ข่าว

วิเคราะห์จุดอ่อน...นโยบาย"ดับไฟใต้" ของพรรคการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ



 

          หลังเกิดเหตุการณ์สลดใจคนร้ายบุกยิงพระภิกษุสงฆ์ที่ จ.นราธิวาส ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า นโยบายดับไฟใต้ของแต่ละพรรคการเมืองคืออะไร การแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยทำไมยังมีความรุนแรงเป็นระยะๆ การทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 70 ปี แก้ไขอะไรได้บ้าง ? หากมีรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาทุกอย่างจะดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ?...

 

 

          ที่ผ่านมา ผู้นำทางศาสนาที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไม่ได้มีเฉพาะ “พระสงฆ์” เท่านั้น แต่ยังมีการสูญเสีย “โต๊ะอิหม่าม” ด้วย โดยมีจำนวนเกือบ 50 รายในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาแบ่งเป็นได้รับบาดเจ็บจำนวน 25 ราย และเสียชีวิตจำนวน 21 ราย


          แต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เรียกสั้นๆ ว่า “ไฟใต้” เหล่านี้ กลายเป็นเหมือนนโยบายละเอียดอ่อนหรือจุดอ่อนที่พรรคการเมืองซึ่งกำลังลงคะแนนหาเสียงกับคนใต้ไม่ค่อยอยากจะพูดถึงนัก ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะรู้ดีว่าการแสดงความเห็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

 

วิเคราะห์จุดอ่อน...นโยบาย"ดับไฟใต้" ของพรรคการเมือง

 


          วินาทีนี้หากติดตามวิสัยทัศน์นโยบายภาคใต้ของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคใหญ่ พรรคเล็ก จะเห็นว่าส่วนใหญ่หันไปเน้นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจแทน เพราะเชื่อกันว่า เมื่อเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองชาวบ้านมีเงินมีความเป็นอยู่ดีขึ้น การก่อเหตุร้ายรุนแรงในสังคมจะลดน้อยถอยลงไปตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์

เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ช่วงนี้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค เดินสายหาเสียงกับคนใต้ด้วยประโยคซ้ำๆ ว่า ปัญหาภาคใต้ แก้ได้ด้วยการเชื่อมต่อระบบเส้นทางคมนาคมทะเล 2 ฝั่ง และเชื่อมโยงการพัฒนาพื้นที่กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเกษตร พรรคประชาธิปัตย์เสนอนโยบายดับไฟใต้ด้วยการเมือง ไม่ใช้ยุทธวิธีแบบทหารเหมือนที่ผ่านมา และสนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่มีความเข้าใจดีต่อกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ส่วน นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค กล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนที่จะรีบแก้ไขสำหรับภาคใต้มี 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ปาล์ม ยาง ประมง ท่องเที่ยว และการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าจะแก้อย่างไร




          ส่วน พรรคพลังประชารัฐ ช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้วเดินสายเปิดตัวในภาคใต้ พบปะน้องนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเกือบ 1,000 คน โดยแสดงจุดยืนนโยบายภาคใต้ว่าจะเน้นสร้างงานมั่นคง พลิกห้องเรียนเปลี่ยนไทยทันโลก เนื่องจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีความสวยงามของทรัพยากรทางทะเลดึงดูดผู้คนเข้ามาช่วยกันพัฒนาพื้นที่ได้มาก พรรคตั้งใจจะพัฒนาเศรษฐกิจใต้ให้เติบโต 2 เท่าใน 4 ปีข้างหน้า เช่น โครงการไทยแลนด์ริเวียร่า โครงการด้ามขวาน 4.0 สร้างนวัตกรรมพืชเกษตร ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผักเหลียง ไม้หอม เฯลฯ

 

วิเคราะห์จุดอ่อน...นโยบาย"ดับไฟใต้" ของพรรคการเมือง

 


          พร้อมเชิญชวนสถาบันการศึกษาเข้ามาสนับสนุน “นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าทรัพยากรทางทะลที่สวยงาม” และร่วมกำหนดนโยบายพัฒนาด้วยตัวเอง มีการเสนอแนวคิดเลิกให้คนนอกพื้นที่เข้ามากำหนดนโยบาย เปลี่ยนเป็นเปิดพื้นที่เฟ้นหาคนรุ่นใหม่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนพื้นที่ภาคใต้เพราะหลายโครงการที่ประสบความสำเร็จได้เกิดจากโครงการที่คนในพื้นที่เป็นต้นคิด เช่น ธนาคารปู สวัสดิการชุมชน ปลูกป่าชายเลนชุมชน


          “พรรคเพื่อไทย” แม้ว่าฐานเสียงดั้งเดิมไม่ใช่ภาคใต้ แต่เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงความรู้สึกสะเทือนใจต่อเหตุการณ์บุกยิงพระสงฆ์ ถือเป็นเหตุการณ์มุ่งทำลายสันติสุขและสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ พร้อมให้คำมั่นว่าจะดูแลความปลอดภัยในชีวิตให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มที่ ส่วนวันเปิดตัวสาขาพรรคเพื่อไทยที่ภูเก็ต ได้ประกาศย้ำเพิ่มเติมว่า พรรคเพื่อไทยจะเร่งฟื้นฟูและหยุดวิกฤติเศรษฐกิจทุกระดับชั้น ตัวอย่างเช่น ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเข้ามาปีละกว่า 10 ล้านคน ต้องเร่งฟื้นฟูเรื่องความปลอดภัยต่อปี พร้อมสร้างระบบคมนาคมขนส่ง

 


          ด้าน “พรรคอนาคตใหม่” น้องใหม่มาแรง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคได้ลงพื้นที่กระบี่ พร้อมสัญญาว่าถ้าได้รับเลือกเป็นรัฐบาล จะคืนอำนาจสู่ท้องถิ่นให้บริหารจัดการชีวิตตัวเองมากกว่านี้ เน้นกระจายอำนาจ เช่น ให้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากนี้ยังเสนอให้ท้องถิ่นบริหารจัดการภาษีของตนเอง โดยใช้สัดส่วนภาษีส่วนกลางกับภูมิภาคฝ่ายละครึ่ง หรือ 50:50 เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจไปทั่วทุกภาคและทุกพื้นที่อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังจะเน้นพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ เอาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ และจะดึงเอางบประมาณยางพารา 3 หมื่นล้านบาทต่อปี มาบริหารจัดการใหม่ หรือสร้างโรงงานนมแพะที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยงบประมาณจาก ศอบต. จะสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยว เช่น เกาะสมุย เกาะพะงัน พัฒนาเส้นทางคมนาคมและอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ

 

 

วิเคราะห์จุดอ่อน...นโยบาย"ดับไฟใต้" ของพรรคการเมือง

 


          ด้านพรรคเล็กน้องใหม่อย่าง พรรคประชาชาติ ที่ได้หัวหน้าพรรคระดับ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” และเลขาธิการพรรค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตผู้นำศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้หลายฝ่ายลุ้นว่านโยบายของพรรคนี้ที่คุ้นเคยกับพื้นที่เป็นอย่างดี จะมีแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ หรือไม่
ปรากฏว่าพรรคประชาชาติประกาศยึดมั่นแนวทางการส่งเสริม สังคมแบบพหุวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เน้นอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในทุกศาสนาและทุกชนชั้น โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนภาคใต้ อยากให้ชุมชนหรือประชาชนไม่ว่าจะศาสนาใดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากเดิม จากเหตุการณ์ความรุนแรงทำให้ครอบครัวได้รับความสูญเสีย เด็กกำพร้าหรือสตรีม่าย เสนอให้เอางบประมาณความมั่นคงมาให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสิน เพราะเรื่องสำคัญที่สุดของประชาชนคือความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมเสนอว่าพรรคจะเน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบเสรี ไม่ผูกขาด เน้นระบบรัฐสวัสดิการและแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นให้หมดไป สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้ประชาชนในพื้นที่ ขึ้นทะเบียนยางพารา

 

 

วิเคราะห์จุดอ่อน...นโยบาย"ดับไฟใต้" ของพรรคการเมือง

 


          “พลังท้องถิ่นไท” แม้เป็นพรรคเล็กแต่เสนอนโยบายภาคใต้ที่แตกต่างอย่างน่าสนใจ โดยวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา “ธีรศักดิ์ พานิชวิทย์” เลขาธิการพรรค เปิดตัวผู้สมัคร ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ครบ 50 เขต พร้อมแสดงวิสัยทัศน์และแถลงนโยบายสร้างรากแก้วให้ภาคใต้เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ชูแก้ปัญหาราคายางพารา ปาล์มน้ำมันตกต่ำ ด้วยการประกันราคาสินค้าการเกษตร พร้อมพัฒนาจังหวัดสตูลให้เป็นเมืองปลอดภาษี ส่วน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จัดเป็นเมืองรองรับระบบอาหารฮาลาล และจัดตั้งศูนย์การแพทย์มุสลิม เพื่อขยายฐานการแพทย์สู่อาเซียนเชื่อมมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่มีชาวมุสลิมมากกว่า 300 ล้านคน และยกระดับ 5 อำเภอในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ เกาะสมุย ทุ่งสง สะเดา เบตง และหาดใหญ่ ให้เป็นเขตท้องถิ่นรูปแบบพิเศษระดับอำเภอ

 

          นโยบายสวยหรูของพรรคการเมืองต่างๆ ข้างต้น ฟังหาเสียงแล้วคงทำให้ชาวบ้านทั่วไปเกิดความเคลิบเคลิ้มได้พอสมควร แต่สำหรับผู้ที่เป็นแกนนำสำคัญในการแก้ไขปัญหา “ไฟใต้” นั้น กลับไม่ได้ให้ความสนใจกับนโยบายข้างต้นมากนัก

 

 

วิเคราะห์จุดอ่อน...นโยบาย"ดับไฟใต้" ของพรรคการเมือง

 


          “อับดุลอาซิส เจ๊ะมามะ” รองประธานกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงการหาเสียงเลือกตั้งว่า ช่วงนี้พรรคการเมืองลงพื้นที่ภาคใต้มาพบปะหาเสียงกับประชาชนจำนวนหลายพรรค ส่วนตัวแล้วยังไม่เห็นนโยบายที่มีความชัดเจนในเรื่องสำคัญที่กำลังเป็นปัญหา เช่น เรื่องศาสนา เรื่องการศึกษาและการว่างงาน

 

          “นโยบายสำคัญที่อยากเห็นคือ 1.สนับสนุนให้ชาวบ้านเคารพนับถือในหลักศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ ทำอย่างไรให้มีจุดหลักยึดมั่นในชีวิต เพราะทุกศาสนามีคำสอนให้เป็นคนดีไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น พอไม่ยึดหลักศาสนาก็เกิดปัญหาความรุนแรงต่างๆ และ 2.อยากให้เน้นเรื่องการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้มากกว่านี้ เป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ไม่ใช่พูดหาเสียงแต่เรื่องพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ หรือนักท่องเที่ยว ราคายางพารา หรือพวกเศรษฐกิจต่างๆ”

 

          ผู้นำศาสนาอิสลามกล่าวต่อว่า การส่งเสริมให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยหยุดยั้งปัญหาความรุนแรงต่างๆ คำว่าอยู่ดีกินดีคือชาวบ้านทุกคนเรียนจบแล้วมีงานที่มั่นคงทำ มีรายได้ที่แน่นอน ไม่ใช่ไปส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือเศรษฐกิจในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับชาวบ้านในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้มากนัก ที่ผ่านเกือบ 30 ปี พรรคการเมืองมาหาเสียงมีแต่สัญญาว่าจะทำนั่นทำนี่ แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลง

 

วิเคราะห์จุดอ่อน...นโยบาย"ดับไฟใต้" ของพรรคการเมือง

 

          ขณะที่ “ตัวแทนเครือข่ายด้านประชาสังคม” ผู้ทำงานอาสาสมัครคลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายปี วิเคราะห์ให้ฟังว่า การหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ มีความแตกต่างจากครั้งอื่นๆ เนื่องจากมีบางพรรคเสนอว่า หากได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลหรือเป็น ส.ส. จะสนับสนุนให้บางพื้นที่ในภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ หรือมีอำนาจในการปกครองตัวเอง ไม่ต้องขึ้นตรงกับส่วนกลางทุกอย่างเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ชายแดนภาคใต้รู้สึกคึกคักพอสมควรกับการเลือกตั้งที่จะมาถึง

          “สำหรับพวกเราที่ทำงานในพื้นที่กับเด็กและผู้หญิงรู้สึกว่านโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ยังไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก เน้นพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กับปัญหาราคายางพารา แต่สิ่งที่ชาวบ้านอยากได้แท้จริงคือความยุติธรรม หรือกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมกันทุกคน เช่น การประกันตัวผู้ต้องสงสัย การได้รับความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน ทุกวันนี้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีการทุบตีทำร้ายภรรยาหรือลูก การบังคับให้เด็กหญิงแต่งงานก่อนวัยอันสมควร พรรคการเมืองต้องช่วยกันคิดแก้ปัญหานี้ด้วย”

          ข้อวิเคราะห์ 2 มุมมองข้างต้นจากผู้ที่มีส่วนร่วมสำคัญแท้จริงในกระบวนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ทำให้เห็นจุดอ่อนนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในช่วงนี้ว่า ยังไม่ได้ตกผลึกเข้าใจถ่องแท้ถึง นโยบาย “ดับไฟใต้” 


          “มีการศึกษา มีงานทำ” กับ “ความเท่าเทียมของหญิงชาย” คือ 2 นโยบายที่เฝ้ารอของชาวใต้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีพรรคการเมืองที่เข้าใจและจริงใจอย่างแท้จริง ก่อนถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง !
 

 

          "หุ้นส่วนพัฒนา โลกเปลี่ยนด้วยมือเรา"
          เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอประเด็นปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อพรรคการเมือง สรุปได้ 12 ข้อ ดังนี้
          1.ดูแลเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
          2.เพิ่มวงเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
          3.ให้ประชาชนยากจนเข้าถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างแท้จริง
          4.นโยบายเงินกู้ กยศ. กู้เรียนฟรี ปรับลดดอกเบี้ย และค่าปรับ
          5.ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มมูลค่ายางพารา
          6.มีกระบวนการรองรับคนทำงานจิตอาสา
          7.ส่งเสริมอาชีพเสริมสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่
          8.นโยบายแก้ปัญหายาเสพติด
          9.นโยบายด้านสาธารณสุข ใส่ใจการรักษาพยาบาลคนเจ็บป่วย
          10.ส่งเสริมการเกษตรปลอดสารพิษ ยกเลิกใช้สารเคมีเกษตร
          11.ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตในสตรี
          12.ส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในทางการเมือง การปกครองและทุกพื้นที่ของสังคม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ