามารุนำมาใช้รักษาได้


          และ 3.กัญชาเป็นยารักษาโรคที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยอย่างเท่าเทียมกัน จะต้องไม่มีการอ้างสิทธิบัตรของใครเหนือพืชกัญชา ด้วยการจดสิทธิบัตรกัญชาสายพันธุ์ต่างๆ หากทำได้สำเร็จทั้ง 3 ข้อนี้กัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจให้คนไทยมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีความมั่นคง แข็งแรง
   



          นอกจากนี้ยังมี  1.การพัฒนาและยกระดับความรู้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นหมอประจำบ้าน โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์หรือโทรเวชกรรม (Tele Medicine) และ 2.ปรับระบบสาธารณสุขมูลฐาน ระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ และมีความสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง เพื่อทำให้คนภูมิใจในความเป็นคนไทย และมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี

 


          มารดาประชารัฐถ้วนหน้า
          ส่วนแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ จุติ ไกรฤกษ์ จากประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นรัฐมนตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่คาดว่าจะต้องผลักดันให้เห็นผล อาทิ เกิดปั๊บรับเงินแสน เด็กเกิดเดือนแรกรับ 5,000 บาท รับต่อเดือน 1,000 บาท จนครบ 8 ปี เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท ต่อเดือน เบี้ยผู้ยากไร้ 800 บาทต่อเดือน และเบี้ยบำนาญถ้วนหน้า 1,000 บาท หรือนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เช่น มารดาประชารัฐถ้วนหน้าดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์ ช่วงตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท รวมสูงสุด 27,000 บาท ค่าคลอด 10,000 บาท ค่าดูแลเด็กเดือนละ 2,000 บาท จนครบ 6 ขวบ รวมถึง การต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ขยายผลมาเป็นบัตรประชารัฐ โดยสร้างสวัสดิการผู้สูงวัย กลุ่มผู้พิการ กลุ่มสตรี กลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มอาชีพรับจ้าง และบ้านสุขใจวัยเกษียณ เป็นต้น

 


          ศธ.เน้นมีส่วนร่วม+2ภาษาเท่าเทียม
          ขณะที่การศึกษาภายใต้การบริหาร ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) และกนกวรรณ วิลาวัลย์ (ศรีจันทร์งาม) รมช.ศธ.นั้น มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนโดยจะดำเนินการรับฟังข้อมูลทุกด้าน ไม่ว่าแผนงานการปฏิบัติการศึกษา สะสางปัญหาที่ยังคงมีอยู่ในกระทรวง หรือในระบบการศึกษาไทย
  

          โดยแก้ปัญหาให้นักศึกษาที่เป็นหนี้ค้างชำระ กยศ. สร้างหลักประกันการศึกษาถ้วนหน้าเพื่อให้เด็กได้เล่าเรียนอย่างภาคภูมิ และวางระบบให้ชุมชนเป็นผู้ดูแลระบบการศึกษาแทนกระทรวง ตามแนวคิดบ้าน วัด โรงเรียน พร้อมดึงมหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงแก่โรงเรียน เพื่อส่งเสริมระบบการเรียนการสอนแก่โรงเรียน ครู และเด็กเยาวชน สร้างคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น เพราะสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามีความพร้อมด้านองค์ความรู้และบุคลากร เน้นย้ำประเด็นสิทธิสตรี ให้ความรู้เด็กและเยาวชนหญิงเรื่องการตั้งครรภ์ก่อนแต่ง หรือการป้องกันการข่มขืน และประกันความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น
    

          รวมถึงจะเร่งผลักดันเด็กไทยต้องพูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา เข้าถึงการเรียนเกี่ยวกับระบบไอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรู้ความสามารถทัดเทียมกับเด็กในประเทศที่เจริญแล้ว พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ที่สำคัญจะมีการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกันทุกระดับ เพื่อสร้างพลเมืองคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ

 


          เพิ่มรายได้ครัวเรือน
          ขณะที่  กระทรวงแรงงาน “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล" จะเร่งปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศด้านต่างๆ รวมทั้งมุ่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชาวบ้าน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อชีวิตที่มั่นคง โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา


          ทั้งนี้ได้วางมาตรการยกรายได้ครัวเรือนให้ถึงเส้นมาตรฐานความพอเพียง ซึ่งเป็นตัวเลขรายได้ที่ถูกกำหนดจากสภาวะความเป็นจริงในพื้นที่นั้นๆ และทำให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ครัวเรือนที่มีรายได้และปัจจัยยังชีพที่ต่ำกว่าเส้นมาตรฐานนี้ รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้มีรายได้ถึงเส้นมาตรฐานความพอเพียง โดยการสร้างอาชีพใหม่ ฝึกงาน เพิ่มทักษะ นำงานมาให้ทำถึงครัวเรือน อาทิ งานตัดเย็บเสื้อผ้า เครื่องแบบนักเรียน นักโทษ การทำขนม
  

          โดยรัฐเป็นผู้หาตลาดขายสินค้าให้ ในระหว่างที่มาตรการข้างต้นยังไม่บรรลุผลรัฐต้องให้เบี้ยยังชีพเพื่อให้ชีวิตคนกลุ่มนี้อยู่ในระดับเส้นมาตรฐานความพอเพียง ให้มีกองทุนกู้ยืมเพื่อสร้างหรือจัดหาที่อยู่อาศัย ลูกหลานเรียนจบอาชีวะและเทคนิคโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อจะมีอาชีพและรายได้ที่ดีเมื่อจบการศึกษา สร้างอาชีวะและวิชาชีพที่ทันสมัย สอนโดยมืออาชีพ ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน อีกทั้งมีมาตรการดูแลผู้ที่ถูกปลดออกจากงานจากสภาวะทางเศรษฐกิจหรือการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางเทคโนโลยี ด้วยการให้เงินสงเคราะห์เป็นเวลา 12 เดือน เพื่อที่จะตั้งตัวหรือหางานทำใหม่ได้ มีมาตรการช่วยให้คนเหล่านี้เข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อทำกิจการใหม่ของตนเองได้ด้วย

 


          ก.อุดมฯเร่งนวัตกรรม
          ขณะที่ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (อว.) จะวางรากฐานของประเทศสู่อนาคต โดยจะทำหน้าที่เป็นกลไกการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใต้นโยบายหลัก 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.สร้างคน เตรียมพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาให้เป็น Smart Citizen 


          2.สร้างองค์ความรู้ วางรากฐานเพื่อการปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Value Based Economy) ด้วยการปรับทิศทางการวิจัยให้ตอบโจทย์ประเทศและการวิจัยเพื่อเตรียมสู่อนาคต เน้นแปลงงานวิจัยให้ออกมาเป็นนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม 3.สร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Nation)


          และ 4.ยกเครื่องมหาวิทยาลัยให้เป็นกลไกขับเคลื่อนหลักในการสร้างคน สร้างองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรม โดยการพัฒนาหลักสูตรปริญญาจิ๋ว (Nano Credential) และ Joint Degree Program มุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัยรัฐออกนอกระบบภายใน 5 ปี เป็นต้น


          ร.ร.รัฐ-เอกชนได้รับสิทธิพื้นฐานเท่ากัน 
          ชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เสนอว่าสิ่งที่อยากฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ และอยากจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคมนี้ คือการให้เด็กเอกชนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล เงินค่าอาหารกลางวัน เพราะตอนนี้เด็กเอกชนในโรงเรียนที่ขอรับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันได้ไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากโรงเรียนเอกชนยังต้องคงยึดตามเงื่อนไขต่างๆ อาทิ เด็กยากจนโรงเรียนเอกชนต้องมีรายได้ครอบครัวต้องไม่ถึง 40,000 บาท ในขณะที่รัฐบาลบอกให้ค่าอาหารกลางวันทุกคนเท่าเทียมกัน เด็กในโรงเรียนสังกัดสพฐ. โรงเรียนท้องถิ่นได้รับอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่ารวยหรือจน แต่เด็กเอกชนกลับไม่ได้
    

          ดังนั้นอยากขอความอนุเคราะห์จาก รมว.ศธ.คนใหม่ ให้ผลักดันในเรื่องนี้ เพราะขณะนี้ สช.มีการยื่นเรื่องการขอเงินอุดหนุนรายบุคคลค่าอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียนเอกชนที่ขอรับเงินอุดหนุนให้เท่าเทียมกัน แก่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังรอดำเนินการอยู่
     

          “เด็กโรงเรียนเอกชนไม่ได้รวยทุกคน อย่ามองว่าเด็กที่เรียนโรงเรียนเอกชนแล้วรวย เพราะมีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งที่มีภาระทางการเงิน ไม่ได้ร่ำรวย และขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครองไม่ได้ ถ้าคิดว่าเด็กเอกชนรวยทุกคนก็ต้องจำแนกให้ชัดเจนและต้องทำให้เท่าเทียมกับเด็กในสังกัดอื่นๆ ด้วยเพราะเด็กที่เรียนในสพฐ.รวยก็มี เด็กท้องถิ่นที่ครอบครัวมีฐานะร่ำรวยก็มี ขอให้เด็กทุกคนได้รับความเสมอภาค ดูแลอย่างเท่าเทียมกัน”
   

          ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนมีทั้งหมด 14,747 โรง แบ่งเป็นขอรับเงินอุดหนุนรายบุคคล 3,598 โรง ไม่ขอรับเงินอุดหนุนรายบุคคล 11,149 โรง โรงเรียนเอกชนในระบบที่รับเงินอุดหนุนแบ่งเป็น 2.1 โรงเรียนทั่วไป (อุดหนุนอัตรา-70%) จำนวน 3,030 โรง มีนักเรียนปกติ 1,630,336 คน มีนักเรียนพิการ/เรียนร่วม 2.504 คน รวม 1,632,840 คน 2.2 โรงเรียนการกุศล (อุดหนุนอัตรา 100%) จำนวน 568 โรง มีนักเรียนปกติ 411,020 คน มีนักเรียนพิการ/เรียนร่วม 1,893 คน รวม 412,913 คน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ