ข่าว

โปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษผู้ต้องราชทัณฑ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษผู้ต้องราชทัณฑ์

 

               เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 และมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 261 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2517 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

 

 

 

โปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษผู้ต้องราชทัณฑ์

 

 

 

คลิกอ่าน พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 ฉบับเต็ม

 

 

 

               ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนด ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงาน บริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ

 

 

 

               สำหรับพระราชกฤษฎีกานี้ มีทั้งสิ้น 20 มาตรา มีรายละเอียดส่วนหนึ่ง ดังนี้ มาตรา 5 ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป ผู้ต้องกักขัง ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขังแทน โทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป ในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี

               มาตรา 6 นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป 1 ผู้ต้องโทษจำคุก ไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษ ที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ 2 ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (ก) เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้าง หรือเป็นบุคคลซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นคนทุพพลภาพมีลักษณะ อันเห็นได้ชัด , (ข) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) หรือโรคจิต ซึ่งทางราชการได้ทาการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนในวันที่ พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้ และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่าสามปี หรือไม่น้อยกว่า 1ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ

 

 

 

               (ค) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายหรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ระยะสุดท้าย ซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นระยะสุดท้าย และไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้ โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่น ให้นับโทษ ต่อจากคดีอื่นนั้น (ง) เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า1 ใน 2 ของโทษ ตามกำหนดโทษ (จ) เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีซึ่งมีโทษจำคุก ตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้ บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป

               (ฉ) เป็นผู้ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และมีอายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่ พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจาในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียว หรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ หรือ (ช) เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ ใช้บังคับ

 

 

 

               มาตรา 7 นักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ไปตามมาตรา 6 ให้ได้รับการลดโทษ ดังนี้ 1 ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปีแล้วให้ลดโทษ ตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้ ชั้นเยี่ยม 1 ใน 2 ชั้นดีมาก 1 ใน 3 ชั้นดี 1 ใน 4 ชั้นกลาง 1 ใน 5 โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่น ให้นับโทษ ต่อจากคดีอื่นนั้น 2 ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด 3 ผู้ต้องโทษจำคุกเพราะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ไม่ว่าจะมีความผิดอื่นร่วมด้วย หรือไม่ ให้ลดโทษจากกำหนดโทษลง 2 ใน 3 เฉพาะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

               มาตรา 8 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดแนบท้าย ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังนี้ 1 ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปีแล้วให้ลดโทษ ตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้ ช้ันเยี่ยม 1 ใน 3 ชั้นดีมาก 1 ใน 4 ชั้นดี 1 ใน 5 ชั้นกลาง 1 ใน 6 และ 2 ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด

 

 

 

               มาตรา 9 นักโทษเด็ดขาด ซึ่งต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่เกินแปดปี ในความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก หรือผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ได้รับพระราชทาน อภัยโทษลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด ดังนี้ ชั้นเยี่ยม 1 ใน 5 ชั้นดีมาก 1 ใน 6  ชั้นดี 1 ใน 7 ชั้นกลาง 1 ใน 8

               มาตรา 10 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินแปดปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับ ในความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก หรือผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการ ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้ (1) ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปีแล้วให้ลดโทษ ตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด ดังต่อไปนี้ ชั้นเยี่ยม 1 ใน 6 ชั้นดีมาก 1 ใน 7 ชั้นดี 1 ใน 8 ชั้นกลาง 1 ใน 9 และ (2) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด

 

 

 

               มาตรา 11 นักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับ พระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว และเป็นคนมีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไปในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีก 1 ใน 5 จากกำหนดโทษที่ได้รับการพระราชทานลดโทษลงแล้วตามพระราชกฤษฎีกานี้ มาตรา 15 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษประหารชีวิต ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ลงเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต มาตรา 16 นักโทษเด็ดขาดซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวและนักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ และจะพ้นโทษในคราวเดียวกันตามพระราชกฤษฎีกานี้ จะต้องผ่านหรือเคยผ่านการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตามที่กรมราชทัณฑ์หรือ กระทรวงกลาโหมกำหนด เว้นแต่โดยสภาพร่างกายหรือจิตใจไม่เป็นปกติจนไม่อาจรับการอบรมได้

               อย่างไรก็ตาม พระราชกฤษฎีาพระราชทานอภัยโทษยังระบุบัญชีลักษณะความผิดแนบท้ายไว้ 10 กลุ่มความผิด ซึ่งมีผลทำให้ผู้ต้องโทษในความผิดตามบัญชีแนบท้ายจะได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษน้อยกว่าผู้ต้องโทษคดีอื่นๆ อาทิ ความผิดตามกฎหมายอาญา เกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ