ข่าว

ยธ.เร่งคลอดแผนจัดการศพนิรนาม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สะสม 16 ปี คนหาย-ศพนิรนาม.กว่า 5 พันราย นิติวิทย์ฯเตรียมทำแผนแม่บทศพนิรนามช่วยปชช.รวดเร็วคนชรา-ผู้ป่วยจิตเวช กลุ่มเสี่ยง เฝ้าระวังภัยคุกคามรูปแบบใหม่

 

                       โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา – 23 เมษายน .62 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นภายใต้โครงการจัดทำนโยบาย แผนแม่บท และแผนปฏิบัติการด้านคนหาย คนนิรนาม และศพนิรนาม  

 

                       โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาระบบด้านคนหาย คนนิรนาม และศพนิรนามในอนาคต” 


                       พล.อ.อ. ประจิน กล่าวว่า ปัญหาการสูญหายของคนนิรนาม ศพนิรนาม เกิดขึ้นมานานแล้ว รัฐบาลจึงมีนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงการบริการกรณีคนหาย คนนิรนาม และศพนิรนาม ซึ่งขณะนี้เป็นปรากฎการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศที่ต้องให้ความสำคัญ และกำหนดมาตรการแก้ไขกฎระเบียบ มีนโยบายกลไกในการป้องกันจัดการและเยียวยาปัญหาดังกล่าว ซึ่งปรากฎการณ์คนหายได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน และบ่อยครั้งที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ

 

                       จึงจำเป็นต้องจัดทำแผนแม่บทให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการออกระเบียบ โดยจะมอบหมายให้สำนักนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเจ้าภาพร่วมกันจัดทำแผนแม่บท รวมทั้งสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมในสาขาสหวิชาชีพ เพื่อให้เกิดการยอมรับ โดยจะมีคณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหาย และการพิสูจน์ศพนิรนาม (ค.พศ.) จาก 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความช่วยเหลือได้รวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ จะมีระบบตรวจสอบติดตาม ระบบฐานข้อมูลแลกเปลี่ยนอัตลักษณ์บุคคล 


                       “ไทยไม่ได้อยู่ประเทศเดียวบนโลก อาจมีชาวต่างชาติมีประสบการณ์การสูญหายในประเทศไทย หรือมีคนไทยสูญหายในต่างประเทศ ดังนั้น การติดตามตัวบุคคลให้กลับคืนมาจึงจำเป็นและต้องเป็นมาตรฐานระดับสากลที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต่างชาติได้ นอกจากนี้ ยังต้องมีกลไกในการดูและบุคคลสูญหายและศพนิรนาม ตลอดจนถึงการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้เหมาะสม และติดตามประเด็นการฆาตกรรมจนเป็นที่มาของการทำให้สูญหายว่ามีเจตนาหรือไม่อย่างไร และเมื่อพบศพแล้วจะตรวจพิสูจน์อย่างไร มีสาเหตุใดที่ทำให้เสียชีวิต ซึ่งการกำหนดนโยบายแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการรับมือปัญหาดังกล่าว จะทำให้ประชาชนได้รับการบริการที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว 

 

                   พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาคนหาย คนนิรนาม และศพนิรนาม เกิดขึ้นจำนวนมาก มีข้อมูลสถิติคนหาย คนนิรนาม ศพนิรนาม ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.45-31 ธ.ค.61 มีทั้งหมด 5,278 คดี แบ่งเป็นคดีศพนิรนามมีทั้งหมด 4,072 คดี ปิดดำเนินการไปแล้ว 2,142 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,930 คดี คดีคนหาย 598 คดี ปิดดำเนินการแล้ว 344 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการ 254 คดี และคดีคนนิรนามมีทั้งหมด 608 คดี ปิดดำเนินการแล้ว 78 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการ 530 คดี

 

                   โดยระหว่างปี 2562-2565 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการด้านคนหาย คนนิรนาม และศพนิรนามขึ้น พร้อมทั้งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนร่วมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันมีภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น องค์กรอาชญากรรมที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการก่อเหตุมีแนวโน้มกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้น เช่น ผู้สูงอายุ คนต่างด้าว คนไร้บ้าน และผู้ป่วยจิตเวช

 

                   ขณะที่น.ส.ศศิยา เกษมศํกดิ์ชัย พี่สาวนายโกมล เกษมศักดิ์ชัย กล่าวว่า น้องชายตนเป็นบุคคลทุพลภาพพิการทางสมอง ไม่สามารถพูดคุยติดต่อสื่อสารได้ แต่สามารถสามารถเดินได้ หายออกจากบ้านที่จ.สระบุรีไปตั้งแต่ปี 2555 ทางครอบครัวได้แจ้งความที่สภ.เมืองสระบุรี พร้อมทั้งตามหา แต่ไม่มีความคืบหน้า ตลอดเวลา 5 ปีที่หายไปครอบครัวพยายามติดตามตัวตลอด หน่วยงายรัฐที่เกี่ยวข้องรวมสภ.ที่ไปแจ้งความไม่ได้รับความร่วมมือ จนได้รับความแนะนำให้นำหลาน ซึ่งเป็นบุตรชายของน้องไปตรวจดีเอ็นเอไว้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหนทางสุดท้าย

 

                   ต่อมาปี 2560 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้แจ้งให้ครอบครัวทางว่าพบตัวน้องชายอยู่ที่ศูนย์พักพิงคนไร้ที่พึ่งจ.ศรีสะเกษ จึงเกิดทางไปตรวจสอบพบว่าเป็นน้องชายจริง แต่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถเดินได้ จึงนำตัวกลับมาดูแลที่บ้าน กรณีของครอบครัวโชคดีที่น้องชายยังมีชีวิตอยู่ แม้จะต้องตามหาและรอคอยนานถึง 6 ปี แต่เข้าใจว่าขั้นตอนการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่อาจต้องใช้เวลา จึงอยากให้มีองค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางติดตามข้อมูลคนหาย มีการจัดทำฐานข้อมูลที่ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ง่าย ซึ่งวิธีการติดตามคนหายด้วยการตรวจดีเอ็นเอบางคนอาจกลัวว่าเป็นการแช่งคนที่หายไป แต่จริง ๆ เป็นประโยชน์มากกับประชาชน

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ