ข่าว

แล้งหนักกว่าทุกปี คนสุรินทร์ถามหาผู้ว่าฯหายไปไหน จี้ช่วยด่วน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สุรินทร์ - คมข่าวทั่วไทย

 

               วันนี้(13 ก.ค. 2562) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์ภัยแล้วในพื้นที่ จ.สุรินทร์ หลังฝนทิ้งช่วงมาร่วมเดือน แม้กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่าจะมีพายุดีเปรสชั่นเข้ามาในช่วงที่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังพบว่าน้ำฝนที่ตกลงมามีปริมาณน้อยอยู่ ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้นำเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิดคาราแวน จำนวน 3 ลำ มาทำการบินเพื่อโปยสารเคมีทำฝนเทียมมากว่าครึ่งเดือนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นผลเช่นเดียวกัน สถานการณ์ภัยแล้วนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ต้นกล้าข้าวที่ชาวนาหว่านกล้ามาร่วม 2 เดือน เริ่มทยอยแห้งเหี่ยวและยืนต้นตายแล้วในหลายพื้นที่ คาดว่าในอีก 1-2 สัปดาห์นี้ หากฝนยังไม่ตกลงมา คาดว่าต้นกล้าข้าวจะเสียหายทั้งจังหวัด

 

 

 

               ขณะที่ การประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์ ได้ออกหนังสือประกาศ เรื่อง ลดแรงดันน้ำเนื่องจากวิกฤตการณ์ภัยแล้ง มีใจความว่า ตามที่ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ประกอบกับฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง (ห้วย-สะ-เน๋ง) โครงการชลประทานสุรินทร์ ที่ใช้สำหรีบผลิตน้ำประปา มีปริมาณลดลงมาก และมีจำนวนจำกัด ดังนั้น การประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์ จึงมีความจำเป็นต้องลดแรงดันน้ำลง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.2562 ซึ่งจะส่งผลกระทบให้น้ำไหลอ่อนและไหลในบางช่วงเวลา จึงขอแจ้งให้ทราบและขอให้ผู้ใช้น้ำได้ใช้น้ำอย่างประหยัดรู้คุณค่า ให้เกิดประโยชน์สุงสุดเพื่อให้มีน้ำใช้พอเพียงตลอดฤดูแล้งนี้ พร้อมทั้งขอให้ผู้ใช้น้ำสำรองน้ำไว้ใช้ด้วย หากพบเห็นบริเวณที่มีท่อแตกหรือท่อรั่ว ขอความกรุณาแจ้งมายังช่องทางต่อไปนี้ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาสุรินทร์ หมายเลขโทรศัพท์ 044-511319 Call Center 1662 หรือทาง Facebook การประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์

 

 

แล้งหนักกว่าทุกปี คนสุรินทร์ถามหาผู้ว่าฯหายไปไหน จี้ช่วยด่วน

 

 

               ล่าสุดห้องประชุมกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ พลตรีพิเชษฐ์ อาจฤทธิรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ เป็นประธานประชุมกับภาครัฐและเอกชน ในการร่วมพิจารณาวางแผนหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำประปาหล่อเลี้ยงชุมชนเมืองสุรินทร์ ซึ่งใช้น้ำดิบหลักจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ที่กำลังลดปริมาณลงและเริ่มแห้งขอด ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงและเริ่มใช้มา 41 ปี ที่มีปริมาณน้ำน้อยที่สุด โดยมีตัวแทนของจังหวัดรับมอบหมายจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ (ไม่ได้มาด้วยตัวเอง) , นายประเทือง วันดี ผอ.โครงการชลประทานสุรินทร์,นายวิทยา อัปมาโถ หน.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม โดยเฉพาะปัญหาวิกฤตน้ำดิบ ที่มาใช้ทำน้ำประปาให้บริการแก่ประชาชนในชุมชนเมืองและรอบนอกเมือง ที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงมาใช้ในการผลิตน้ำประปา มีปริมาณน้ำเหลือน้อยที่สุด ซึ่งอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงเป็นอ่างหัวใจหลักในการผลิตน้ำประปาส่งจ่ายให้กับประชาชนในตัวเมืองสุรินทร์เดือนละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุกว่า 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือเป็นวิกฤตน้ำไม่เพียงพอในการใช้อุปโภคบริโภคของประชาชนชาวสุรินทร์ในเขตชุมชนเมืองอีกด้วย

 

 

แล้งหนักกว่าทุกปี คนสุรินทร์ถามหาผู้ว่าฯหายไปไหน จี้ช่วยด่วน

 

 

 

               จากความจุของอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ทั้งหมด 20.8 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ล้านลบ.ม. และจะต้องใช้น้ำดิบผลิตน้ำประปาเลี้ยงคนเมืองถึงเดือนละ 1 ล้านลบ.ม. ขณะที่อ่างเก็บน้ำอำปึล ต.เทนมีย์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำดิบสำรองของอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง จากความจุกว่า 27 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันเหลือเพียง 1 ล้านลบ.ม.เท่านั้น และทั้งหมดจะสามารถผลิตน้ำประปาให้ประชาชนในพื้นที่ชุมชนตัวเมืองสุรินทร์เป็นหลัก จะสามารถใช้น้ำได้ถึงเดือนสิงหาคมนี้เท่านั้น ดังนั้น มณฑลทหารบกที่ 25 จึงมีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการร่วมประชุมวางแผนหาทางรับมือและเตรียมแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้งในครั้งนี้เพื่อช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยในมติที่ประชุมได้มีมติร่วมกันในการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ดังนี้

 

 

แล้งหนักกว่าทุกปี คนสุรินทร์ถามหาผู้ว่าฯหายไปไหน จี้ช่วยด่วน

 

 

               ขุดร่องน้ำที่มีอยู่ในแอ่งต่างๆบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงให้ไหลไปรวมกันที่บริเวณเครื่องสูบน้ำทำน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์ ขอรับการสนับสนุนฝนหลวงในการทำฝนเทียมเพิ่มปริมาณฯในอ่างเก็บน้ำ และเหนืออ่างเก็บน้ำ ซึ่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ ได้ขึ้นบินทำฝนเทียมทุกวันๆละ 2-3 เที่ยวมาร่วม 2 สัปดาห์แล้ว ,ขอให้ทุกหน่วยงานที่มีเครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆเที่ยวข้อง ได้เตรียมพร้อมเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ทั้งการขุดบาดาล โดยรอบอ่างเก็บน้ำ เพื่อสูบน้ำเข้าอ่าง และหาแหล่งน้ำดิบจากแหล่งอื่นๆที่มีโดยรอบอ่างเก็บน้ำเพื่อผันน้ำมาช่วย เช่น อ่างน้ำตาของมหาวิทยาลับราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ จากฝายขั้นน้ำลำชี บริเวณบ้านใหม่ และน้ำจากบ่อระเบิดหินจากเขาสวาย เป็นต้น และที่สำคัญให้มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริง ไม่ต้องตื่นตระหนกกับวิกฤติในครั้งนี้ เนื่องจากทุกภาคส่วนได้มีแนวทางและการวางแผนเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะสามารถมีน้ำประปาใช้ไปจนผ่านวิกฤติหรือจนกว่าฝนจะตกลงมาตามฤดูกาล แต่ที่สำคัญขอความร่วมมือประชาชนได้ใช้น้ำอย่างประหยัดและใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ