ข่าว

"ศาลปกครอง"สั่ง"คมนาคม"จ่าย 12,000 ล้านโฮปเวลล์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ด่วน ! ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาสั่งกระทรวงคมนาคมต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาด อนุญาโตตุลาการ จ่ายคืนเงิน 12,000 ล้านให้กับบริษัทโฮปเวลล์

 

            22 เม.ย.62 – ศาล ปค.สูงสุด พิพากษากลับ  "ก.คมนาคม -รฟท." ยึดคำวินิจฉัยอนุญาโตฯ ปี 51 ชดใช้อ่วมกว่า 11,888 ล้าน พร้อมดอกเบี้ยแต่ปี 51 คืนเอกชน "บจก.โฮปเวลล์" ชี้ คำตัดสินอนุญาโตฯ ไม่ขัด ก.ม. บอกเลิกสัญญาแล้วต่างฝ่ายต้องคืนสิทธิ  

           ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลอ่านคคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีโฮปเวลล์ 3 สำนวน คดีหมายเลขดำ อ.410-411/2557 ที่ "กระทรวงคมนาคม" และ "การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)" เป็นผู้ร้องที่ 1-2  กับ "บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด" คู่สัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับใน กทม. เป็นผู้คัดค้าน กรณีที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาด ของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 ก.ย.51 และ 15 ต.ค.51 ที่คณะอนุญาโตฯ ชี้ขาด ให้ "ก.คมนาคม -รฟท." ต้องชดใช้เงินค่าเสียหาย 3 ส่วนให้กับ "บจก.โฮปเวลล์ฯ" กรณีที่ "ก.คมนาคม -รฟท." บอกเลิกสัญญา จากเหตุที่เห็นว่าไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดได้ ประกอบด้วยเงินค่าตอบแทนที่ "บจก.โฮปเวลล์" ชำระไว้จำนวน 2,850,000,000 บาท และให้คืนหนังสือค้ำประกัน คืนค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 38,749,800 บาท และเงินในการก่อสร้างโครงการจำนวน 9,000 ล้านบาท รวมจำนวน 11,888,749,800 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยในส่วนของดอกเบี้ยเงินค่าตอบแทนกับเงินค่าธรรมเนียมนั้นให้นับตั้งแต่วันที่ได้รับเงินค่าตอบแทนแต่ละงวด และวันที่จ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้กับธนาคาร ส่วนดอกเบี้ยของเงินก่อสร้างโครงการให้นับตั้งแต่วันที่คณะอนุญาโตฯ ชี้ขาด

 

            และคดีหมายเลขดำ อ.412/2557 ที่ "บจก.โฮปเวลล์ฯ" เป็นผู้ร้อง กับ "ก.คมนาคม - รฟท." เป็นผู้คัดค้านที่ 1-2 โดย "บจก.โฮปเวลล์ฯ"  ขอให้ศาลสั่ง "ก.คมนาคม - รฟท." ปฏิบัติตามคำบังคับชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ ดังกล่าวหลังจากที่เพิกเฉยเมื่อมีคำวินิจฉัยปี 2551 ซึ่ง "บจก.โฮปเวลล์ฯ" เห็นว่า "ก.คมนาคม - รฟท." การที่บอกเลิกสัญญานั้นก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการที่ไม่สามารถดำเนินางนให้แล้วเสร็จได้เนื่องจากอุปสรรคการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างและปัญหาต่างๆ ที่เกิดจาก "ก.คมนาคม - รฟท."

            โดยทั้ง 3 สำนวน รวมพิจารณาเป็นคดีเรื่องเดียวกันตั้งแต่ศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มี.ค.57 ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ ทั้ง 2 ฉบับทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 ก.ย.51 ที่วินิจฉัยให้ "ก.คมนาคม-รฟท." ชำระเงินคืนให้ "บจก.โฮปเวลล์" 11,888 ล้านบาทเศษ และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ "ก.คมนาคม-รฟท." เนื่องจากเห็นว่าคณะอนุญาโตฯ ไม่มีอำนาจรับข้อพิพาทของทั้งสองฝ่ายไว้พิจารณาเพื่อชี้ขาดได้ เพราะเมื่อคำนวณระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 41 (ซึ่งเป็นวันที่ "บจก.โฮปเวลล์" ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา หลังจากที่ ครม.มีมติ 23 ธ.ค.40 เสนอเห็นชอบการบอกเลิกสัญญาตามที่ "ก.คมนาคม" เสนอวันที่ 19 ก.ย.40 ซึ่ง "บจก.โฮปเวลล์" มีหนังสือแจ้งกลับวันที่ 30 ม.ค.41 และ 2 ก.พ.41 ว่าต้องมีกระบวนการและมีการปฏิบัติตามขั้นตอนของสัญญา) ถือเป็นวันที่ "บจก.โฮปเวลล์" รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทแล้ว ระยะเวลาของการยื่นวินิจฉัยข้อพิพาทจะครบกำหนด 5 ปี ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ในวันที่ 30 ม.ค.46 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า "บจก.โฮปเวลล์" ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตฯ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.47 โดย "ก.คมนาคม-รฟท." ยื่นร้องแย้งต่ออนุญาโตฯ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.48 ดังนั้นการเสนอข้อพิพาททั้งสองกรณี จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

            ต่อมา "บจก.โฮปเวลล์" ได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่ง "ศาลปกครองสูงสุด" โดยนายบุญอนันต์ วงศ์พานิชย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวน และองค์คณะอีก 4 คน ได้มีคำวินิจฉัยตัดสินเป็นคดีหมายเลขแดง อ.221-223/2562

            ซึ่ง "ศาลปกครองสูงสุด" วินิจฉัยว่า ในส่วนที่ "บจก.โฮปเวลล์" ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตฯ นั้น กระทำภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า เป็นการยื่นภายในกำหนดแล้ว โดยการฟ้องข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ฉบับที่ 5 แก้ไข พ.ศ.2551 มาตรา 51 ต้องยื่นฟ้องภายใน 5 ปีนับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุการณ์ฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี ขณะที่ข้อสัญญาการก่อสร้างลงวันที่ 9 พ.ย.33 ระบุว่าเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นกับสัญญาให้คู่สัญญาต้องพยายามประนีประนอมก่อน ถ้าใน 60 วันหรือภายในช่วงเวลาที่ตกลงกันยังประนีประนอมกันไม่ได้ให้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตฯ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สัญญาระหว่างคู่พิพาทนั้นไม่ได้กำหนดระยะเวลาการเสนอคณะอนุญาโตฯ ไว้โดยเฉพาะดังนั้นเวลาในการเสนอข้อพิพาทจึงทำได้ภายในอายุความการฟ้องคดีต่อศาล และเมื่อคดีนี้เกิดขึ้นศาลปกครองเปิดทำการ ดังนั้นต้องนับอายุความจากวันที่ศาลเริ่มเปิดทำการคือ 9 มี.ค.44 และต้องนับอายุความตามบทบัญญัติกฎหมายที่ใช้บังคับขณะนั้น คือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ฉบับที่ 5 แก้ไข พ.ศ.2551 มาตรา 51 โดย "ก.คมนาคม" มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาวันที่ 27 ม.ค.41 ซึ่ง "บจก.โฮปเวลล์" ได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 30 ม.ค.41 จึงถือว่าเป็นวันที่รู้ถึงเหตุ ดังนั้นเมื่อ "บจก.โฮปเวลล์" ยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตฯ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.47 จึงเป็นการยื่นภายในเวลานับแต่วันที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา

            ส่วนเนื้อหาคดี "ศาลปกครองสูงสุด" เห็นว่า การที่คณะอนุญาโตฯ วินิจฉัยว่า "ก.คมนาคม -รฟท."  บอกเลิกสัญญา และห้าม "บจก.โฮปเวลล์" เข้าไปดำเนินการก่อสร้าง , ริบเงินค่าตอบแทนสัญญา และริบหลักประกันสัญญาประกันนั้นแสดงว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้น และก่อนเสนอข้อพิพาท "บจก.โฮปเวลล์" ได้ขอให้ "ก.คมนาคม -รฟท." ระงับข้อพิพาทโดยเจรจาประนีประนอมยอมความ แต่ก็เพิกเฉย "บจก.โฮปเวลล์" จึงมีสิทธินำข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทาน เสนอให้อนุญาโตฯ ชี้ขาดได้ และเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ปรากฏเหตุซึ่งจะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี

            สำหรับคำชี้ขาดคณะอนุญาตฯ ในประเด็นที่ว่า "บจก.โฮปเวลล์" ใช้สิทธิเสนอให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตฯ ได้ภายในอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ก็ไม่ปรากฏเหตุบกพร่อง ถึงขนาดจะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี

            ส่วนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ ที่ว่า การที่ "ก.คมนาคม -รฟท." มีหนังสือบอกเลิกสัญญาต่อ "บจก.โฮปเวลล์" ทันทีโดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในสัญญาคือต้องให้ดำเนินการแก้ไขก่อน จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยยังไม่มีสิทธิและไม่มีผลให้สัญญาเลิกกัน ต่อมาเมื่อ "ก.คมนาคม -รฟท." มีหนังสือยืนยันหลายครั้ง และ"บจก.โฮปเวลล์" ขนย้ายออกและไม่ได้เข้าไปดำเนินการใดๆ พฤติการณ์ของ "ก.คมนาคม -รฟท." มีเจตนาจะเลิกสัญญากับ "บจก.โฮปเวลล์" อันถือได้ว่าเป็นคำเสนอขอเลิกสัญญา และการที่ "บจก.โฮปเวลล์" ยืนยันปฏิบัติตาม จนถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอของ "ก.คมนาคม -รฟท." สัญญาสัมปทานย่อมเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาจำต้องให้แต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมและวินิจฉัยให้ "ก.คมนาคม -รฟท." คืนเงินค่าตอบแทนที่ "บจก.โฮปเวลล์" ชำระไว้จำนวน 2,850,000,000 บาท และให้คืนหนังสือค้ำประกัน คืนค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันจำนวน 38,749,800 บาท กับ เงินในการก่อสร้างโครงการจำนวน 9,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น

            "ศาลปกครองสูงสุด" เห็นว่า คำชี้ขาดที่เห็นว่าสัญญาเป็นอันเลิกกัน และให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะตัวที่เป็นอยู่เดิมนั้น ไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำชี้ขาดที่ว่า "บจก.โฮปเวลล์" ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้นเมื่อพิจารณาข้อโต้แย้งของ "ก.คมนาคม -รฟท." ในประเด็นต่างๆ ล้วนแต่มีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการพิจารณาข้อเท็จจริง และการปรับใช้กฎหมาย-ข้อสัญญาของคณะอนุญาโตฯ ซึ่งคณะอนุญาโตฯได้วินิจฉัยการปฏิบัติตามสัญญา รวมทั้งความรับผิดต่อกันซึ่งเป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญา ไม่ได้มีลักษณะเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่ปรากฏเหตุที่กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดได้

            ดังนั้นที่ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดคณะอนุญาโตฯ ลงวันที่ 30 ก.ย.51 และ 15 ต.ค.51 ทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 ก.ย.51 ที่วินิจฉัยให้ "ก.คมนาคม-รฟท." ชำระเงินคืนเงิน 3 ส่วนให้ "บจก.โฮปเวลล์" 11,888 ล้านบาทเศษนั้น "ศาลปกครองสูงสุด" ไม่เห็นพ้องด้วย

           "ศาลปกครองสูงสุด" จึงพิพากษากลับเป็นให้ยกคำร้อง "ก.คมนาคม -รฟท." และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ โดยให้ "ก.คมนาคม -รฟท." ปฏิบัติตามคำชี้ขาดให้เสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

อ่านรายละเอียดคำพิพากษาฉบับเต็มคดี โฮปเวลล์ ที่ https://drive.google.com/open?id=1kW67F0YtJxlTmybM0iMjF-EgsUrQhYda

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ