ข่าว

สปิริตการเมืองสร้างจริยธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2562

 

 

          มีการจับตามาตลอดในห้วงจับขั้วตั้งรัฐบาลว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะมีจุดยืนและท่าทีเช่นใดหากพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐในการเป็นรัฐบาลและสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย เพราะเคยประกาศในการเลือกตั้งว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ โดยเป็นอุดมการณ์ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถประสบความสำเร็จ ได้ ส.ส.เข้ามากว่า 50 คนเท่านั้น ไม่อาจเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งคำมั่นสัญญานี้ถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขทางการเมืองโดยฝ่ายขั้วตรงข้ามที่ต้องการแข่งตั้งรัฐบาลก็นำมาตอกย้ำทุกวันบีบให้มาเข้าร่วมและพูดดักทางตลอดว่าหากประชาธิปัตย์ไปหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะรับผิดชอบต่อจุดยืนนี้อย่างไร ท่ามกลางสังคมที่เฝ้าดูว่าบทสรุปจะออกมาในรูปใด

 


          ดูเสมือนว่าทางเลือกของนายอภิสิทธิ์มีไม่มาก และสุดท้ายได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อเลือกรักษาเกียรติภูมิและรักษาคำมั่นสัญญา โดยยึดมั่นจุดยืนหลังจากพยายามโน้มน้าวให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ช่วยกันรักษาจุดยืนนี้ด้วยกัน และยังเปรียบเทียบว่าสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อปี 2548 ที่ต่อสู้กับระบอบทักษิณ ที่มีพฤติกรรมเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจรัฐ ใช้เงินเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนน แทรกแซงการสรรหา ส.ว. และองค์กรอิสระ จนไม่สามารถรักษากติกา และเสียดายโอกาสที่พรรคสามารถสร้างพื้นที่เป็นฝ่ายที่ 3 หรือเป็นกลางทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล อะไรที่ดีก็สนับสนุน อะไรที่ไม่ดีก็มีอิสระในการแสดงออกเพื่อถ่วงดุลอำนาจ ที่แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่ก็จะเป็นสายธารหลักของประชาธิปไตย ไม่ให้ใครมาอ้างประชาธิปไตยบังหน้า ไม่ให้สังคมถูกบีบเลือกข้าง

 


          การยกเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันและเหตุการณ์เมื่อปี 2548 ยังสะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมข้อหนึ่งว่าไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เป็นประชาธิปไตยหรือช่วงรัฐประหาร ก็มีการกระทำที่ไม่แตกต่างกันในการสืบทอดอำนาจโดยการใช้ช่องโหว่หรือออกกฎหมายเพื่อสร้างความได้เปรียบในการครอบงำรัฐสภา รวมถึงแทรกแซงองค์กรอิสระที่เป็นกลไกในการตรวจสอบจนทำให้เกิดการบิดเบี้ยวและเป็นชนวนเหตุหนึ่งให้เกิดวิกฤติการเมือง จึงยิ่งตอกย้ำว่าการดำรงตนในฐานะนักการเมืองที่ดีต้องมีคุณสมบัติที่พร้อมด้วยคือเสียสละเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือพวกพ้องญาติพี่น้อง ที่สำคัญต้องยึดหลักการและปฏิบัติตามกฎหมาย มีความโปร่งใสในการทำงาน แต่ในความเป็นจริงตอนนี้ยังหานักการเมืองไทยที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้น้อยและไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะเพิ่มขึ้น

 


          แม้การตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางดังกล่าวโดยยึดหลักการและรักษาคำมั่นสัญญา แต่ก็หลีกไม่พ้นที่จะส่งแรงสะเทือนไปถึงพรรคต้นสังกัดที่เกิดคำถามขึ้นในสังคม โดยเฉพาะท่าทีจากฝ่ายการเมืองตรงข้าม รวมทั้งภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็มีทั้งเสียงชื่นชมและปฏิกิริยาตรงข้ามเกิดขึ้นเช่นกัน ในทำนองเอาดีเข้าตัวโยนระเบิดใส่ผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม ควรตระหนักว่าแม้จะยืนกันอยู่คนละจุด มีความเห็นต่างกัน แต่ควรเคารพการตัดสินใจที่สะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของประชาธิปไตยที่ยึดในหลักการและใช้เหตุผลที่อยู่บนพื้นฐานจริยธรรมทางการเมือง และหวังว่าบทเรียนสปิริตการเมืองครั้งนี้อย่างน้อยจะช่วยกระตุ้นต่อมสำนึกของบรรดานักการเมืองให้พึงระลึกถึงการทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง รวมทั้งดำรงศักดิ์ศรีสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่ดีเพื่อให้สลัดพ้นคำครหาไปได้บ้าง

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ