ข่าว

เมาขับเท่ากับเจตนาฆ่า...ข้อหานี้เวิร์กจริงหรือ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว โดย... ปกรณ์ พี่งเนตร

 

 

          อีกหนึ่งมาตรการใหม่ที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อลดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะพวก “เมาแล้วขับ” ไปชนผู้อื่นจนเสียชีวิต คือให้ตำรวจตั้งข้อหา “เจตนาฆ่า” ถ้าบาดเจ็บสาหัสก็ตั้งข้อหา “พยายามฆ่า” โดยใช้ช่องทางตามประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนของ “เจตนาเล็งเห็นผล”

 

 

          จุดประสงค์ก็เพื่อเพื่อเพิ่มโทษให้ผู้กระทำความผิด ไม่ติดเงื่อนไขลดโทษจนศาลให้ “รอลงอาญา” และไม่ต้องติดคุกจริง ทั้งๆ ที่ทำคนตาย

 

          งานนี้เป็นนโยบายของพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ "บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม จึงมีการเน้นย้ำเป็นพิเศษถึงขนาดส่งหนังสือเวียนไปถึงตำรวจทุกโรงพักทั่วปรทเศ เน้นย้ำเรื่องวิธีการสอบสวน ทำสำนวนคดี เมื่อพบความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก เช่น ต้องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ ต้องแจ้งข้อหาให้ครบทุกฐานความผิด ต้องมีหลักฐานที่แสดงถึงพฤติการณ์ความผิดซึ่งพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนต้องแจกแจงให้ได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือจงใจละเมิดกฎหมาย หรือไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น


          ที่สำคัญคือหากว่าเจอพวกเมาแล้วขับไปชนคนตายในลักษณะ “เจตนาเล็งเห็นผล” ให้ตั้งข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” แต่ถ้าไม่ถึงตายก็ตั้งข้อหา “พยายามฆ่า” ตามที่เปิดประเด็นไว้ในตอนต้น


          ทั้งหมดนี้ พูดง่ายๆ ก็คือให้พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติกรรมความผิดของพวกเมาแล้วขับให้ละเอียด ระบุข้อหาให้ชัดนั่นเอง

 

          เหตุผลที่ต้องการให้พนักงานสอบสวนระบุข้อหาให้ชัดและละเอียดมากที่สุด ก็เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุขับรถชนคนตาย ส่วนมากก็จะเจอคำที่เราได้ยินบ่อยๆ คือ “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ซึ่งโทษสูงสุดที่กฎหมายกำหนด คือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี แต่เมื่อคนผิดยอมรับสารภาพ ศาลก็ต้องลดโทษให้กึ่งหนึ่งโดยอัตโนมัติ เหลือโทษจำคุก 5 ปี ก็จะเข้าเงื่อนไขรอลงอาญาได้ ไม่ติดคุกจริง ส่งผลให้คนใช้รถใช้ถนนไม่กลัวความผิด หรือคนที่เคยทำผิดก็ไม่เข็ด ไม่หลาบจำ


 

 

          แม้ที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขเพิ่มโทษพวก “เมาแล้วขับ” เป็นความผิดเฉพาะในพระราชบัญญัติจราจรทางบกในมาตรา 43 (2) ประกอบมาตรา 160 ตรี ให้มีโทษจำคุก 3-10 ปี แต่การกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำเอาไว้ทำให้ข้อหานี้ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกผู้กระทำผิดมีโอกาสรับโทษน้อยกว่าโดนข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ด้วยซ้ำไป


          ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงมีไอเดียให้ความผิดฐาน “เมาแล้วขับ” จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องบรรยายพฤติการณ์ว่า “ไม่ใช่ประมาท” แต่เป็น “เจตนาเล็งเห็นผล”


          ทว่าปัญหาก็คือ คำว่า “เจตนาเล็งเห็นผล” ต้องมีเจตนาทำให้ผู้อื่นตายเสียก่อนส่วนการขับรถขณะเมาเพื่อกลับบ้านหรือไปดื่มต่อจะพิสูจน์เจตนาผู้กระทำได้อย่างไรว่าเขา “เจตนาฆ่า” เพราะจริงๆ เขาไม่ได้มีเจตนาฆ่า แต่เขาประมาท ซึ่งหมายถึง “ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้พอสมควรแก่เหตุ”


          และนี่เองที่น่าจะเป็นเหตุผลของศาลจังหวัดตลิ่งชันที่ไม่รับฝากขัง “เสี่ยเบนซ์” ในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาในคดีขับรถพุ่งชนครอบครัวรองผู้กำกับกองปราบจนเสียชีวิต


          ข้อสังเกตเรื่องการพิสูจน์เจตนาที่แท้จริงนี้เองที่สอดคล้องกับความเห็นของ “ตำรวจนักปฏิรูป” พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการสอบสวนของตำรวจมาตลอด โดย พ.ต.อ.วิรุตม์ บอกกับ “ล่าความจริง” ว่า หากพนักงานสอบสวนดำเนินการตามนโยบายนี้ เท่ากับเป็นการ “แจ้งข้อหาเกินข้อเท็จจริง” เสี่ยงถูกดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญาหนักขึ้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 (ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม)


          พ.ต.อ.วิรุตม์ บอกอีกว่า ปัญหาสำคัญของอุบัติเหตุในประเทศไทยคือ เมื่อขับรถชนคนบาดเจ็บทั้งสาหัสไม่สาหัส หรือขับรถชนคนตาย จริงๆ แล้วมีโทษจำคุกทั้งสิ้น ถ้าตายก็โทษจำคุกถึง 10 ปี แต่ปัญหาคือถ้าผู้กระทำผิดมีเงินจ่ายผู้เสียหาย และจ่ายตำรวจจนพอใจ ก็จะล้มคดีได้ทั้งเจ็บทั้งตาย ไม่ต้องทำสำนวน หรือทำสำนวนแบบให้อัยการ “สั่งไม่ฟ้อง” ปัญหาที่แท้จริงจึงอยู่ตรงที่คดีอาญาในประเทศไทย “เคลียร์ได้” ไม่ใช่ปัญหาเรื่องโทษจำคุกน้อยเกินไป


          อีกด้านหนึ่ง “ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน” หรือ ศปถ. พยายามผลักดันให้เพิ่มบทลงโทษพวกเมาแล้วขับให้เทียบเท่าสากล คือเมาแล้วขับทำให้คนตาย อัตราโทษจำคุกต้องสูงถึง 15-20 ปี (เป็นอัตราโทษเท่ากับขั้นต่ำของความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน) และควรมีการกำหนดโทษขั้นต่ำให้จำคุกทุกกรณี ไม่ให้มีการรอลงอาญา หรือถ้าเป็นการกระทำผิดซ้ำ ต่อให้ไม่ได้ทำใครเจ็บหรือตายก็ต้องถูกกักขัง


          ที่สำคัญถ้าปฏิเสธการตรวจแอลกอฮอล์ หรือชนแล้วหนี ให้สันนิษฐานเลยว่าเมาแล้วขับ เพราะการตรวจแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่หลังเกิดเหตุทันทีเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากถ้าปล่อยไว้ทุกๆ 1 ชั่วโมง แอลกอฮอล์จะลดลง 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์


          ข้อเสนอของศปถ.ถือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ไม่ข้ามขั้นตอน และไม่ก่อปัญหาตามมา แตกต่างจากการชี้นำให้ตำรวจตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนากับพวก “เมาแล้วขับ” เพราะสุ่มเสี่ยงจะเป็นการตั้งข้อหาเกินข้อเท็จจริง ฉะนั้นทางที่ถูกคือไปแก้กฎหมายเพิ่มฐานความผิด “เมาแล้วขับ” ให้เป็นความผิดเฉพาะ และกำหนดอัตราโทษที่เหมาะสม เพื่อให้คนกลัวและหลาบจำจะดีกว่า

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ