ข่าว

'จุฬา อาร์ต ทาวน์' สตรีทอาร์ตในชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์ [email protected]

 

 

          สีสันบนกำเเพงหรือศิลปะบนท้องถนนจะช่วยเสริมอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เมื่อพบเห็น หรือที่เรียกว่า “ศิลปะบำบัด” และยังเป็นงานที่สามารถเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัยเพราะเป็นศิลปะที่ทุกคนจับต้องได้ ความสวยงามที่ศิลปินช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมาถือเป็นการปรับภูมิทัศน์ชุมชนและแปลงโฉมอาคารให้น่าสนใจมากขึ้นผ่านเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในภาพเหล่านั้น ในวาระครบรอบ 36 ปี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดโครงการ “Chula Art town” ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อเเนะนำศิลปะให้ชุมชนได้รู้ ผ่านสีสันบนกำเเพงที่จะอยู่บริเวณรอบรั้วจุฬาฯ สวนหลวง-สามย่าน เเละลิโด้คอนเน็คท์

 

 

          บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศิลปินจะสะท้อนสภาพชีวิต การทำงาน ธุรกิจของคนในพื้นที่ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่า น่าสนใจ และน่าจดจำให้แก่คนทั่วไป สามารถดึงดูดคนจากพื้นที่ต่างๆมารวมกัน และท่ามกลางความวุ่นวายในเมือง ประชาชนมีโอกาสชื่นชมสิ่งสวยงามและจรรโลงใจ อีกทั้งเป็นการแปลงเมืองให้ศิลปะใกล้ชิดกับชุมชน

 

 

'จุฬา อาร์ต ทาวน์' สตรีทอาร์ตในชุมชน

บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

 


          บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การทำงานในพื้นที่สาธารณะถือเป็นการแนะนำศิลปะและรับใช้ชุมชนมอบของขวัญให้แก่ชุมชน


          “สิ่งที่เราอยากให้ชุมชนคือความใส่ใจ ความเอื้ออาทรในความเป็นอยู่ อยากให้ชุมชนมีพื้นที่พักผ่อน มีความสุขในการอยู่อาศัย ตราบใดที่มีชุมชน เราอยากทำพื้นที่ให้เป็นของขวัญ เป็นความสุข ช่วยจรรโลงใจให้แก่ชุมชนที่ทำธุรกิจและอาศัยอยู่ในย่านนั้น” บุษกรกล่าว

 

 

 

'จุฬา อาร์ต ทาวน์' สตรีทอาร์ตในชุมชน

 


          ด้าน ราชันย์ กล่อมเกลี้ยง ตัวแทนศิลปินจากจังหวัดราชบุรี มองว่า สตรีทอาร์ตในชุมชนคือการให้รูปแบบหนึ่ง ยิ่งให้มากเท่าไรแล้วชาวบ้านหรือคนในชุมชนส่งกลับมาด้วยรอยยิ้ม การพูดจาทักทายกัน ก็เป็นสิ่งที่ศิลปินเองก็รับรู้ได้เหมือนกัน รวมถึงส่งต่อภาพหรือการทำงานให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้เห็น 


          JECKS ศิลปินที่เคยสร้างผลงานในต่างประเทศ เล่าว่า ศิลปะแนวนี้จะช่วยให้เกิดจินตนาการถึงคนในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร

 

 

'จุฬา อาร์ต ทาวน์' สตรีทอาร์ตในชุมชน

บุษกร บิณฑสันต์

 


          “มันทำให้คนในชุมชนหรือเยาวชนหรือคนที่อยู่ในพื้นที่มานานเกิดจินตนาการกับคนในพื้นที่ ซึ่งเขาได้คิดต่อว่าคืออะไร รู้สึกอะไรหรือสีบ่งบอกอะไร” JECKS เล่า




          ในมุมของชาวบ้านต่อศิลปะบนกำแพง ยกตัวอย่างเช่น คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเล่าว่า มองแล้วสะดุดตา มองดูก็เย็นตาดีทำให้ไม่เครียด ถึงแม้จะไม่ใช่คนศิลป์แต่ก็รู้สึกว่าการเติมสีสันก็ดีกว่าปล่อยให้ว่างเปล่า หรือชาวบ้านหลายคนก็มองว่าเป็นสิ่งสวยงาม มีสีสัน และเป็นการเชิญชวนให้คนเข้ามาท่องเที่ยว ทำให้การค้าแถวนั้นดียิ่งขึ้น


          วิษณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม กำกับดูแลสำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันศิลปะแนวสตรีทมีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานน้อย เนื่องจากทำยากและคนส่วนใหญ่มองว่าทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเลอะเทอะ โครงการนี้จึงเปิดพื้นที่ให้แก่ศิลปินมากขึ้น นอกจากนั้นศิลปะ ‘กราฟฟิตี้’ ยังเป็นการพูดคุยกับชุมชนจากการทำงานของศิลปินที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับศิลปิน

 

 

 

'จุฬา อาร์ต ทาวน์' สตรีทอาร์ตในชุมชน

 


          อีกทั้ง นอกจากจะทำให้เกิดแรงจูงใจให้คนทั่วไปและชุมชนสนใจศิลปะมากขึ้นเพราะศิลปะสามารถเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยได้แล้ว ภาพศิลปะแนวสตรีทยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนรู้จักพื้นที่มากขึ้น เพราะงานศิลปะจะสะท้อนความเป็นมาและเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ออกมาซึ่งแตกต่างกัน


          ทั้งนี้ โครงการ Chula Art Town จะครอบคลุมพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน จำนวน 12 จุด สยามสแควร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จำนวน 15 จุด และ ลิโด้ คอนเน็คท์ จำนวน 12 จุด ด้วยการวาดภาพบนผนังอาคารและกำแพงในรูปแบบสตรีทอาร์ต โดยศิลปินชื่อดังทั้งในและต่างประเทศที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 คน อาทิ นเรนทร์ เรืองวงศ์, อานนท์ เนยสูงเนิน, เอเดล ฮอร์แกน และศิษย์เก่าของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ


          ขณะนี้ มีผลงานสตรีทอาร์ตพร้อมให้ชมแล้วบนพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน จำนวน 6 ผลงาน คือ จุดที่ 1 บริเวณ “หลังตลาดสามย่าน” ซึ่งถือเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดของโครงการ โดยฝีมือของศิลปินจาก จ.ราชบุรี ที่ต้องการสื่อเอกลักษณ์ของชุมชนสามย่านว่าเป็นชุมชนเก่าแก่และเป็นแหล่งรวมร้านอาหารเก่าแก่รสชาติเด็ดๆมากมาย


          จุดที่ 2 ซอยจุฬาฯ 36 สร้างสรรค์โดยศิลปิน Bonus TMC เป็นภาพเสือ ราชาแห่งสัตว์ป่า ผู้นำการเปลี่ยนแปลง กำลังถือรถแทร็กเตอร์ แบ็กโฮ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสามย่านที่เป็นแหล่งเซียงกง ขายเครื่องจักรกลต่างๆ


          จุดที่ 3 ซอยจุฬาฯ 48 บริเวณ “ร้านอาหารจอนนี่” ผลงานของ 2 ศิลปินกราฟฟิตี้ JECKS และ Nongpop เล่าวิถีชีวิตผ่านสองคาแรกเตอร์ที่สะท้อนความเป็นอยู่ อาชีพ เชื้อชาติที่หลากหลายโดยใช้สัญลักษณ์ หรือรูปร่างรูปทรงต่างๆ ช่วยผลักดันเนื้อหาให้เกิดความสนุก

 

 

 

'จุฬา อาร์ต ทาวน์' สตรีทอาร์ตในชุมชน

 


          จุดที่ 4 ผลงานที่สร้างสรรค์จากศิลปินสตรีทอาร์ต Mamacup711 และ Chz ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเอกลักษณ์ของย่านที่มีความโดดเด่นในเรื่องของกีฬาบนพื้นที่ระหว่างถนนอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ และสวนหลวงแสควร์


          จุดที่ 5 ตั้งอยู่ที่จุฬาฯ ซอย 20 บนผนังตึกชั้น 2 และ 3 ของร้านส้มตำเจ๊อ้อย ที่ชาวจุฬาฯ และชาวชุมชนสามย่านรู้จักกันดี โดยศิลปิน ASIN แนวคิดจากจุดเด่นของสามย่านที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารอร่อย บริบทของพื้นที่สร้างงานที่เป็นร้านส้มตำไก่ย่างเจ้าดัง จึงสร้างผลงานโดยใช้การ์ตูนคาแรกเตอร์ของศิลปินเป็นรูปไก่


          และจุดสุดท้าย จุฬาฯ ซอย 50 ผลงานจากความร่วมมือและการออกแบบของศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์รุ่น 16 ด้วยแนวความคิด Refocus: นำกลับมา พิจารณาอีกครั้ง หรือ ดึงสมาธิกลับมา หมายถึง การพยายามมองอาคารในแง่มุมใหม่ อาคารนั้นแม้จะต้องเก่าแก่ไปตามกาลเวลาแต่คุณค่าในฐานะสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรม วิถีชีวิตและจิตวิญญาณของผู้คนในสมัยนั้นก็ยังคงเดิม เปรียบเหมือนบุคคล การเพ้นท์ควรช่วยปรับให้คนคนนั้นดูน่าชื่นชมโดยยังคงความเป็นตัวเขาไม่ใช่เพ้นท์แล้วทำให้เขากลายเป็นคนอื่น


          โครงการ Chula Art Town ไม่ได้มีเพียงผลงานด้านศิลปะเท่านั้นแต่ยังมีการจัดกิจกรรมด้านศิลปะในรูปแบบอื่นทั้ง Art Market เป็นการจัดตลาดนำเสนอสินค้าและผลงานของศิลปินที่เข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงานในวงการ ผลงาน Art & Craft ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจ ในพื้นที่ของลิโด้ คอนเน็คท์ วันที่ 1-4 สิงหาคม และ Street Art Competition การแข่งขันผลงานของกลุ่มศิลปินหน้าใหม่ นิสิต นักศึกษา และนักเรียน วันที่ 3 สิงหาคม ที่ลิโด้ คอนเน็คท์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ